หมอกระดูก (2) : กระบวนการบำบัดรักษา

วันนี้แอดมินชวนคุยกันต่อ

ไปรู้จัก “หมอกระดูก” และกระบวนการบำบัดรักษา

ถ้าเราแขนหัก ไปโรงพยาบาลจะเอ็กซ์เรย์แล้วใส่เฝือก

แต่สำหรับหมอสุพันธุ์ หมอกระดูกมีภูมิปัญญาในการบำบัดรักษาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

โดยการเข้าเฝือกไม้ไผ่ ที่เรียกว่า “แซก” ใช้นำมันงาเป่าและบริกรรมคาถา สามารถรักษาตั้งแต่อาการมีดบาดนิ้วมือ กระดูกเคลื่อนและหัก แต่ไม่โผล่ออกมานอกผิวหนัง

 

พอบอกว่ามีการ “บริกรรมคาถา” หลายคนมักจะคิดว่า “หลอกลวงรึเปล่า?”

เรื่องแบบนี้แอดมินก็บอกไม่ได้ว่า เป็นกระบวนการหลอกลวงหรือไม่

ที่บอกได้แน่ๆ คือ คนที่ไปรักษากับหมอสุพันธุ์อาการดีขึ้นและหายเป็นปกติทุกราย

 

อุปกรณ์ที่สำคัญที่ต้องเตรียม คือ …

 

ทำเฝือกไม้ไผ่ด้วยมือหรือแซก โดยการเหลาไม้ไผ่เป็นแท่งกลมๆ ขนาดเท่าปากกา และยาวเท่ากับอวัยวะที่บาดเจ็บ แล้วนำมาร้อยด้วยเชือกฝ้ายเป็นแผ่น ให้มีขนาดพอดีพันรอบอวัยวะที่จะรักษา ซึ่งจะมีช่องอากาศเล็กน้อยเป็นซี่ๆ ให้มีอากาศไหลเวียน และใช้ผ้าพันเพื่อมัดให้ยึดติดกับอวัยวะส่วนที่รักษา เช่น นิ้ว แขน หรือขา

 

ทำน้ำมันงา เรียกว่า การหมั่นน้ำมันงา หมอสุพันธุ์ใช้งาดำมากกว่างาขาว เพราะงาดำใช้ได้ผลดีกว่างาขาว

 

ทำฆ้อนสำลี หรือล้อมฝ้าย จะให้คนป่วยหรือญาตินำดอกฝ้ายมาแล้วเอาเมล็ดออกหรือดีดเนื้อฝ้ายออก เหลือแต่สำลีพันเป็นก้อนกลมๆ กับไม้ เป็นวัสดุทำหน้าที่เคาะคล้ายฆ้อน

 

กระบวนการรักษาเริ่มจากการตั้งคายหรือไหว้ครูของผู้ป่วย และบอกกล่าวผีบ้านผีเรือน

หมอสุพันธุ์เริ่มตรวจโดยการสัมผัสบริเวณที่บาดเจ็บ และสังเกตอาการ หากมีกระดูกหักจะทาน้ำมันงาและใส่เฝือก

การทาน้ำมันงาจะท่องคาถากำกับไปด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มพลังการรักษา

หลังจากนั้นหมอสุพันธุ์จะไปติดตามดูอาการบ่อยๆ จนกว่าอาการป่วยจะดีขึ้น

 

แอดมินยังไม่เคยมีประสบการกระดูกแตกหรือหัก  แต่เพื่อนเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ ซนมากปีนป่ายตามประสาเด็ก วิ่งเล่นชนกับพี่ชาย ทำให้แขนหัก แม่พาไปหา “หมอบ้าน” ชาวบ้านมักจะเรียก หมอพื้นบ้าน ว่า “หมอบ้าน”

เพื่อนบอกว่า หมอเอาน้ำมันมาทา แล้วพันผ้าไว้ แม่พาไปหาหมอบ้าน 4 – 5 ครั้งก็ดีขึ้น ไม่เจ็บแขนแล้ว

ตอนนั้นยังเด็กจำรายละเอียดไม่ค่อยได้  แต่จำได้แม่นว่า ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และคนแถวบ้านก็ไปรักษากับหมอบ้านกันทั้งนั้น

 

พี่กุ้ง เพื่อนรุ่นพี่ที่แอดมินรู้จัก อยู่จังหวัดกระบี่ มีอาการหัวเข่าเคล็ด เกิดจากลื่นล้ม เดินไม่สะดวก เจ็บหัวเข่า จะไปกรีดยางตอนเช้าก็เดินไม่ได้ …ไปหาหมอพื้นบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน

แอดมินถามพี่กุ้งว่า ทำไมไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล

พี่กุ้งบอกว่า โรงพยาบาลอยู่ไกล และยังต้องรอนานมาก  แต่ไปหาหมอบ้าน โทรศัพท์นัด ถ้าหมอว่าง ก็ไปหาที่บ้านได้เลย ไปหาครั้งเดียวยังไม่หาย ต้องไปหา 2-3 ครั้ง

อย่างที่บอกไปว่า หมอพื้นบ้านจะเรียกร้องค่ารักษาไม่ได้ แต่อาจจะมีของสำหรับไหว้ครู

เวลาไปหาหมอบ้าน พี่กุ้งจะเตรียมหมากพลู 5 คำกับเงิน 9 บาท และปลาเค็ม 1 ตัว ไปด้วย…นี่คือของสำหรับไหว้ครูในการรักษา

ซึ่งของไหว้ครูของหมอพื้นบ้านแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน

 

ลองมองย้อนกลับไป เราจะพบว่าในทุกๆ ชุมชนมีหมอพื้นบ้านอยู่คู่กับชุมชนมาเนิ่นนาน หมอพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราไม่ได้มองว่าหมอเป็นคนภายนอกชุมชน

เวลาเจ็บป่วยไม่สบายสารพัดอย่างจะไปหาหมอพื้นบ้านตลอด

 

ครั้งหน้า…จะพาไปคุยกับผู้ป่วยที่เคยรักษากับหมอสุพันธุ์ว่าผลของการรักษาเป็นอย่างไร

ทำไมถึงเลือกมารักษากับหมอสุพันธุ์ ทั้งๆ ที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้ว!

 

พลาดไม่ได้นะคะ