เที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชมระบบนิเวศสมุนไพร ข่าน้ำ

แหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพซึ่งเป็นที่ชมชอบทั้งคนไทยและชาวต่างชาติแห่งหนึ่ง คือ เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ได้ล่องเรือ ไหว้พระ สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ใครไปเกาะเกร็ดต้องลองลิ้มชิมรสอาหารอร่อย ๆ และที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้กินอาจถือว่าไปไม่ถึงเกาะเกร็ด ซึ่งถือเป็นอาหารเอกลักษณ์ของพื้นที่พื้นถิ่นแห่งนี้ คือ ทอดมันหน่อกะลา

หน่อกะลา ไม่ใช่กะลามาจากมะพร้าว คำเรียกนี้เป็นชื่อพื้นเมืองของคนเกาะเกร็ด หน่อกะลานั้นหมายถึง ข่าชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “ข่าน้ำ” หากจำแนกอย่างทางการก็ต้องบอกว่า ครั้งหนึ่งนักวิชาการเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alpinia allughas (Retz.) Roscoe แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการจัดให้หน่อกะลา เรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alpinia nigra (Gaertn.) Burtt

ข่าน้ำจัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) และมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น กะลา เร่วน้อย เป็นต้น หน่อกะลาหรือข่าน้ำชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดินซึ่งมีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินสูง 1.5-3 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอก ดอกออกเป็นช่อ แตกแขนงที่ปลายยอด ดอกย่อยมีกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นตามขวาง ผลรูปทรงกลม มีขนบางๆ ปกคลุม แห้งแล้วแตกออก รูปทรงกลม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอมเช่นกัน ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

หน่อกะลาไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทย แต่มีการกระจายอยู่ตั้งแต่มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ภูฎานก็มี อินเดีย ศรีลังกาและไทย หน่อกะลาสามารถนำมากินสดกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหารพื้นบ้าน หรืออาหารที่เราคุ้นเคยได้หลายอย่าง เช่น ใส่ในแกงส้ม ห่อหมก แกงคั่วหอย ผัดเผ็ดปลา และอื่นๆ รวมถึงใช้แทนข่าจริงๆ ทำต้มยำหรือต้มข่าไก่ และที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็ตรงที่นำหน่อกะลามาแทนถั่วฝักยาวปรุงเป็นทอดมัน ซึ่งชาวมอญทำกินกันในละแวกเกาะเกร็ดมาเนินนาน ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวมอญแนะนำให้กินหน่อกะลาแล้วท้องไส้จะสบาย มีสรรพคุณขับลมเหมือนขิง ข่า ขมิ้น และยังมีส่วนคล้ายไม้กวาดไปช่วยกวาดลำไส้ทำให้ขับถ่ายสะดวก ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ด้วย

ถ้าว่าตามตำรายาหรือภูมิปัญญาสมุนไพร สรรพคุณของข่าน้ำหรือหน่อกะลา เหง้าและดอกกะลาใช้พอกแผลแก้ผื่นคันตามผิวหนัง มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายับยั้งเชื้อราบนผิวหนังได้หลายชนิด ผลหรือลูก ใช้แก้อาการท้องอืด แน่นเฟ้อ จุกเสียด เมล็ด มีรสเผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับน้ำนม แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขับลม รากใช้แก้อาการเหนื่อยหอบ ในบังคลาเทศมีความพิเศษคือมีการนำมาใช้เป็นยาบำรุงทางเพศ บำรุงกำลัง และยังใช้ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ เจ็บคอ ขับลมในท้อง แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุทำให้เจริญอาหาร บำรุงต่อมรับรสและทำให้เสียงดี ใช้เป็นยาแก้ปวดหัว เข้ายาแก้ปวดเอว ไขข้ออักเสบ รักษาหลอดลมอักเสบ ในประเทศอินเดียมีการใช้เป็นยาขับพยาธิ และมีงานวิจัยพบว่าเมื่อนำใบมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้สารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากเมล็ดมีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์ได้

นอกจากข่าน้ำหรือหน่อกะลาที่พบเห็นทั่วไปในเกาะเกร็ดแล้ว ในประเทศไทยยังมีข่าน้ำอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alpinia mutica Roxb. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Orchid Ginger, Narrow – leaved Alpinia, Small shell giger มีชื่อท้องถิ่น แขแน ปุด เป็นต้น ลักษณะของข่าน้ำชนิดนี้ เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีลำต้นใต้ดิน ลำต้นเหนือดินเป็นส่วนของกาบใบอัดกันแน่น ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มต้นไว้ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ขอบใบเป็นคลื่น ดอกช่อ ออกที่ปลายของลำต้นเหนือดิน ช่อที่อ่อนมีใบประดับสีเขียวอมเหลืองหุ้มไว้มิด กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3 กลีบ ผล รูปทรงกลมโตเท่าเมล็ดบัว เมื่อแก่จะมีสีดำ มีเมล็ดอยู่ภายใน มีการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย

สรรพคุณทางยา เหง้าแก่ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน รักษาอาการคัน โรคลมพิษ ดอกและผล แก้ไข้ แก้ระดูขาว เมล็ด ขับน้ำนมยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้ปิดแผล ห้ามเลือด ทางภาคเหนือของประเทศไทยนำเหง้ามาฝานเป็นแว่นต้มน้ำดื่ม แก้อาการปวดหลังปวดเอว หรือนำไปต้มน้ำทำเป็นยารักษาโรคลมผิดเดือน (อาการผิดปกติในช่วงที่มีการอยู่ไฟ) ดอก แช่น้ำดื่ม บำรุงหัวใจหรือใช้เผาหรือนึ่งกินกับน้ำพริก ในประเทศอินเดียใช้เป็นชาชงหรือทำเป็นยาดอง กินแก้อาการมวนในท้อง กินให้เจริญอาหาร จากการศึกษาในมาเลเซียพบว่าข่าน้ำชนิดนี้สามารถนำไปสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยมาใช้เป็นยาได้ เช่น เป็นส่วนประกอบของยากำจัดจุลินทรีย์ และข่าน้ำชนิดนี้สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะมีช่อดอกและผลที่สวยงาม ชอบขึ้นกลางแจ้งที่มีแดดจัด

ข่าน้ำทั้ง 2 ชนิด เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นอาหารและยาได้ แต่นิยมกินเป็นอาหารมากกว่าทำเป็นยา ในปัจจุบันมักนำมาจากแหล่งธรรมชาติไม่ค่อยมีการปลูกเป็นการเฉพาะ จึงทำให้มีโอกาสสูญพันธุ์ได้ เวลานี้คนรุ่นใหม่ก็มักไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว จึงน่ามาส่งเสริมขยายพันธุ์ให้อยู่ได้ยาวนาน ทั้งการสนับสนุนการปลูกเพื่อบริโภคทั้งในรูปแบบของอาหารและยารักษาโรคด้วย.

บทความที่เกี่ยวข้อง