เมนู “หมูดิบ” เสี่ยงโรคไข้หูดับ

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางพื้นที่มีฝนตก ทำให้ฟาร์มหรือโรงเลี้ยงสัตว์มีความอับชื้น ทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในสุกรที่เป็นสัตว์นำเชื้อแบคทีเรีย ชื่อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ที่ติดมาสู่คนพบได้บ่อย ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ คือ โรคไข้หูดับ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา และจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก พบได้ร้อยละ 54-80 ส่วนอัตราเสียชีวิตพบได้ร้อยละ 5-20

จากการเฝ้าระวังโรคไข้หูดับโดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 มีนาคม 2558 พบผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 35 – 44 ปี และ 55 – 64 ปี จังหวัดที่พบป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุด ได้แก่ นครสวรรค์ รองลงมา คือ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา และเชียงใหม่ ตามลำดับ ล่าสุด พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จำนวน 5 ราย ส่วนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พบเสียชีวิตยืนยันเชื้อสเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส จำนวน 2 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หูดับปี 2557 ทั้งปี พบผู้ป่วย 226 ราย เสียชีวิต 15 ราย ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานมักมีการสังสรรค์ หรือในงานเทศกาล งานแต่งงาน งานบวชที่มักจะมีการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส เข้าไปในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด การป้องกันการติดโรค 1. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมูสัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังงานเสร็จให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และดูแลฟาร์มเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ 2. ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ และ 3. ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อน หรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ประสานประสานกรมปศุสัตว์ เพื่อให้คําแนะนําฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ปรับปรุงฟาร์มให้มีการสุขาภิบาลที่ดี ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที โรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มี.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง