เสม็ดขาว ราชินีไม้ป่าริมทะเล

 

 

 

 

 

 

 

กล่าวกันว่า เสม็ดขาวจัดได้ว่าเป็นราชินีแห่งไม้ในป่าริมทะเล

มารู้จักข้อมูลทางวิชาการกันก่อน ในประเทศไทยรายงานว่าพบอยู่ 2 ชนิด คือชนิด Melaleuca cajuputi Powell มีชื่อท้องถิ่น เสม็ด (ทั่วไป) เสม็ดขาว (ภาคตะวันออก) เหม็ด (ภาคใต้) ชื่อสามัญว่า Cajeput tree, Milk wood, Paper bark tree ส่วนอีกชนิดหนึ่ง คือ Melaleuca leucadendra (L.) L. เป็นไม้ต่างถิ่น มีชื่อสามัญเรียกว่า Cajeput tree, River  cajeput tree, Weeping paperbark tree, White tea tree

เสม็ดขาวมีการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียไปจนถึงออสเตรเลีย

เสม็ดขาวจัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ  ตามยอดอ่อน ใบอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคุม  ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง  และกิ่งมักห้อยลง ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้เป็นพู 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็ก ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

การขยายพันธุ์ใช้วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีมากในสภาพที่ลุ่มมีน้ำขัง มักพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหาดใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง  ตามขอบของป่าพรุ ในประเทศไทยพบต้นเสม็ดขาวได้มากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

เสม็ดขาว เป็นพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมาก  โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ใบสดนำมาใช้กลั่นทำเป็นน้ำมันหอมระเหย  ซึ่งใช้เฉพาะยอดอ่อน (ไม่ควรใช้ใบแก่เกินไป) และควรเก็บจากต้นที่อยู่บนที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง  น้ำมันที่กลั่นได้เรียกว่า “น้ำมันเขียว” (Cajuput oil) หรือ “น้ำมันเสม็ด” ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร  น้ำมันเสม็ดนี้มีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับน้ำมันยูคาลิปตัส  แต่มีสีเหลืองอ่อน ร้อยละ 60 มีสาระสำคัญ คือ1,8-cineole ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรีย เป็นน้ำมันที่ไม่เป็นพิษ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้น้อยมาก จึงมีการนำมาทำเป็นน้ำยาไล่ยุงหรือแมลงและใช้เป็นน้ำยาแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดีด้วย

สรรพคุณยาสมุนไพร ใบสดมีรสขมหอมร้อน กินช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องขึ้น ถ้ากินมากจะเป็นยาขับพยาธิ และมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ และยังใช้ทำเป็นยาหม่องแก้ปวดศีรษะ ปวดหู และใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน  ใบและเปลือกเมื่อนำมาตำรวมกันใช้เป็นยาพอกแผลที่กลัดหนอง จะช่วยดูดหนองให้แห้ง หรือใช้ทาฆ่าเหา ฆ่าหมัด และไล่ยุงก็ได้ เคยมีงานวิจัยระบุว่าน้ำมันเสม็ดสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ดี จึงสามารถนำไปสู่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวได้ เช่น สบู่เหลวล้างหน้าป้องกันสิว

ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียและออสเตรเลีย มีการใช้เป็นยาแก้กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์  ใช้เป็นยาลดอาการอักเสบและความเจ็บปวดจากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ลดการติดเชื้อต่าง ๆ จัดได้ว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่งเลย คนพื้นเมืองในออสเตรเลียนำใบมาบดขยี้ สูดดมแก้อาการติดเชื้อในลำคอ และน้ำมันเขียวที่กลั่นได้จากใบเสม็ดขาวก็นำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารด้วย

เสม็ดขาวยังกินเป็นอาหารได้ กินเป็นผัก ดอกและยอดอ่อนมีรสชาติเฉพาะออกเผ็ด ๆ กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ หรือนำใบมาต้มกับน้ำดื่มแบบน้ำชาก็ได้รสชาติ เสม็ดขาวยังนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ให้ควาย แพะหรือสัตว์อื่น ๆ ได้ด้วย

เนื้อไม้เสม็ดขาวมีคุณสมบัติคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี นำมาทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้วได้ดี และจะเอาเศษไม้มาเผาทำถ่านก็ได้  เปลือกต้นนำมาใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้าน(ชั่วคราว) ใช้ทำหมันเรือ ใช้อุดรูรั่วของเรือ และยังใช้ย้อมแหหรืออวน ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านชอบใช้อย่างยิ่ง  ในต่างประเทศนิยมนำมาทำเป็นถ่านใช้ในการหุงต้ม

ภูมิปัญญาจากเสม็ดขาวพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงหน้าแล้งยาวนาน หากมีฝนตกจนป่าเสม็ดชุ่มชื้น และมีแสงแดดจัดประมาณ 4-5 วัน ก็จะมี “เห็ดเสม็ด” งอกขึ้นมา (เรียกอีกอย่างว่า “เห็ดเหม็ด” เป็นเห็ดจำพวก Ectomycorrhiza และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Boletus griseipurpureus Corner) โดยเป็นเห็ดมีรสค่อนข้างขม แต่ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้เลยทีเดียว  นอกจากป่าเสม็ดจะเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของเห็ดเสม็ดแล้ว ป่าเสม็ดยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและนกน้ำอีกด้วย และในเวียดนามมีภูมิปัญญาที่น่าสนใจ คือ การใช้ป่าเสม็ดเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลง ก่อนนำไปใช้ปลูกข้าวด้วย

ในต่างประเทศมีการผลิตน้ำมันเขียวออกจำหน่ายอย่างคึกคักมาก โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ประเทศไทยกลับมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาวไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ ในดินแดนภาคใต้ ยังไม่ช้าเกินไปหากช่วยกันรณรงค์ให้มีการปลูกและการใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาวให้มากขึ้น และช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายทะเลด้วย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและสายพันธุ์ของเสม็ดขาวเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนวงกว้างต่อไป