อภ.เร่งพัฒนา “ยาเลิกบุหรี่” จากหญ้าดอกขาว

นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี จึงอยากแนะนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ คือ หญ้าดอกขาว ในรูปแบบชาชง และมะนาว เคี้ยวลดอาการอยากบุหรี่ โดยหญ้าดอกขาว มีสารต้านอนุมูลอิสระโดยรวมค่อนข้างสูง ช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอด บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2554 รูปแบบของชาชง วิธีรับประทานชาหญ้าดอกขาว ให้ชงดื่มในปริมาณ 2 กรัม ผสมน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5-10 นาที ดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ให้ดื่มหลังอาหารทันที จะทำให้ลิ้นฝาดลดความอยากบุหรี่ และเปลี่ยนรสชาติของบุหรี่ เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นรู้สึกชา ส่วนผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น มีอาการปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ และโรคไต ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากชาหญ้าดอกขาว มีโพแตสเซียมในปริมาณสูง

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ส่วนมะนาว มีวิตามินซี จะช่วยลดความอยากของนิโคติน และเปลี่ยนรสสัมผัสของบุหรี่ วิธีรับประทานง่ายๆ เพียงหั่นมะนาวทั้งเปลือก เป็นชิ้นพอคำ รับประทานทุกครั้งเมื่อมีความอยากบุหรี่ จะช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการเลิกบุหรี่ การใช้สารทดแทนสารนิโคตินในบุหรี่ รวมถึงการออกกำลังกาย ให้เกิดความผ่อนคลาย รวมทั้งขอคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ หากอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดขอรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพในโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนกรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดการเลิกบุหรี่โดยการใช้ยาสมุนไพรไทย และการอบสมุนไพร ที่คลินิกรักสุขภาพ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ได้ทำการศึกษาวิจัยยาอมสารสกัดจากสมุนไพรหญ้าดอกขาว โดยสกัดเอาสารสำคัญที่มีสรรพคุณช่วยลดการอยากสูบบุหรี่ เนื่องจากสมุนไพรนี้มีสารไนเตรท ที่มีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นรู้สึกชา ไม่รับรู้รสชาติ ทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ สำหรับการวิจัยและพัฒนาตอนนี้ได้สูตรตำรับยาที่มีความคงสภาพระยะยาว 2 ปี เรียบร้อยแล้ว และยาผ่านมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งขณะนี้กำลังทำการศึกษาทางคลินิกร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 12 เดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลที่เพียงพอ จากนั้นจะยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพร คาดว่าจะสามารถผลิตยาอมสารสกัดจากสมุนไพรหญ้าดอกขาวออกสู่ท้องตลาดได้ภายในปี 2562 และจะผลักดันเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป

“ส่วนของยาแผนปัจจุบัน อภ.ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาเม็ดไซทิซีน (Cytisine 1.5 mg tablets) ซึ่งเมื่อวิจัยและพัฒนาสำเร็จจะจัดว่าเป็นยาใหม่ และยังไม่มียาต้นแบบ ขึ้นทะเบียนยาใช้ในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของยา ขณะเดียวกัน อภ.ได้ทำการศึกษาทางคลินิกควบคู่ไปด้วย โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดย อภ.จะทำการผลิตยาเม็ดไซทิซีนในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot scale) เพื่อนำไปใช้ในโครงการวิจัยการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบบริการเลิกยาสูบแบบเป็นขั้นตอนในประเทศไทย (STEP trial) ซึ่งมี ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย” นพ.นพพร กล่าว

นพ.นพพร กล่าวว่า โครงการ STEP trial จะศึกษาเป็นขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ผู้ป่วยจะได้รับยาอมสารสกัดจากสมุนไพรหญ้าดอกขาวเปรียบเทียบกับยาหลอก ถ้าผู้ป่วยเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ จะเข้าสู่ ขั้นตอนที่ 2 โดยจะได้รับยาเม็ดไซทิซีน เปรียบเทียบกับ ยานอร์ทริปไทลีน โดยมีแผนเริ่มให้ยาผู้ป่วยใน ต.ค.2560 คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยประมาณ 2 ปี เมื่อได้ผลศึกษาวิจัยด้านคุณภาพ ด้านประสิทธิผลในการรักษา และด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แล้ว จะทำการขอยื่นขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป และคาดว่าจะสามารถผลิตยาออกสู่ท้องตลาดได้ภายในปี 2564

“เมื่อศึกษาทางคลินิกของยาอมสารสกัดจากสมุนไพรหญ้าดอกขาวและยาเม็ดไซทิซีนสำเร็จจะเป็นการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาเลิกบุหรี่ของประเทศไทย เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้ยา และเมื่อ อภ.สามารถผลิตยาทั้ง 2 รายการออกสู่ท้องตลาดแล้ว จะส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยากเลิกบุหรี่ สามารถเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น ถือเป็นการเลิกบุหรี่แบบเป็นขั้นตอน สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยยาอมสมุนไพรในขั้นตอนแรก หรือใช้ยาแผนปัจจุบันช่วยในขั้นตอนที่ 2 สำหรับผู้ที่ใช้สมุนไพรเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ให้ดียิ่งขึ้น ในราคาที่ยุติธรรม ทำให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดอัตราการเกิดโรค ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวต่อไป” ผอ.อภ.กล่าว

ที่มา : http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000055473

บทความที่เกี่ยวข้อง