สร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.ทางพูน (1)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อพูดถึง จ.นครศรีธรรมราช เราจะนึกถึงอะไรคะ?
นึกถึงวัดพระธาตุนครฯ หรือ วัดตาไข่ (วัดไอ้ไข่) ใช่มั้ย

วันนี้แอดมินจะพาไปเที่ยว จ.นครศรีธรรมราชในพื้นที่ที่ไม่เป็นที่รู้จัก จะบอกว่าเป็นที่ลับก็ว่าได้…พื้นที่ลับที่อยากจะเผยตัว

พื้นที่ลับก็คือ ต.ทางพูน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช
เป็นอำเภอที่ไม่คุ้นเคยใช่มั้ยคะ ทั้งๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 25 กิโลเมตร
แต่มีความพิเศษมาก …นี่แหละค่ะที่อยากเล่าให้ฟัง

ชุมชน ต.ทางพูนเป็นชุมชนที่ขยายมาจากชุมชนเมือง มีการตั้งรกรากเมื่อไม่นานมานี้

ที่นี่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  (รพ.สต.) 2 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านสระเพลง และ รพ.สต.บ้านโคกคราม

ที่ ต.ทางพูน มีพื้นที่เป็นเนินทราย (Sand Dune) และป่าพรุ ทำให้มีพืชท้องถิ่นที่มีความจำเพาะ เช่น ต้นหมากหมก ต้นตะเคียน ต้นเสม็ดขาว

พื้นที่เนินทรายดังกล่าว ในอดีตเป็นเส้นทางเดินของกลุ่มคนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ประสงค์จะเดินทางเพื่อไปสักการะพระธาตุเมืองนคร หลักฐานที่สำคัญที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของความศรัทธา ศาสนาและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ เช่น หลักฐานศาลาและบ่อน้ำ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระสงค์และชาวบ้าน เพื่อเป็นแหล่งพักพิงให้กับนักแสวงบุญในอดีต และเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เล่าถึงความร่วมมือร่วมใจในการสร้างสะพานไม้ข้ามคลองโดยใช้ไม้ตะเคียน (สะท้อนถึงแหล่งไม้ตะเคียนที่สำคัญ และยังคงเห็นร่องรอยของความอุดมสมบูรณ์ได้จนถึงปัจจุบัน)

ชุมชน ต.ทางพูน เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการพูดคุยหรือถอดบทเรียนในเรื่องภูมิปัญญาด้านสุขภาพมาก่อน
ทางแอดมินและคณะทำงานในพื้นที่ได้จัดเวทีพูดคุย เพื่อร่วมทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนที่จะมีการระดมความคิด หรือวางแผนงานโครงการในพื้นที่

จากการคุย พบว่า…ชุมชน ต.ทางพูนมีความหลากหลายของกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการเกษียณ เช่น ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปราชญ์ชุมชน   ทำให้เกิดต้นทุนทางภูมิปัญญาที่หลากหลาย มีการผสมผสานและใช้ประโยชน์ ส่งต่อกันในชุมชุมชน

เนื่องจากชุมชนทางพูนเป็นพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลจากเมืองนครมากนัก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมในยุคหลังทำให้การเดินทางเพื่อเข้าไปหาหมอหลวงทำได้ง่ายขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บทบาทของหมอพื้นบ้านและภูมิปัญญาในพื้นที่มีน้อยลงมาก ปัจจุบันจึงมองเห็นร่องรอยของการจัดการสุขภาพด้วยภูมิปัญญาอยู่น้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี

จากการทำงานที่ผ่านมา 10 เดือน พบว่ายังคงมีภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพหลงเหลืออยู่อีกมากมายโดยเฉพาะในตัวของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น ภูมิปัญญาการทำอาหาร  การถนอมอาหาร วัฒนธรรมการดูแลแม่และเด็ก หรือแม้แต่เรื่องเล่าจากอดีตก็ตาม

 

 

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #สร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลทางพูน

#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.