สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรุงเทพฯ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดแถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 ผ่านการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง จำนวน 138 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เปิดเผยว่า ผักที่พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ได้แก่ พริกจินดาแดง ซึ่งเป็นพริกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในตลาด พบสารตกค้างสูงถึง 100% ของตัวอย่าง ขณะที่กะเพราและถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศ และแตงกวา 11.1% มะเขือเปราะพบสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่า MRL 66.7% แต่กะหล่ำปลีไม่พบสารพิษตกค้างเลย 100%

ขณะที่การสุ่มตรวจผลไม้รวม 6 ชนิด พบว่า ส้มสายน้ำผึ้ง และฝรั่ง ทุกตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานทุกตัวอย่างหรือคิดเป็น 100% ที่มีการสุ่มตรวจ รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%, 66.7% และ 44.4% ตามลำดับ
ทั้งนี้นางสาวปรกชล กล่าวว่า มีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ โดยข้อมูลที่น่าตระหนกมากไปกว่านั้นคือ การพบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า จำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ ซึ่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่ากลับไม่ได้มีความปลอดภัยมากกว่าตลาดสดโดยทั่วไป เพราะมีจำนวนตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46% ในขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อยที่ 48%
ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า การสำรวจในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นการตรวจพบสารเคมี 20 ชนิดทั้งที่เกินและไม่เกินมาตรฐาน ขณะที่ในปี 2559 นี้ ได้มีการขยายการตรวจมากขึ้น พบว่า มีสารเคมีตกค้างในผักมากถึง 66 โดยเฉพาะในพริกที่สำรวจพบว่ามีสารเคมีตกค้างมากถึง 23 ชนิด

ขณะที่ส้มสายน้ำผึ้งมีสารเคมีตกค้างสูงถึง 40 ชนิด ทั้งยังมีการใช้สารเคมีอันตรายประเภทประกอบยากันยุงตกค้างในผักคะน้า มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวม 11 ชนิด ตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด และมีผู้ประกอบการผักและผลไม้รายใหญ่ที่จัดส่งสินค้าไปยังโมเดิร์นเทรดกระทำความผิดซ้ำซาก ในการจำหน่ายผักและผลไม้ไม่ปลอดภัย และยังไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว

นางสาวกิ่งกร กล่าวด้วยว่า การที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งตามความเข้าใจ ควรปลอดภัยมากที่สุด แต่กลับพบว่า มีปริมาณของสารเคมีตกค้างไม่ต่างจากผักโดยทั่วไปในท้องตลาด ถ้าสภาพปัญหายังพบการตกค้างเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะขาดความเชื่อถือในตรารับรองดังกล่าว รวมถึงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

ที่มา : ข่าวและภาพ http://www.isranews.org สำนักข่าวอิศรา

บทความที่เกี่ยวข้อง