อัญชันสำคัญกว่าที่คิด พิชิตโรคหลอดเลือด

เมื่อเอ่ยถึงอัญชัน โดยทั่วไปมักนึกถึงดอกสีน้ำเงินสดใส ที่นิยมนำมาใช้เป็นสีธรรมชาติผสมอาหาร ขนม เครื่องดื่มและเครื่องสำอาง มาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่น ข้าวเหนียวมูนอัญชัน ขนมช่อม่วง ปลูกคิ้วเข้ม เป็นต้น แต่จริงๆแล้วอีกหลายส่วนของอัญชันล้วนมีสรรพคุณโดดเด่นทั้งรากและใบ การใช้อัญชันตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้น ส่วนรากใช้ฝนเอาน้ำหยอดตา แก้ตาเจ็บ ตาแฉะ ตาฟาง บำรุงสายตาให้สว่างแจ่มใส และยังใช้ผสมผงข่อย หรือผงคนทาทำยาสีฟัน แก้ปวดฟันเหงือกบวมได้ดี และนำมาต้มดื่มเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ  ช่วยลดไข้ได้ดีด้วย ส่วนน้ำต้มดอกอัญชันเข้มข้นมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ช่วยให้สตรีมีเลือดฝาดสมบูรณ์ เมล็ดและฝักอ่อนรับประทานเป็นผักบำรุงร่างกายและช่วยระบายอ่อนๆ

ปัจจุบันมีงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยารับรองว่า รากอัญชันมีฤทธิ์ลดไข้ได้เท่ากับยาพาราเซตามอล  ส่วนใบใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยได้ชะงัด มีงานวิจัยว่าสารสกัดน้ำใบอัญชันมีฤทธิ์ระงับปวดกล้ามเนื้อได้ชะงัดกว่าและมีพิษข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้ปวดไดคลอฟีแน็ค (diclofenac sodium) ในท้องตลาด

งานวิจัยยังมีอีก พบว่าการให้สารสกัดเอทานอลใบอัญชันกับหนูทดลองขนาดวันละ 200 และ 400มิลลิกรัม/กก.น้ำหนักตัว นาน 75 วัน สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และฟื้นฟูความจำของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานและความจำเสื่อมได้ดีกว่าหนูกลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัดเจน  ที่น่าสนใจคือจากการตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดหนู พบว่าสารสำคัญอปาราจิติน (aparajitin) และแอสตรากาลิน (astragalin) ช่วยเสริมการทำงานของเอนไซม์อะซิติลโคลีน (acetylcholine) ที่ทำหน้าที่สื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และความจำและยังเพิ่มระดับของเอนไซม์ซูเปอร์อ๊อกไซด์ดิสมิวเตส (superoxide dismutase) หรือSOD ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายและต้านเซลมะเร็ง

ผลการทดลองนี้อนุมานได้ว่า สารสกัดด้วยเหล้าขาวของใบอัญชันสามารถออกฤทธิ์บำรุงสมองในคน และกระตุ้นการเรียนรู้ ช่วยฟื้นฟูความจำในผู้ป่วยเบาหวานที่ความจำเสื่อมได้เช่นกัน โดยขนาดใบอัญชันแห้งสำหรับคนก็ใช้สัดส่วนเดียวกับที่ใช้ในหนูทดลองคือประมาณวันละ 10-20 กรัม/น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม โดยอาจจะใช้วิธีดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่มก็ได้  ใบอัญชันจึงเป็นทางเลือกราคาถูกกว่าใบแปะก๊วย

สำหรับสรรพคุณบำรุงสมองในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีการวิจัยในหนูทดลองเช่นกันว่า สารสกัดน้ำจากใบหรือดอกอัญชันขนาดวันละ 100 ถึง 400 มก./กก.น้ำหนักตัวนาน 14-84 วัน สามารถลดระดับค่าเฉลี่ยสะสมของน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดรวมทั้งยับยั้งเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส(glucose-6-phosphatase) ไม่ให้เปลี่ยนกลูโคสฟอสเฟตเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดและยังเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในเลือด (HDL-cholestesterol) ที่สำคัญคือช่วยเสริมสมรรถภาพของกลุ่มเซลล์ ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เข้าสู่ภาวะเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมาที่สำคัญคือโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในคนไทยไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมองที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดเลือดได้

เฉพาะสรรพคุณบำรุงสมองและช่วยฟื้นฟูความจำด้วยอัญชันนั้น หากต้องการใช้ขนาดรับประทานที่น้อยลงถึง 4 เท่าและใช้ระยะเวลาน้อยลงถึง 2 เท่า ต้องใช้ส่วนราก มีการศึกษาในหนูทดลองแรกและหนูวัยสมบูรณ์พันธุ์พบว่า การป้อนสารสกัดน้ำรากอัญชัน ขนาดวันละ 50 และ100 มก./กก.น้ำหนักตัว เป็นเวลาเพียง 30 วัน พบว่าหนูที่ได้รับน้ำรากอัญชันให้ผลการทดสอบดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับ อย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ส่งผลต่ออัตราความเคลื่อนไหวหรือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม  นอกจากงานวิจัยยืนยันสรรพคุณช่วยฟื้นฟูความจำ บำรุงสมอง ควบคุมเบาหวานของอัญชันแล้ว ยังมีงานวิจัยพบว่าสารเทอร์นาติน ดี 1 (ternatin D1) ในดอกอัญชันซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยลดการอุดตันในหลอดเลือด ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจวาย สโตร๊คและไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมฤตยูเงียบในปัจจุบัน

ช่วงนี้ปลายฝนกำลังผ่านเข้าสู่เหมันต์มวลอากาศหนาวเย็นจะทำให้ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในบรรยากาศจะหนาแน่นขึ้นเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบสอง เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เตือนว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 แม้เพียง 1% จะทำให้การตายจากโรค

โควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 8%

อัญชันเป็นสมุนไพรพรรณไม้ใกล้ตัว นอกจากปลูกไว้ริมรั้วเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำทั้งดอกหรือใบหรือรากมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรสีสวย ราคาย่อมเยากว่าอาหารเสริมราคาแพง ที่ดื่มได้ทุกวันในขนาดไม่เกินวันละ 20 กรัม ทั้งความรู้ดั้งเดิมตามสรรพคุณตามภูมิปัญญาและการศึกษาวิจัยใหม่จะช่วยคุ้มครองคุณภาพชีวิตในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่เคล้ากับหมอกฝุ่นพิษ ที่อาจเกิดวิกฤติสุขภาพในปลายปีชวดนี้.