อีแปะ

ตามประวัติเมืองบุรีรัมย์ กล่าวไว้ว่าเมืองนี้เดิมเป็นเมืองร้าง เมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรีพระเจ้าตากสินได้มอบหมายให้พระยาจักรีมาปราบกบฏ และได้มาพบเมืองร้างที่มีชัยภูมิดี จึงเกณฑ์ผู้คนมาจัดตั้งเป็นเมือง โดยให้ชื่อว่า “เมืองแปะ” เนื่องจากบริเวณนั้นมี ต้นแปะ ขึ้นเป็นจำนวนมา และได้มอบหมายให้บุตรพระยานครเจ้าเมืองพุทไธสมันต์ (บันเตียยชมาร์) เป็นเจ้าเมืองชื่อ พระนครภักดี

แต่มีเอกสารบางส่วนกล่าวว่าชื่อเมืองบุรีรัมย์ มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช โดยปรากฎในจารึกวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการจารึกชื่อหัวเมืองไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.2377 ได้มีชื่อ เมืองบุรีรำ อยู่หนตะวันออกนครราชเสมาหรือนครราชสีมาในปัจจุบัน หลักฐานนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าชื่อเมืองบุรีรัมย์น่าจะมีมาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตามมีเอกสารระบุไว้ว่าชื่อเมืองแปะ เปลี่ยนมาเป็นเมืองบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2411 หลังจากรัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ได้ 65 วัน เมืองแปะ น่าจะมาจากชื่อ ต้นอีแปะ ซึ่งพบการตั้งชื่อสถานที่ตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นบริเวณนั้นจำนวนมาก ที่จริง ต้นอีแปะมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จึงมีการเรียกชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น ซาคาง (อุดรธานี) ตะพุนเฒ่า (ตราด) แปะ อีแปะ (นครราชสีมา) ผาเสี้ยนดอย (เชียงใหม่) มะคัง (อุบลราชธานี) สะคางต้น หมากสะคัง (เลย ภาคอีสาน) หมากเล็กหมากน้อย สมอตีนเป็ด (ประจวบคีรีขันธ์) กำจัง (ภาคใต้) สามใบ (จันทบุรี) อีแปะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex quinata (Lour.) F.N.Williams เป็นไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกับต้นตีนนก

อีแปะ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นเป็นพูพอน สูง 5-15 เมตร ผิวเปลือกสีขาวนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน ใบประกอบแบบขนนกมี 3-5 ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปรีปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งโคนใบแหลมหรือสอบขอบใบหยักหรือเป็นคลื่นใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบอื่น ดอกช่อแบบแยกแขนงดอกรูปลิ้นมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยกสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้มีสี่อันก้านเกสรสั้นสองอันยาวสองอัน ผลเป็นแบบผลสด เมล็ดเดียวแข็ง มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม บังคลาเทศ กัมพูชา จีนตอนใต้ หิมาลายาตะวันออก เกาะไหหลำ อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา นิวกีนี ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม ในประเทศไทยพบในป่าเบญจพรรณชื้น และ ป่าดิบแล้ง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก พบที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 50-500 เมตร มีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

อีแปะยังมีเพื่อนพืชในสกุลนี้อีก 3 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex scabra Wall., Vitex tripinnata (Lour.) Merr. และ Vitex pierrei Craib ทั้ง 3 ชนิด คนไทยเรียกชื่อว่า อีแปะ เหมือนกันหมด และยังเรียกชื่อถิ่นเหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นพืชในสกุลนี้ที่พบในไทยทั้ง 4 ชนิด เรียก อีแปะ เหมือนกันหมด ในอดีตเคยจำแนกชนิด Vitex scabra Wall. โดยคิดว่าเป็นชนิดเดียวกับ Vitex quinata (Lour.) F.N.Williams แต่ต่อมาก็เรียนรู้ว่าเป็นพืชสกุลเดียวกันแต่คนละชนิด อย่างไรก็ตามในเวลานี้ยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาว่าพืชทั้ง 4 ชนิดมีคุณสมบัติทางยาสมุนไพรต่างกันหรือไม่ แต่สำหรับชาวบ้านและความรู้ของชุมชนมักใช้พืชทั้ง 4 ชนิดปนๆ กันไป ถือว่าอยู่ในสกุลเดียวกัน

ในหมู่นักเล่นบอนไซก็จะรู้จักต้นอีแปะเป็นอย่างดีด้วย เพราะนิยมนำมาทำเป็นไม้ดัดบอนไซ โดยมีชื่อทางการค้าว่า “ไม้มั่งคั่ง” และแน่นอนว่าได้จัดให้อยู่ในกลุ่มไม้มงคล แต่ก็มีข้อสังเกตชื่อเรียกนี้ว่าน่าจะเพี้ยนเสียงมาจากชื่อท้องถิ่นของทางอีสาน ที่เรียกกันทั่วไปว่า “หมากสะคัง” หรือ “ไม้สะคัง” จนกลายเป็น “ไม้มั่งคั่ง”

สำหรับประโยชน์ทางยา ตามการแพทย์พื้นบ้านใช้เปลือกเป็นยาบำรุง และแก้อาการปวดท้อง โดยเฉพาะอาการปวดกระเพาะ นอกจากนี้เมื่อนำมาต้มดื่มจะช่วยกระตุ้นให้มีความอยากอาหารมากขึ้นด้วย เนื้อไม้มีความละเอียดสูง มีสีฟางข้าวหรือน้ำตาลอ่อน ๆ มีน้ำหนักดี มีความยืดหยุ่นสูง ทนความชื้นสูง จึงนิยมนำมาใช้ในการสร้างบ้าน สะพานหรือนำมาต่อเป็นเรือ แต่เนื่องจากขนาดของลำต้นไม่ค่อยใหญ่จึงนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ มากกว่านำมาสร้างบ้าน ในภาคอีสานลำต้นใช้ทำถ่าน ดินปืนและบั้งไฟ ผลต้นอีแปะใช้ผสมดินประสิวแทนดินปืนได้ ในหมู่เกาะสุลาวาสี(อินโดนีเซีย) พบว่าลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าที่อื่น ๆ คนพื้นเมืองจึงนำมาใช้ในการก่อสร้างและต่อเรือ

ในด้านการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากผลต้นอีแปะที่สกัดด้วยตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท ให้ผลได้สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนสกัดจากตัวทำละลายชนิดอื่น ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus (ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ) และเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus epidermidis (ทำให้เกิดอาการติดเชื้อทางผิวหนัง แผลได้) และเมื่อนำไปผสมกับสบู่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางผิวหนังได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และยังมีงานวิจัยเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่าสารที่สกัดได้จากใบของต้นอีแปะสามารถต้านมะเร็งเต้านม และยังพบสารชนิดใหม่ ๆ อีก 12 ชนิด ที่สามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งของมนุษย์ได้อย่างน้อย 3 ชนิด ซึ่งยังอยู่ในขั้นการศึกษา

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ให้ความหมาย “อีแปะ” ว่า คือ เงินปลีกโบราณ และยังหมายถึงชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ท้องแบน เสริมกราบ รูปคล้ายเรือสำปั้น แต่หัวเรือสั้นกว่า พืชสมุนไพรชื่ออีแปะนี้ อาจเป็นเรือหรือพาหนะใช้ต่อกรกับโรคภัยไข้เจ็บ และยังนำมาซึ่งเงินทองมั่งคั่งได้ มาช่วยกันศึกษาและเรียนรู้อีแปะกัน