เรียนรู้เห็ดกระถินพิมาน

ฝนมาแล้ววงจรเห็ดตามธรรมชาติก็กำลังมาให้เป็นอาหารอันโอชะ แล้วยังช่วยสร้างรายได้เสริมของคนเก็บเห็ดด้วย แต่ก็มักจะมีข่าวกันทุกปีว่ามีคนกินเห็ดมีพิษจนต้องส่งโรงพยาบาล
วันนี้ขอมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องเห็ดกันสักนิดว่า เห็ดมีประเภทกินได้และเห็ดมีพิษ(ห้ามกิน) หากใครไม่คุ้นเคยดูเห็ดหรือไม่มีความรู้พอจำแนกเห็ดมีพิษกับไม่มีพิษล่ะก็ แนะนำให้กินเห็ดที่ขายตามตลาด อย่าไปเก็บเห็ดกินเอง แต่แม้ว่าเลือกกินเห็ดไม่มีพิษแล้ว ขอให้จำขึ้นใจว่า การกินเห็ดทุกชนิดต้องทำให้สุกก่อน ห้ามกินเห็ดดิบสด ๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยแนะนำว่า การนำเห็ดมาต้มปรุงในอาหารให้สุกแล้วก็มักจะใส่ใบย่านางลงไปด้วย เพื่อให้สรรพคุณใบย่านางลดพิษหรืออันตรายจากเห็ดนั่นเอง

เห็ดที่นำมากินเป็นอาหารมีข้อมูลกล่าวถึงมากพอสมควร แต่เห็ดที่เป็นยา ซึ่งในระยะหลัง ๆ มีการพูดในสื่อมวลชน สื่อโซเชียลกันมากขึ้นนั้น ยังมีคนจำนวนมากสงสัยและต้องการเรียนรู้ให้กระจ่างชัดขึ้น จึงขอนำมาบอกเล่าให้ได้รู้จักกัน โดยเฉพาะ เห็ดกระถินพิมาน
เห็ดกระถินพิมานเป็น กลุ่มเห็ดหิ้ง คำเรียกเห็ดหิ้งให้นึกภาพตาม คือเห็ดที่ขึ้นอยู่บนต้นไม้ โดยเกาะติดบนลำต้นคล้ายเป็นหิ้งติดอยู่กับต้นไม้นั่นเอง และมีข้อควรรู้อีกว่า เห็ดกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่ในตำแหน่งของต้นไม้ที่อยู่สูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร

ที่นี้เห็ดกลุ่มเห็ดหิ้งนี้ ทำไมเรียกชื่อว่าเห็ดกระถินพิมาน ก็เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมหมอยาพื้นบ้านเชื่อว่าถ้าเห็ดหิ้งขึ้นบนต้นกระถินพิมาน จะให้ตัวยาที่ดีกว่าการเจริญบนต้นไม้อื่น ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดในกลุ่มนี้นั่นเอง และขอบอกไว้ด้วยว่า เห็ดกระถินพิมานนั้นแม้มีชื่อเรียกแบบไทย ๆ แต่เป็นกลุ่มเห็ดที่มีในหลายประเทศ ดังเช่น ประเทศจีนที่มีบันทึกมาแต่อดีตก็นำเห็ดนี้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งในตำรายาโบราณของจีนเคยจัดเห็ดในกลุ่มนี้ว่าเป็นเห็ดหลินจือประเภทหนึ่ง แต่เมื่อการศึกษาความรู้เรื่องเห็ดมีมากขึ้นและมีเทคโนโลยีในการจัดจำแนกชนิดพันธุ์ดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงจัดเห็ดกระถินพิมานไปอยู่ในสกุล Phellinus แต่หลินจือ คือ Ganoderma

ในทางวิชาการ เห็ดกระถินพิมานในสกุล Phellinus ทั่วโลกมีถึง 154 ชนิด แต่ที่มีการบันทึกว่านำมาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น เช่น ชนิด P. linteus, ชนิด P. baumii, ชนิด P. igniarus และชนิด P. pini ฯลฯ ใน เมืองไทยก็พบการนำเห็ดกระถินพิมานมาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านซึ่งมีรายงานว่าการใช้เห็ดส่วนใหญ่ของตำราพื้นบ้านจะเป็นชนิด P. rimosus ซึ่งใช้เข้ายาในตำรับยารักษาฝีเป็นส่วนใหญ่

เห็ดในสกุล Phellinus เป็นที่รู้จักและใช้เป็นยากันอย่างกว้างขวาง ที่ใช้กันมากเช่น ในประเทศเกาหลี เรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดซางฮวง” (Sang-Hwang) ในประเทศจีนเรียกว่า “เจ็น หรือ ซางหวง” (Gen or sanghuang) ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า “มิชิมาโกบุ” (Meshimakobu) และในอินเดียซึ่งหลายคนนึกไม่ถึงว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของแขกจะใช้เห็ดด้วยเหมือนกัน ซึ่งเรียกว่า “พานนาซอมบา” โดยเฉพาะในเขตตะวันตกของเทือกเขากัทส์ นิยมนำเห็ดในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยาในการรักษาอาการปวดฟัน โรคที่เกี่ยวข้องกับลิ้นและคอ โรคที่มีน้ำลายไหลมากเกินไปในเด็ก โรคท้องร่วง เป็นต้น

ขณะนี้ทั่วโลกมีการนำเห็ดกลุ่มกระถินพิมานหรือในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยารักษาโรคกันมากมาย แต่ต้องบอกด้วยว่าที่มีการนำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่เขาใช้กัน คือ ชนิด Phellinus linteus (ภาพ ก.) และชนิด Phellinus igniarius (ภาพ ข.) ส่วนในตำรายาไทยส่วนใหญ่พบว่ามีการใช้ Phellinus rimosus (ภาพ ค.) ซึ่งชนิดที่คนไทยใช้กันมาก ในต่างประเทศก็พบการใช้ชนิด Phellinus rimosus ของชนเผ่าต่าง ๆ ในการรักษาคางทูม และมีการศึกษาพบว่า Phellinus rimosus มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านเนื้องอก ต่อต้านการอักเสบ รักษาความผิดปกติของตับ แต่ในประเทศไทยเองยังมีการศึกษาเห็ดชนิดนี้น้อยมาก น่าจะต้องลงทุนด้านวิจัยให้มากขึ้น

สำหรับชนิด P. igniarius มีการใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก ในส่วนที่เป็นยาภายใน ใช้เป็นยาบำรุงและเป็นยาระบาย ส่วนการใช้ภายนอกใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ ถ้าพูดในภาพรวมบอกได้ว่ามีงานวิจัยหลายรายการที่แสดงให้เห็นว่า เห็ดในสกุล Phellinus มีสารสำคัญที่ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสารสำคัญหลายชนิดที่สกัดได้ โดยเฉพาะสารในกลุ่มพอลิแซคคาร์ไรด์ มีคุณสมบัติไปกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบและกดการเจริญและการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกได้ การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเห็ดกระถินพิมานที่ได้มาจากธรรมชาติมีศักยภาพในการใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้
จากการศึกษาพบว่าวิธีใช้ประโยชน์จากเห็ดนั้น ต้องทำการสกัดเอาสาระสำคัญมาใช้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการสกัดด้วยน้ำหรือการต้มน้ำดื่มและกินนั้นเอง อีกวิธีคือการสกัดด้วย

แอลกอฮอล์ซึ่งต้องพึ่งเทคโนโลยี และล่าสุดมีการศึกษาการสกัดสาระสำคัญด้วยการหมักซึ่งเป็นการสกัดอีกแบบหนึ่ง

ง่ายที่สุด ดีที่สุด คือ ใช้เห็ดให้ถูกชนิดและนำมาต้มให้สุกหรือปรุงกินเป็นประจำช่วยบำรุงร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้อง