เจียวกู่หลาน สมุนไพรไทย-จีน

เจียวกู่หลาน ชื่อนี้คนไทยคุ้นเคยกันดี หลายท่านเข้าใจว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรจีนที่เพิ่งนำเข้ามาปลูกและใช้ในประเทศไทย แต่เมื่อได้มีโอกาสเที่ยวชมดอยอินทนนท์กลับพบเห็นต้นเจียวกู่หลานเกิดขึ้นในป่าเต็มไปหมด รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนละแวกนั้นก็ปลูกเจียวกู่หลานกันหลายบ้าน ปัจจุบันเจียวกู่หลานจึงกลายเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบนดอยอินทนนท์ และเมื่อสอบถามชาวบ้านก็พบว่า เจียวกู่หลานมีชื่อในท้องถิ่นว่า “บัวฮา” มีชื่อในภาษาม้งว่า ม๊า จี๋ ก๋า เม (hmab txiv qav me) หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ ได้รายงานว่ามีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ปัญจขันธ์ เบญจขันธ์ (ไทย) เครือต๋อมต๋อ (ไทใหญ่) ชีเย่ต่าน เสี่ยวขู่เอี้ยว เจียวกู่หลาน (จีนกลาง)

คำว่า “เจียวกู่หลาน” มาจากภาษาจีนที่หมายความถึงพืชเถาที่พันรอบไม้ใหญ่ แต่ด้วยความที่สมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพและรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้หลายอย่าง ชาวจีนจึงเรียกเจียวกู่หลานว่า “ซียันเช่า” ด้วย ซึ่งมีความหมายว่าสมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ ชาวญี่ปุ่นก็รู้จักสมุนไพรนี้ เรียกว่า “อะมาซาซูรู” ที่มีความหมายว่า ชาหวานจากเถา และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Jiaogulan , Gynostemma, Miracle grass (หญ้ามหัศจรรย์), Southern ginseng (โสมภาคใต้), 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ), Penta tea

เจียวกู่หลานมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE) เป็นไม้ล้มลุกตระกูลหญ้าแบบเถาเลื้อย ยาวประมาณ 1-150 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ริมทางน้ำไหล หรืออาจพบขึ้นบนหินปูน มาเรียนรู้ลักษณะต้นเจียวกู่หลานอีกสักนิด ใบออกเรียงสลับ มักเรียงแบบขนนก กิ่งหนึ่งมีใบประมาณ 3-7 ใบ ดอกเจียวกู่หลาน ออกดอกเป็นกระจุกมีสีเหลืองเขียว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ผลเจียวกู่หลาน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวออกดำ เจียวกู่หลาน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย พบบริเวณภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาที่มีความสูงระดับ 300-3,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบได้ใน จีน ญึ่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน บังคลาเทศ เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกีนี และในไทยนอกจากพบในธรรมชาติแล้วยังมีการปลูกกันพอสมควรที่จังหวัดเชียงใหม่

ดร. โอซามะ ทานากะ (Dr.Osama Tanaka) แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาจนพบว่า เจียวกู่หลานมีสารซาโปนิน (Saponins) ที่มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกับโสม ต่อมา ดร.ซูนีมัตซึ ทากิโมโต (Dr Tsunematsu Takemoto) ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรที่ศึกษาประโยชน์ของเจียวกู่หลานมานานกว่า 10 ปี พบว่าเจียวกู่หลานมีสารซาโปนินที่สามารถจำแนกได้มากถึง 82 ชนิด หรือที่เรียกว่า ไกเพนโนไซด์ (Gypenosides) ซึ่งมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งตับ ปอดและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางด้านคลินิกพบว่าเจียวกู่หลานสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้รับเคมีบำบัดได้เป็นอย่างดี

เจียวกู่หลานยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาได้เหมือนกับโสมแต่ดีกว่าโสม เนื่องจากโสมมีสารซาโปนิน ที่เรียกว่า ไกเพนโนไซด์ (Gypenosides) มีอยู่เพียง 28 ชนิด ในขณะที่เจียวกู่หลานนั้นมีไกเพนโนไซด์ อยู่ถึง 82 ชนิด และสารไกเพนโนไซด์ ที่พบในเจียวกู่หลานจะมีอยู่ 4 ชนิดที่เหมือนกับโสม และมีอีก 17 ชนิด ที่มีลักษณะคล้ายกับโสม นอกจากนี้ปริมาณของไกเพนโนไซด์ ที่มีอยู่ในเจียวกู่หลานก็ยังมีมากกว่าและมีคุณสมบัติทางยาที่ดีกว่าไกเพนโนไซด์ ที่พบได้ในโสม อีกทั้งเจียวกู่หลานยังไม่มีพิษและยังไม่พบอาการแพ้จากการกินอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่ามีฤทธิ์กดประสาทบรรเทาอาการกระตุก และลดความดันโลหิต

ใบและยอดอ่อนของเจียวกู่หลานปรุงเป็นอาหารได้ ใบมีรสหวาน และปัจจุบันมักนิยมนำมาใช้เป็นชาชง ในภูมิปัญญาดั้งเดิมและประสบการณ์ใหม่ ๆ ของประเทศที่รู้จักสมุนไพรนี้ มักจะนำเจียวกู่หลานทั้งต้นเป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการทำงานของตับ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทและลดระดับน้ำตาลในเลือดและคอเรสเตอรอล บางคนนำมากินเพื่อลดความเครียดหรือทำให้จิตใจสบายขึ้นและลดความเหนื่อยล้า แก้แผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการหอบหืด อาการหลอดลมอักเสบ เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

แม้เจียวกู่หลานจะพบได้ในเอเชียหลายประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจีนและญี่ปุ่นเขาทำการศึกษากันมาก โดยเฉพาะประเทศจีนในการประชุมเกี่ยวกับยาแผนโบราณในกรุงปักกิ่งในปี 1991 ได้มีการจัดอันดับเจียวกู่หลานเป็นหนึ่งในสมุนไพรบำรุงกำลังที่สำคัญที่สุด 10 ชนิดแรกทีเดียว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถนำไปใช้ในการทำเวชเครื่องสำอาง เป็นยาบำรุงผิว ต่อต้านริ้วรอย ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เจียวกู่หลานจำหน่ายในท้องตลาดในหลากหลายรูปแบบ

ในภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาติพันธุ์เมื่อพูดคุยกับหมอชาวม้งพบว่า มีการใช้เจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรในตำรับยาหรือผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ มักไม่ได้ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว แต่ก็มีการนำมาทำชาชงกินกันแพร่หลาย ในปัจจุบันน่าจะเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพทั่วไป ถ้าหากได้ศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นน่าจะช่วยพัฒนาการใช้เจียวกู่หลานตามภูมิปัญญามีความชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ใกล้เทศกาลตรุษจีนพอดี โควิด-19 ก็ยังมี การ์ดก็ต้องยังไม่ตก เจียวกู่หลาน เครื่องดื่มอุ่น ๆ ในชีวิตวิถีใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่ามองข้ามนะ.