ออกกฎคุม ‘โจรสลัดชีวภาพ’ ป้องกันต่างชาติฉวยประโยชน์พันธุกรรมพืชพื้นเมือง

เร็วๆนี้ กรมวิชาการเกษตร จัดประชุมเรื่อง ‘การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น’ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตรา 52 กำหนดให้ผู้ใดที่เก็บ จัดหา หรือ รวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง วิจัยเพื่อประโยชน์ทางการค้า จะต้องขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฏกระทรวงและประกาศกรมฯ 29 ม.ค.56 ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์แก่เจ้าของทรัพยากรเดิมได้จริง

นายจิรศักดิ์ กิติคุณากร ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวว่าการให้ความคุ้มครองพันธุ์ดั้งเดิม ตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ อยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งหลักการสำคัญคือเมื่อผู้ใดนำพันธุ์พืชจากประเทศไหนหรือท้องถิ่นใดไปใช้ประโยชน์ จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพยากรด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้ว่าไทยจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีข้อกำหนดดังกล่าว แต่ในทางปฎิบัติยังไม่สามารถทำได้จริงเนื่องจากต้องรอกฎหมายลูกได้แก่ กฎกระทรวง และประกาศกรมฯซึ่งกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตใช้พันธุ์พืชดั้งเดิม ร่วมทั้งข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์

“นับจากนี้ไปเมื่อมีประกาศกรมฯออกมาแล้ว การจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นักปรับปรุงพันธุ์ เกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการ จะต้องแจ้งแสดงแหล่งที่มาของพันธุ์พืชใหม่และข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ให้เจ้าของพันธุ์พืชเดิมในกรณีที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองและพันธุ์พืชป่ามาใช้ปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะมีผลย้อนหลังด้วย ” นายจิรศักดิ์กล่าว

ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวต่อว่าสำหรับกรณีการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นมาใช้ประโยชน์ จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้น แต่ในข้อเท็จจริงขณะนี้ยังไม่มีชุมชนใดจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นของตน เนื่องจากพันธุ์พืชพื้นเมืองโดยเฉพาะพันธุ์ข้าวจะไม่จำกัดการใช้ประโยชน์อยู่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่จะกระจายทั่วไป จึงยังไม่เคยมีกรณีชุมชนใดได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ดังกล่าว

น.ส.โสมวรรณ สุขประเสิรฐ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพซึ่งไม่ใช่พืช สาหร่ายและเห็ด เช่น จุลินทรีย์ หรือ สารสกัดจากพืช ผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพก็จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพยากรเช่นกันตามระเบียบคณะกรรมการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติว่าด้วย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพและการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. 2554 ซึ่งการแบ่งปันผลประโยชน์การใช้พืชดั้งเดิมตามกฎกระทรวงกระเกษตรฯและการใช้ทรัพยากรชีวภาพระเบียบของกระทรวงทรัพยากรฯ จะยึดตามหลักสากล โดยแบ่งเป็น

1.การแบ่งปันผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น แบ่งรายได้ที่ได้จากการขาย หรือหุ้น
2.การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เช่น การแลกเปลี่ยนงานวิจัย เทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานของรัฐต่อรัฐ

อย่างไรก็ดีแม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งมีสมาชิกราว 200 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าหลักการของอนุสัญญาฯว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์คืนแก่ประเทศเจ้าของทรัพยากรถูกนำไปปฏิบัติใช้น้อยมาก เพราะเป็นเพียงแนวทางความร่วมมือ “จากนี้ไปเมื่อไทยมีกฎหมายลูกออกมารองรับการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรแล้ว หมายความว่าเวลาต่างชาติจะเข้ามาใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของเราจะต้องมีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนกับหน่วยงานรัฐ ถ้าไม่ทำตามก็ถือว่าเป็นขโมย ที่เรียกว่า โจรสลัดชีวภาพ” น.ส.โสมวรรณ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา

บทความที่เกี่ยวข้อง