หมู เห็ด เป็ด ไก่

คิดถึงอาหารจีนหรือไม่ เมื่อกล่าวถึง หมู เห็ด เป็ด ไก่ ซึ่งชาวจีนมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งในการเลี้ยงต้อนรับแขก ต้องมีอาหารที่ปรุงหรือประกอบด้วย หมู เห็ด เป็ด ไก่ ให้ครบทั้ง 4 อย่างจึงจะเป็นเมนูชั้นยอด เข้าทำนองคำกล่าวด้วยว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ในงานเลี้ยงรับรอง
แต่ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ในวันนี้ไม่ใช่อาหารอุดมด้วยโปรตีน แต่เป็นปริศนาคำทายของตำรับยาสมุนไพรไทย คล้ายกับปริศนาตำรับยาอายุวัฒนะของคนอีสานที่หลายท่านเคยได้ยินบ่อย ๆ คือ บินกลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ในวันนี้ขอเสนอปริศนาคำทายของ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ดังนี้

หมู คือ หัวหญ้าแห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. หมอยาพื้นบ้านได้นำเอาหัวแห้วหมูมาใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายรูปแบบ เช่น หัวมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้ขับลม ส่วนสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นยารักษาไข้เลือดออกเบื้องต้น ใช้ขับพิษไข้ให้อาเจียนออกจนหมด โดยตำให้ละเอียดผสมเหล้าขาว 35 หรือ 40 ดีกรี 1 ขวด แช่ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาเฉพาะเหล้าดื่ม 1 แก้ว หากไข้ยังสูงอยู่ดื่มได้อีก 1 แก้ว แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจริง ๆ จากไข้สูงควรไปพบแพทย์

หัวหญ้าแห้วหมู ยังใช้ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดียหลายขนาน เช่น แก้ไข้ แก้ความผิดปกติในทางเดินอาหาร ชาวอาหรับในบริเวณเลอวานต์นำหัวไปอบให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่บวม ส่วนตำรายาจีนเรียกเซียวฟู่ (ภาษาจีนกลาง) หรือเฮียวหู้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) รากใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ แม้ว่าหัวจะมีรสขมแต่ก็มีคุณค่าทางอาหาร ในทวีปแอฟริกาใช้เป็นอาหารเวลาขาดแคลน และเป็นอาหารนกในเวลาอพยพ ในอดีตหญ้าแห้วหมูจัดว่าเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยาก แต่ในปัจจุบันพื้นที่ธรรมชาติถูกทำลายไปมาก อีกทั้งหัวแห้วหมูได้รับสารพิษจากยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก ดังนั้นคุณภาพของวัตถุดิบจึงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ทั้ง ๆที่เป็นตัวยาที่สำคัญของวงการสมุนไพรเลย

เห็ด คือ ใบชุมเห็ดเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna alata (L.) Roxb. บางชุมชนเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าต้นขี้กลาก เนื่องจากนำมาใช้ในการรักษากลากเกลื้นได้เป็นอย่างดี ตำรายาไทย ใช้ ใบเป็นยาถ่าย (ใช้ใบสดหรือแห้งจำนวน 12 ใบ ต้มน้ำดื่ม) ใช้ภายนอกรักษากลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนังอื่นๆ ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด (ใบสด 1 กำมือ หรือประมาณ 20 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม) ใบสด ใช้รักษากลากเกลื้อน (ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆและบ่อยครั้ง) ตำพอก เร่งหัวฝี ใบและดอก ทำยาต้มรับประทาน เป็นยาระบายแก้ท้องผูก (ใช้ดอกสด 3 ช่อ ลวกรับประทาน) ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ และแก้หืด เมล็ด มีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อยใช้ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ท้องขึ้น แก้นอนไม่หลับ ฝัก มีรสเอียนเบื่อ แก้พยาธิ เป็นยาระบาย ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ต้นและราก แก้กระษัยเส้น แก้ท้องผูก บำรุงหัวใจ
เป็ด คือ รากของต้นตีนเป็ดหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ พญาสัตบรรณ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า

Alstonia scholaris (L.) R. Br. ในตำรายาไทยใช้เปลือกต้น แก้ไข้มาเลเรีย ขับน้ำนม ช่วยขับพยาธิไส้เดือน ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยขับระดูของสตรี ใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน รากเป็นยาขับลมในลำไส้ ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ เมล็ดเป็นพิษ ดอกช่วยแก้โลหิตพิการ ยางใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็วในช่วงประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมาจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับโดยเฉพาะตามบ้านจัดสรร ตามภูมิปัญญาอีสานจัดว่าเป็นไม้คลำหรือไม้ต้องห้ามชนิดหนึ่งที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน เนื่องจากบางท่านไม่ถูกกับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ออกมาจากดอก จะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือถ้าได้กลิ่นเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ ชื่อว่าต้นตีนเป็ดเนื่องมาจากลักษณะของใบที่คล้ายกับตีนเป็ด แต่คำว่าพญาสัตบรรณ อาจเป็นชื่อที่ตั้งภายหลัง เพื่อเรียกให้เป็นมงคลนาม

ไก่ คือ ต้นประคำไก่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Putranjiva roxburghii Wall. ชื่อวิทยาศาสตร์นี้ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ชื่อเดิมซึ่งกลายเป็นชื่อพ้องแต่เราจะเห็นได้บ่อยตาม website ต่าง ๆ คือ Drypetes roxburghii (Wall.) Hurusawa ต้นประคำไก่ มีชื่อท้องถิ่น อื่น ๆ เช่น มะองนก มักค้อ (ขอนแก่น) มะคำดีไก่ ประคำไก่ ลักษณะเด่นของต้นประคำไก่ คือ ใบเมื่อขยี้ดมมีกลิ่นหอม แบบหวาน ๆ มีความจำเพาะคล้าย ๆ กับกากชานอ้อย ในทางสมุนไพรใช้ใบ ตำฟอกฝี ปรุงยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย ราก เปลือกราก แก้กระษัย แก้เส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายฝีภายใน เช่น แก้วัณโรค ฝีหรือมะเร็งในตับ จำนวนประชากรของต้นประคำไก่ลดลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักไม้ยืนต้นชนิดนี้ ประคำไก่จึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าจะได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของไม้ชนิดนี้
หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่กล่าวถึงนี้ คือตำรับยาแก้คนที่เป็นโรคกษัย คือ มีอาการผอมแห้ง ตัวเหลือง เท้าเย็น ร่างกายทรุดโทรม แพทย์แผนดั้งเดิมของไทยจะจัดยาสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดข้างต้นนำมาต้มให้กิน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วยบำรุงร่างกายนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเรียกตำรับยานี้กันสั้นๆว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เร่งวิจัย 7 ตำรับยาอายุวัฒนะ

admin 6 เมษายน 2019

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทา […]

พะยอม หอมกรุ่นในพงไพร

admin 3 มกราคม 2019

การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในการรักษาควา […]