สนธิสัญญาฉบับใหม่ให้เด็กสามารถร้องเรียนไปยังสหประชาชาติได้โดยตรงเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เด็กในประเทศไทยที่ถูกละเมิดสิทธิจะสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้โดยตรง เนื่องจากพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ จะมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 14 เมษายนนี้

พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน หรือ Optional Protocol to the Convention of the Rights of the Child on a Communication Procedure” (OP3 CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อเดือนกันยายน 2555 อนุญาตให้เด็ก กลุ่มเด็ก หรือตัวแทนของเด็กสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้โดยตรงในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ และไม่สามารถใช้กระบวนการที่มีอยู่ในประเทศในการได้รับความยุติธรรม

เมื่อคณะกรรมสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติลงความเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิเด็กเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการฯ จะให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเพื่อจัดการและเยียวยากรณีนั้นๆ

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ the Convention on the Rights of the Child (CRC) ได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติในปี 2532 และเป็นสนธิสัญญาที่มีประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันมากที่สุดในโลก

โดยอนุสัญญาฯ ได้ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนในโลกและหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี 2535 และเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบัน

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มักจะมีพิธีสารเลือกรับแยกออกมาเพื่อจัดการกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยพิธีสารเลือกรับก็ถือเป็นสนธิสัญญาฉบับหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาหลักสามารถลงนามและให้สัตยาบันด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกและเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับฯ เรื่อง กระบวนการติดต่อร้องเรียน และจนถึงเดือนมีนาคม 2557 มีอีก 9 ประเทศที่ให้สัตยาบัน ได้แก่ อัลบาเนีย โบลิเวีย คอสตา ริก้า กาบอง เยอรมัน มอนโตนิโกร โปรตุเกส สโลวาเกีย และสเปน “ยูนิเซฟขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่ได้ให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับฯ ฉบับนี้ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และยังเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สัตยาบันอีกด้วย” นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “เรื่องนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญและน่าชื่นชมมากของประเทศไทยซึ่งได้แสดงความเป็นผู้นำในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็ก ยูนิ-เซฟจะทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีสารเลือกรับฯ ฉบับนี้”

นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพัฒนากลไกในการรับเรื่องราวร้องเรียนจากสำหรับคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติภายใต้พิธีสารเลือกรับฯ ฉบับนี้ ในขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงระบบคุ้มครองเด็ก ตลอดกระบวนการร้องเรียนและกระบวนการเยียวยาภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

“พิธีสารเลือกรับฯ เรื่อง กระบวนการติดต่อร้องเรียน เป็นการประกันว่า ประเทศไทยยืนยันที่จะเคารพและคุ้มครองสิทธิ อย่างเต็มที่” นางระรินทิพย์กล่าว “เรื่องนี้ถือเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนร้องเรียนและกระบวนการเยียวยาภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังต้องส่งเสริมให้เด็กๆ ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่“

นอกจากพิธีสารเลือกรับฯ ฉบับนี้แล้ว ประเทศไทยยังได้ให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีก 2 ฉบับในปี 2549 คือ พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก และพิธีสารเลือกรับฯ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งด้วยอาวุธ

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ณัฐฐา กีนะพันธ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โทร 02 356 9478 หรือ 086 616 7555 หรือ nkeenapan@unicef.org
เธียรทอง ประสานพานิช สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร 089 888 3923 หรือ thailand.crc@gmail.com

ที่มา : องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง