เรียนรู้โกฐกระดูก

โกฐ หรือ โกฏ เป็นพืชสมุนไพรกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในตำรับยาดั้งเดิมของไทย หลายท่านคงเคยได้ยิน โกฐทั้ง 5 โกฐทั้ง 7 โกฐทั้ง 9 หากเรียงลำดับจากโกฐทั้ง 5 ประกอบด้วย โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา และเมื่อรวมอีก 2 ชนิด โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว หรือ โกฐก้านมะพร้าว เรียกว่า โกฐทั้ง 7 และเมื่อรวมอีก 2 ชนิด โกฐพุงปลา โกฐชฎามังษี หรือ โกฐชฎามังสี เป็นอันครบ 9 ต้น

กล่าวเฉพาะโกฐกระดูก ตั้งแต่สมัยที่อยุธยารุ่งเรืองมีการค้าขายกับจีนจนมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามได้มีสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้รวบรวมจากประเทศเพื่อนบ้านจากพม่าและเวียดนาม เพื่อนำมาส่งขายให้กับต่างประเทศ สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อว่า “Putchuck” หรือ รากพุดชัก เมื่อได้สืบค้นจากเอกสารต่าง ๆ พบว่ารากพุดชักกล่าวถึงพืช 2 ชนิด คือ (1) ในวิกิพีเดียเผยแพร่ว่า สมุนไพร ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dolomiaea costus (Falc.) Kasana & A.K.Pandey ( ในอดีตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea costus (Falc.) Lipsch.) ในภาษาไทยเรียกว่า “โกฐกระดูก” ซึ่งมีชื่อสามัญอื่น ๆ ว่า costus, Indian costus, kuth, หรือ putchuk ใช้เป็นเครื่องหอมและยา (2)แต่ในเอกสารอื่นๆ ในประเทศไทยที่ระบุถึง โกฐกระดูก ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aucklandia lappa DC. แต่ในปัจจุบันชื่อวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ชนิดกลายเป็นชื่อพ้อง และนักพฤกษศาสตร์ได้เปลี่ยนให้โกฐกระดูกมาอยู่ในสกุล Dolomiaea

โกฐกระดูกที่มาจากพืชสกุลนี้มีหลายชนิด และเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมาแต่อดีตด้วย ได้แก่
ชนิด Dolomiaea edulis (Franch.) C.Shih เป็นชนิดที่มีถิ่นกำเนิด ในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ธิเบต ชนิด Dolomiaea salwinensis (Hand. – Mazz.) C.Shih) พบมากในเมียนมาร์และจีนตอนกลางและตอนใต้ ชนิด Dolomiaea taraxacifolia (J.Anthony) Y.S.Chen & Raab-Straube) มีถิ่นกำเนิดในพม่า

ในอดีตประเทศสยามรับสมุนไพรโกฐกระดูก 3 ชนิดนี้มาจากพม่าเพื่อนำส่งขายต่อไปยังประเทศจีน

ยังมีอีก 1 ชนิด Dolomiaea costus (Falc.) Kasana & A.K.Pandey) เป็นชนิดที่พบว่ามีการ
กระจายพันธุ์ค่อนข้างสูงพบในท้องตลาดมาก มีถิ่นกำเนิดใน จีน หิมาลัยตะวันออก เกาะไหหลำ มองโกเลียตอนใน แมนจูเรีย เนปาล ปากีสถาน มณฑลชิงไห่ ธิเบต ซินเจียง เวียดนาม หิมาลัยตะวันตก และพบว่านิยมนำรากจากโกฐกระดูกชนิดนี้มาสกัดน้ำมัน ประเทศสยามในอดีตก็ได้รับรากโกฐกระดูกชนิดนี้มาจากเวียดนาม ซึ่งชาวจีนรับซื้อรากเพื่อนำไปสกัดน้ำมันมาทำเครื่องหอมและยาแผนโบราณ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ไกลกว่าสมัยอยุธยาก็พบว่า โกฐกระดูกเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยใช้รากจุดเป็นเครื่องบูชาพระเจ้า ในอังกฤษนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหาร ในกลุ่มคนอิสลามตั้งแต่อดีตนำมาใช้เป็นยารักษาโรคด้วยการสูดควันแก้เจ็บคอหรือนำรากมาอมเมื่อมีอาการปอดอักเสบ ในการแพทย์แผนจีนดั้งเดิมจัดให้รากโกฐกระดูกเป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นฐาน 50 ชนิด ใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินอาหารและยังทำเป็นธูปอีกด้วย ในอินเดียยกให้โกฐกระดูกเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ใช้แก้โรคในระบบทางเดินอาหาร ชำระสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย เพิ่มภาวะการเจริญพันธุ์ ลดความเจ็บปวด นำมาผสมในน้ำมันนวดต่าง ๆ และใช้สระผมด้วย

ความรู้การแพทย์ดั้งเดิมในไทยกล่าวว่า รากของโกฐกระดูกแก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย แก้ปวด ใช้ปรุงเป็นยาหอม ขับลมในลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง ในตำรายาไทยยาไทยที่มีส่วนผสมของโกฐกระดูกอยู่ในหลายตำรับ เช่น “พิกัดตรีทิพย์รส” มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต และ“พิกัดสัตตะปะระเมหะ” มีสรรพคุณชำระมลทินโทษให้ตกไป แก้อุจจาระธาตุลามก( อุจจาระผิดปกติที่เกิดจากการท้องเสีย เป็นบิด อุจจาระมีลักษณะ สี กลิ่นผิดปกติ การชำระมลทิน คือการใช้ยาขับถ่าย อุจจาระที่ผิดปกติให้หมดไป) ) ชำระเมือกมันในลำไส้ เป็นต้น

นอกจากนี้หากสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ในฐานข้อมูลของวิกิพจนานุกรม (https://th.wiktionary.org/wiki/%E4%95%B7) จะพบว่ามีการระบุ ต้นที่เรียก Putchuck แต่กลับหมายถึง รากคังซี (ดอกถูหมี 荼蘼) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rubus rosifolius var. rosifolius ซึ่งเป็นโกฐกระดูกคนละชนิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้นสมุนไพรนี้ทางภาคเหนือของไทยเรียกว่า กุหลาบจันทร์ มีถิ่นกำเนิดบริเวณกว้าง ตั้งแต่ในอัสสัม กลุ่มเกาะบิสมาร์ก เกาะบอร์เนียว กัมพูชา จีน หิมาลัยตะวันออกและตะวันตก อินเดีย ชวา ลาว เมียนมาร์ เนปาล นิวกีนี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ซูลาเวซี ไต้หวัน ไทย เวียดนาม ดอกถูหมีหรือกุหลาบจันทร์จะมีสีขาว เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอม บานในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นขณะที่ดอกไม้ชนิดอื่นๆ กำลังร่วงโรย ในด้านยาสมุนไพรมีเอกสารกล่าวว่าใช้ใบนำมาชงเป็นชา แก้อาการท้องเสีย ปวดประจำเดือน อาการแพ้ท้อง และมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าใบมีน้ำมันหอมระเหยมาก

ในเวลานี้พอจะกล่าวได้ว่า สมุนไพรที่เรียกมาแต่ดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ว่า Putchuck น่าจะหมายถึงโกฐกระดูกที่อยู่ในสกุล Dolomiaea เพราะเป็นสมุนไพรที่นำส่วนของรากมาใช้ประโยชน์ ปัจจุบันโกฐกระดูกยังเป็นที่นิยมใช้และมีจำหน่ายมากในท้องตลาดที่เมืองเดลลี ประเทศอินเดีย แต่อินเดียจัดให้โกฐกระดูกอยู่ในพืชบัญชีแดงเนื่องจากมีการใช้มากทำให้มีการเก็บหาจากธรรมชาติมากเกินไป ประกอบกับถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายลงอย่างมากเสี่ยงสูญพันธุ์

สมัยอยุธยาสยามประเทศเป็นแหล่งการค้าใหญ่สามารถจัดหาสมุนไพรส่งออกได้มากมาย แต่ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งส่งออกโกฐกระดูกที่ใหญ่ที่สุด ฐานข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ชี้ว่าโกฐกระดูกทั้ง 4 ชนิดในสกุล Dolomiaea มีถิ่นกำเนิดอยู่รอบ ๆ ประเทศไทย แต่ไทยมีความต้องการใช้วัตถุดิบโกฐกระดูกจำนวนมาก การปลูกในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางการเกษตรเชื่อว่าคนไทยมีฝีมือปลูกโกฐกระดูกได้ไม่ยากนัก.