ฮังแฮ้ง หรือ แครกฟ้า พืชหายาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำว่า “ฮังแฮ้ง” ถ้าออกเสียงในภาษาไทยกลางเรียกว่า “รังแร้ง” เป็นชื่อเรียกสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งน่าจะมีที่มาจากการที่นกแร้งชอบมาทำรังบนต้นไม้ชนิดนี้ แต่น่าเสียดายที่นกแร้งน่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย แต่ยังพอหาได้ในประเทศเพื่อนบ้าน และฟังว่าทางราชการมีโครงการเพาะพันธุ์พญาแร้งในเขตป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันจึงหาตัวนกแร้งตามธรรมชาติให้ดูกันยากมาก ได้แต่ดูภาพในอดีต และคำเปรียบเปรย “แร้งทึ้ง” “แร้งลง” ที่มีความหมายในทางลบถึงการแย่งชิงกันไม่น่าดู

ต้นฮังแฮ้ง ก็อยู่ในสถานะไม่ต่างจากนกแร้ง เพราะเป็นพืชที่จัดในกลุ่มหายากมากใกล้สูญพันธุ์ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Heterophragma sulfureum Kurz อยู่ในวงศ์วงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) พบได้ในแถบภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ไม่พบในภาคใต้ มีชื่ออื่นว่า แคตุ้ย แคปี่ฮ่อ แคอ้อน แคอึ่ง (ลำปาง) แครกฟ้า (สุโขทัย อุตรดิตถ์) แคหางค่าง (ภาคเหนือ) แคทุ่ง (กำแพงเพชร) รังแรง รังแร้ง (ชัยภูมิ กำแพงเพชร) นางแฮ้ง รงแห้ง ฮังแฮ้ง (อีสาน นครราชสีมา) โพนผง (มหาสารคาม) สำหรับชื่อทางราชการไทย เรียกว่า แครกฟ้า ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ ต้นรกฟ้า (Terminalia alata B. Heyne ex Roth) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

แต่ฮังแฮ้ง หรือแครกฟ้านี้เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นและกิ่งคดงอ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเป็นวงๆ ละ 3 ใบ ใบย่อย 3-4 คู่ รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม แผ่นใบกระด้าง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนนุ่ม สีน้ำตาลอมเทาหนาแน่น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ผลทรงกระบอกยาว แตกออกเป็น 2 ซีก ผิวมีขนสีน้ำตาลเหลืองหนาแน่น เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบาง จะขึ้นตามป่าเต็ง-รัง ป่าละเมาะและที่แห้งแล้ง ตามคันนาก็เห็นได้ ในต่างประเทศพบได้ที่พม่า ลาว กัมพูชา จากฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ (Index fungorum) มีบันทึกไว้ว่า พืชในสกุลนี้มีเพียง 2 ชนิด ซึ่งอีกชนิดหนึ่งคือ Heterophragma quadriloculare (Roxb.) K.Schum. แต่ชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย

ไม้ชื่อแปลกนี้มีประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยา ผลอ่อน นำมาเผาไฟกินกับป่น กับลาบ คล้ายกับฝักเพกา ในประเทศอินเดียนิยมนำไม้ไปทำเป็นเครื่องเรือน ตู้เก็บของ วงกบ วัสดุบุผนัง เรือ หมอนไม้รถไฟและงานตกแต่งอื่น ๆ สำหรับการใช้ประโยชน์ทางยา เนื่องจากเป็นไม้หายาก พบได้เฉพาะบางพื้นที่ จึงมีข้อมูลค่อนข้างน้อย แต่ในต่างประเทศมีรายงานว่า ฮังแฮ้ง ชนิด Heterophragma quadriloculare มีการนำมาใช้ในการรักษาเบาหวาน แต่ไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์ด้านนี้ในประเทศไทย มีรายงานจากนักศึกษาบางสถาบันกล่าวถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่น่าจะเป็นข้อมูลที่เอามาจากต่างประเทศมากกว่าเป็นภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านของเรา เพราะจากข้อมูลของหมอพื้นบ้าน พบว่า ฮังแฮ้ง เข้ายาหลายตำรับในภาคอีสาน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน หมอยาพื้นบ้านอีสานนำมาเข้ายารักษาโรค/อาการหลายอย่าง เช่น แก้ทรางทั่วไป โดยเฉพาะเด็ก ตำรับยาให้เอา ผักบุ้งช้าง เครือพลูช้าง ฮากดาบเงือก เห็ดบก เอาน้ำล้างบาตรของพระเป็นน้ำแช่อาบ แล้วกิน ยาร่วมด้วย เป็นยาแช่กิน ตัวยาประกอบด้วยฮากขามป้อม เครือหมากเห็บ แก่นฮังแฮ้ง แก่นส้มมอ

ยาแก้ประดง แก่นตาไก้ แก่นตากวาง แก่นดูกใส แก่นดูกอึ่ง แก่นตับเต่า แก่นฮังแฮ้ง แก่นมุยขาว แก่นมุยแดง แก่นเฮื้อนกวาง ฮากจียงปืนผู้ ฮากเจียงปืนแม่ จวงหอม แก่นนมงัว แก่นนมสาว ฮากกระจาย หัวเขือง หัวหวายนั่ง หัวหำฮอก แก่นขี้เหล็กน้อย แก่นขี้เหล็กใหญ่ แก่นขมิ้นต้น ขมิ้นเครือ แก่นเลือดนก แก่นถ่อนเลือด ทั้งหมดนี้เอาส่วนเสมอกัน ต้มกินเช้าเย็น

ยาแก้ประดงหล่อย (มีอาการมึนตึงตามข้อมือ ข้อเท้า แข้ง ขา เดินไปมาไม่สะดวก ถ้าเป็นหนักเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่หรือพลิกไปมาไม่ได้) ให้เอา แก่นตาไก้ แก่นตากวาง แก่นดูกใส แก่นดูกอึ่ง แก่นตับเต่า แก่นฮังแฮ้ง แก่นมุยขาว แก่นมุยแดง แก่นเฮื้อนกวาง ฮากจียงปืนผู้ ฮากเจียงปืนแม่ จวงหอม แก่นนมงัว แก่นนมสาว ฮากกระจาย หัวเขือง หัวหวายนั่ง หัวหำฮอก แก่นขี้เหล็กน้อย แก่นขี้เหล็กใหญ่ แก่นขมิ้นต้น ขมิ้นเครือ แก่นเลือดนก แก่นถ่อนเลือด ทั้งหมดนี้เอาส่วนเสมอกัน ต้มกินเช้าเย็น

ยาแก้สะดวงดัง (ริดสีดวงจมูก) ให้เอาฮากตองหมอง ไฮมี้ ไม้ฮังแฮ้ง ข่าลิ้น หญ้าหวายนา ฮากต้มกิน

ยาแก้ผิดกะบูน ใช้แก่นฝางแดง กวางผู้ ต้นหางกวาง แก่นบ้งมั่ง แก่นฮังแฮ้ง หีนส้ม(สารส้ม) ต้มกิน

มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกพบว่าใน เนื้อไม้ของฮังแฮ้ง มีสาร อิรีดอยด์ (Iridoid) ซึ่งเป็นสารช่วยลดอาการภูมิแพ้ และสาร ฟิลนิลทานอยด์ (phenylethanoid) ซึ่งช่วยอาการเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุ แต่หมอยาพื้นบ้านอีสานหลายท่าน แม้แต่หมอยาที่มีอายุมากแล้วยังเคยปรารภว่า ไม่เคยเห็นไม้ฮังแฮ้งจริง ๆ เลย รู้จักแต่ว่ามีบันทึกอยู่ในตำรายา ใช้รักษาโรคได้หลายชนิด และถือเป็นไม้วิเศษ

ฮังแฮ้ง หรือ รังแร้ง เป็นไม้ที่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน และมีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งอาหารและยาสมุนไพร แต่กำลังสูญพันธุ์หรือหายากยิ่งนัก จึงเชิญชวนให้เร่งนำกลับมาปลูกและ ขยายพันธุ์ให้มากขึ้น เพื่อการอนุรักษ์และศึกษานำประโยชน์มาใช้ให้กว้างขวางต่อไป.