สามร้อยยอด สุดยอดที่คุณไม่เคยรู้ ?

เอ่ยชื่อ สามร้อยยอด คนทั่วไปต้องนึกถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เพิ่งมีใครคนหนึ่งไปทำกิจกรรมล้อเลียนไม่งามนัก จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อเร็ว ๆ นี้ กล่าวถึงพื้นที่เขาสามร้อยยอดนั้นเป็นภูมินิเวศที่มีความหลากหลายทั้งป่า เขา และมีบึงขนาดใหญ่ทีจัดว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของชาติเลยทีเดียว คำว่าเขาสามร้อยยอด หากไปดูข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ ก็พบว่าชื่อน่าจะมาจากภูมิประเทศมีภูเขาจำนวนมากถึง 300 ยอด และตำนานเล่าว่า แถบนี้เคยเป็นทะเลมีหมู่เกาะน้อยใหญ่ เคยมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมาประสบลมพายุรุนแรงจนเรือชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายจำนวนมากที่เหลือรอดตายขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 300 คน จึงตั้งชื่อว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาน้ำทะเลลดลงเกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เขาสามร้อยยอด” นั่นเอง

แต่ที่ผู้คนมักไม่ค่อยได้กล่าวถึง คือ ชื่ออุทยานแห่งนี้ก็มาจากชื่อพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ขึ้นบริเวณนี้มากด้วย คือ ต้นสามร้อยยอด ซึ่งจัดเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มสน เดิมนักวิทยาศาสตร์เคยจัดให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm. แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm. มีชื่อท้องถิ่นว่า กูดขน (ภาคเหนือ) สามร้อยยอด (นครศรีธรรมราช) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Staghorn clubmoss สามร้อยยอดเป็นพืชไร้ดอกขนาดเล็ก ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นทอดเลื้อยสีเขียวอ่อนอมเหลือง ขนาดผ่าศูนย์กลาง 3-4 มม. แตกสาขาแบบหนึ่งแตกสอง ใบมีขนาดเล็กแคบ กว้าง 1 มม. ยาว 4-6 มม. เรียงเวียนรอบต้นค่อนข้างแน่น ขอบใบเรียบ เส้นใบไม่เด่นชัด เนื้อใบคล้ายแผ่นหนัง ไม่มีก้านใบ อวัยวะสืบพันธ์เป็นโคนรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มม. ยาว 3-5 ซม. มีก้านชูขึ้นจากลำต้น ยาว 7-15 ซม. สปอร์โรฟิลด์รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม เรียงซ้อนกันแน่นขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์ ในประเทศไทยพบต้นสามร้อยยอดบริเวณพื้นที่เปิดและชื้น บนเขาสูง จึงพบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ และยังพบการกระจายพันธุ์ทั่วโลกด้วย ถือเป็นไม้เบิกนำในพื้นที่ลาดชันและที่โล่งชื้นตามเขาสูง

การใช้ประโยชน์ ในต่างประเทศนิยมใช้มากกว่าบ้านเรา โดยใช้ทั้งต้นเป็นส่วนผสมในการผลิตดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ยังนำมาจัดช่อดอกไม้ซึ่งมักจะกำรวมกับดอกไม้สด นับเป็นพืชที่ต้องการในตลาดยุโรปเลยทีเดียว ยัง สามารถทำเป็นต้นแห้งและย้อมสีได้ตามที่ต้องการเพื่อนำไปจัดรวมกับดอกไม้แห้ง

ในการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมีการนำมาเป็นยาหลายอย่าง เช่น ในจีนใช้รักษาโรคเก๊าท์ หรือใช้ทั้งต้นนำมาต้มน้ำอาบรักษาอาการมือเท้าชา หรือใช้ต้มน้ำร่วมกับใบช่านโฟว(ว่านน้ำเล็ก) และสมุนไพรอีกหลายชนิดเพื่อให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟนำไปอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชีย มีการนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านหลายรูปแบบ นำมาใช้แก้ไอ แก้หืดหอบ เป็นต้น

จากการวิจัยพบว่าต้นสามร้อยยอดมีแลคาลอยด์ เช่น cernuine และ lycocernuine เป็นองค์ประกอบ ในส่วนประกอบที่เป็นกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น flavonoids apigenin and apigenin-7-glucoside และส่วนที่เป็น ไตรเตอพีนส์ เช่น triterpene serratenediol และพบว่ามีอะลูมิเนี่ยมเป็นองค์ประกอบสูงมาก (12.5% ของเถ้า)

จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากต้นสามร้อยยอด เมื่อนำไปผสมกับยาจีนแผนโบราณจะช่วยในการรักษาโรคปอดที่เกิดจากฝุ่น (silicosis) นอกจากรักษาแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดได้ด้วย ทั้งต้นเมื่อนำมาต้มดื่มจะช่วยในการขับปัสสาวะและเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยรักษาแผลในกระเพาะ ไขข้ออักเสบ ตับอักเสบและอาการท้องร่วง นอกจากนี้ยังช่วยรักษาโรคปวดประสาทตามใบหน้า (neuralgia) และช่วยลดความดันโลหิต

สำหรับการใช้เป็นยาภายนอก ทั้งต้นนำมาตำพอกแผล ทั้งต้นนำมาต้มใช้เป็นยาทาแก้เหน็บชา ใช้เป็นยาทาแก้เคล็ด บวม ผิวหนังถลอก ช้ำ ฝีหนอง แผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ในกรณีที่จะใช้ทาแก้อาการเคล็ดบวม ให้เอาทั้งต้นมาเผา แล้วเอาเถ้าที่ได้มาผสมกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่ต้องการ

นอกจากนี้ ในอาฟริกา เช่น ประเทศราวันดา ก็ใช้ต้นสามร้อยยอดทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็นแผล ในคองโกใช้กำจัดเห็บ ในมาดากัสก้าใช้ทั้งต้นต้มรวมกับTristemma mauritianum J.F. Gmel. (ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มต้นโคลงเคลง แต่พืชชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย) เพื่อควบคุมความดันโลหิตและฟื้นฟูระบบประสาท นอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นทำเป็นชาชงแก้โรคกระเพาะ ในอเมริกาใต้ก็มีการนำต้นสามร้อยยอดมาใช้เป็นยาพื้นบ้านเช่นกัน โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเก๊าท์ พอกบริเวณที่บวมอักเสบเนื่องมาจากโรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโกโนเรีย รักษาอาการตกขาวและท้องร่วง ในประเทศไมโครนีเซีย (Micronesia:เป็นเกาะเล็กอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับปาปัวนิวกินี) ใช้เป็นยากำจัดแมลงสาบ และใช้แทนนุ่นในการยัดใส่สิ่งของต่าง ๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียและโคลัมเบีย ส่วนที่สาธารณรัฐกาบอง (Gabon) ประเทศในทวีปแอฟริกา นำต้นสามร้อยยอดใช้เป็นวัสดุกรองไวน์

สามร้อยยอดยังใช้เป็นไม้ประดับทั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังใช้ทำพวงหรีด เป็นไม้ตกแต่งในตะกร้าหรือแจกันหรือตกแต่งบ้านเรือน และที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็ตรงที่ในโรงละครวิคตอเรีย (Victorian theater) จะใช้ผงแห้งของต้นสามร้อยยอดประกอบการแสดง เนื่องจากผงแห้งประกอบด้วยสปอร์มากมายที่ก่อให้เกิดเปลวไฟได้ (flame-effects) สปอร์ของต้นสามร้อยยอดจะเผาไหม้อย่างรวดเร็วซึ่งให้แสงสว่าง ในการแสดงละคร แต่มีความร้อนน้อยและการใช้เอฟเฟคแบบนี้เป็นที่ยอมรับและมีการรับรองความปลอดภัย

ต้นสามร้อยยอดเป็นไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ในบ้านเรากลับรู้จักกันน้อยมาก มาช่วยกันศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนการนำมาใช้ประโยชน์ดีไหม ?

บทความที่เกี่ยวข้อง