อียูเมินข้อเสนอตัวแทนภาคปชช. ในการเจรจา FTA ไทย-อียู

เมื่อ 18 ก.ย.56 เวลา 14.20 น. ภายหลังจากที่ตัวแทนภาคประชาชนจำนวน 20 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้าพบกับคณะเจรจาฝ่ายยุโรปในการเจรจาเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ นั้น

นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เล่าถึงการเข้าพบคณะเจรจาฝ่ายยุโรปว่า ตัวแทนภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อคณะเจรจาฝ่ายยุโรป 4 ข้อ คือ เรื่องยารักษาโรค เรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช เรื่องสินค้าสุรา และการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะประเทศอื่นก็เรียกร้อง และอียูก็โดนต่อต้านเหมือนกัน โดยการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ไปเพื่อขอความเมตตา แต่เพื่อบอกข้อห่วงใยของคนไทย และถามว่าอียูจะตอบอย่างไร “ท่าทีขอคณะเจรจาฝ่ายยุโรปดูให้เกียรติคณะเจรจาฝ่ายไทยค่อนข้างต่ำ งานนี้ไม่จบง่ายๆ เขามาหนักกับรัฐบาลไทย และจับมือบริษัทข้ามชาติ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่จะถล่มรัฐและประชาชน” นายจักรชัย กล่าวและพูดถึงข้อเรียกร้องเรื่องยาว่า ข้อตกลงเรื่องยาต้องไม่เกินไปกว่าทริปส์ หรือไม่เอาทริปส์พลัส ไม่เอายาราคาแพง แต่คำตอบของคณะเจรจาอียู มีท่าทีชัดเจนว่าไม่รับฟัง และบอกว่าอย่าพูดแต่เรื่องไม่เอาทริปส์พลัส เขาพูดว่าเราไม่เข้าใจ ไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องเหล้านั้น นายจักรชัย กล่าวว่า คณะเจรจาฯ อ้างว่าคนไทยดื่มเหล้านอกแค่ร้อยละ 10 จะมาบอกว่าเกิดผลกระทบเพราะดื่มเหล้านอกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้การดื่มเหล้านอกจะเป็นสัดส่วนเพียงนิดเดียว แต่ก็ไม่ควรมีอยู่ในการเจรจา ขณะที่เรื่องการคุ้มครองการลงทุน อียูบอกว่าจะส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และจะทำให้เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งภาคประชาชนเป็นห่วงว่ารัฐบาลไทยจะไม่สามารถออกนโยบายสาธารณะได้ ซึ่งคณะเจรจาไม่ตอบกรณีนี้ ที่ห้ามให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องไทย ในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชีวภาพ และเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

รองประธานกลุ่มฯ กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช ที่ภาคประชาชนยืนยันในหลักการว่าเราไม่ยอมรับ UPOV 1991 แต่คณะเจรจาฯกลับชี้แจงแค่ว่าเรื่องนี้แล้วแต่ทางรัฐบาลไทยว่าจะยืนยันในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งประเมินได้ว่าอียูเอาเรื่องนี้แน่

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชนจะหนุนให้คณะเจรจาฝ่ายไทยไม่ยอมข้อเรียกร้องของยุโรป และในวันที่19 กันยายนนี้ ตัวแทนภาคประชาชนจะยื่นจดหมายเพื่อทักท้วงข้อเรียกร้องให้กับคณะเจรจา

จดหมายข้อเสนอต่อคณะเจรจาฝ่ายยุโรป 4 ข้อ

18 กันยายน 2556

เรียน Mr Joao Aguiar Machado, Deputy Director-General at the EC’s Directorate-General for Trade and the EU’s chief negotiator

ตามที่ประเทศไทยได้เริ่มต้นเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาถึงการเจรจารอบสองในครั้งนี้
ก่อนอื่น พวกเราภาคประชาสังคมไทย ขอแสดงความยินดีกับสหภาพยุโรปที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปีนี้ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า ทำให้เรามองไปสู่การปฏิสัมพันธ์ แม้จะเป็นเรื่องการค้า จะสร้างความเป็นธรรม ความยุติธรรม สันติภาพในทุกแง่มุม ทั้งทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของสองภูมิภาคนี้ โดยวางอยู่บนความตกลงการค้าที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่ม ไม่สร้างภาระให้กับสังคมโดยรวม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ที่ผ่านมา พวกเราเคยได้ทำหนังสือถึงตัวแทนสหภาพยุโรปในประเทศไทย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหภาพยุโรปในการกดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆรวมทั้งประเทศไทยผ่านทางการเจรจาเอฟทีเอที่มีข้อเรียกร้องเกินไปกว่าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอย่างมาก และเสนอข้อห่วงใยในประเด็นสำคัญอย่างน้อย 4 ประเด็นได้แก่

ประการแรก การต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลกที่จะเอื้อต่อการผูกขาดยาแบรนด์เนมให้แสวงหากำไรได้สูงสุดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และ ทำลายการแข้งขันของยาชื่อสามัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชน

ประการที่สอง การเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันสนธิสัญญา UPOV 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปส ซึ่งจะเอื้อต่อการผูกขาดพันธุกรรม ทำลายขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยในการปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร

ประการที่สาม การคุ้มครองนักลงทุนข้ามชาติด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐที่จะจำกัดสิทธิของประเทศในการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องสิ่งแวดล้อม

ประการสุดท้าย การเปิดทางให้สินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาขายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างปราศจากการควบคุม ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อนทำลายสันติภาพในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

ขณะนี้ ทางฝ่ายไทย ทั้งทางหัวหน้าคณะเจรจา ฝ่ายราชการและภาคประชาสังคม ได้กล่าวต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่า จะไม่รับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ขององค์การการค้าโลก ทั้งสองประเด็นดังที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย
ทางสหภาพยุโรปพร้อมที่จะสนับสนุนสวัสดิการทางสังคมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยเหนือกว่าผลประโยชน์ทางการค้า ตามจุดยืนนี้หรือไม่ อย่างไร

สำหรับประเด็นสินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพนั้น ทางหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ยืนยันว่า การทำความตกลงค้าเสรีครั้งนี้ จะไม่นำไปสู่การบริโภคสุราที่เพิ่มขึ้น และจะไม่เพิ่มปัจจัยที่จะกระตุ้นนักดื่มหน้าใหม่ให้มีอายุน้อยลง ทางสหภาพยุโรปจะให้ความร่วมมืออย่างไรกับรัฐบาลและภาคประชาสังคมไทย

สำหรับเรื่องการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น รัฐสภาไทยได้ผ่านร่างกรอบเจรจาการค้าการลงทุน เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2553 ขณะนี้ ทั้งคณะผู้เจรจาฯกับภาคประชาชนเห็นตรงกันว่า มาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง, ไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) และจะคุ้มครองการลงทุนที่มีการลงทุนแล้ว (post-establishment) เท่านั้น ประเด็นนี้ทางสหภาพยุโรป เห็นอย่างไร พร้อมสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนไทยในจุดยืนนี้หรือไม่

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมไทยจะมาขอรับฟังคำชี้แจงในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า ทางสหภาพยุโรปนั้นควรค่ากับการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ขอแสดงความนับถือ

-กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา

ที่มา : ประชาไทออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง