แก้ว ไม้ประดับและไม้ยา

เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ความรู้หรือภูมิปัญญาอยู่ในตัวเด็ก ๆด้วย เพราะเด็กคนไหนไม่อยากไปโรงเรียนจะเอาใบแก้วมาเคี้ยว สักพักอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นหรือทำให้ตัวร้อน แล้วไม่ต้องไปโรงเรียน แต่เด็กสมัยนี้ยังรู้จักต้นแก้วหรือไม่ ?

ชื่อต้นแก้วน่าจะมาจากภาษาแขก เช่น ในภาษาทมิล อัสสัม เบงกาลี เรียกว่า “กามินิ” (Kamini) ไทยเลยออกเสียง “แก้ว” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า orange jasmine, orange jessamine, china box or mock orange มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murraya paniculata (L.) Jack มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง) แก้วลาย (สระบุรี) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ) แก้วขาว (ภาคกลาง) กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี) จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง) แก้วนับเป็นไม้พื้นเมืองในเขตร้อนและกึ่งอบอุ่นในแถบเอเชีย รวมถึงไทยด้วย แต่ในธรรมชาติพบประชากรของต้นแก้วได้น้อยมากแล้ว ส่วนใหญ่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และด้วยมีลำต้นที่แข็งมาก จึงนิยมปลูกเป็นรั้ว

แก้วจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 10 เมตร มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก หากไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่มจะมีทรงพุ่มค่อนข้างกลม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบไม่มีปีก ใบย่อยมี 3-9 ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบแหลม เบี้ยว ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกตลอดปี ดอกหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรี สุกสีแดง มี 1-2 เมล็ด มีขนเหนียวหุ้ม ต้นแก้วที่มีขนาดสูงพบเห็นได้น้อยมาก ยกเว้นตามบ้านที่เก่าแก่ เช่นที่บ้านเก่าเมืองแพร่ ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรีหรือตามวัด เช่นที่วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ จังหวัดสงขลา ที่มีต้นแก้วใหญ่สูงมากกว่า 5 เมตร มีอายุมานานไม่น้อยกว่า 100 ปี

ต้นแก้วนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีคุณสมบัติทางยามากมาย ในตำรายา​ไทยใช้ใบ​แก้วปรุง​เป็นยาขับ​โลหิตระดู ​และยา​แก้จุก​เสียด ​แน่นท้อง ขับผายลม บำรุงธาตุ​และระงับอา​การปวดฟัน​ได้​โดยจะ​ทำ​ให้​เกิดอา​การชา ใบแก้วมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย รากช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น ใบของต้น​แก้ว มีน้ำมันหอมระ​เหย ​เมื่อขยี้ดมดูจะมีกลิ่นหอม​เฉพาะตัว ​เมื่อกลั่น​ใบด้วย​ไอน้ำ​ได้น้ำมันหอมระ​เหยสี​เข้ม น้ำมันหอมระ ​เหยดังกล่าวนี้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จาก​การศึกษาวิจัยพบว่า ​ใบมีฤทธิ์ฆ่า​เชื้อ Micrococcus pyogenes ver. aureus ​และ E. coli
สมุนไพรที่นำมาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานนั้น แนะนำ​ใช้​ใบ​แก้วรักษาอา​การปวดฟัน ​โดยนำ​ใบสดตำพอ​แหลก​แช่​เหล้า​โรง ​ในอัตราส่วน 15 ​ใบย่อย​หรือ 1 กรัม ต่อ​เหล้า​โรง 1 ช้อนชา ​หรือ 5 มิลลิลิตร ​และนำ​เอาน้ำยาที่​ได้มาทาบริ​เวณที่ปวดฟัน น้ำมันหอมนี้ออกฤทธิ์​เป็นยาชา นอกจากนี้ใช้ใบสดนำมาต้มน้ำร้อน​ใช้น้ำ 3 ส่วน ​เคี่ยว​ให้​เหลือ 1 ส่วน กินเป็นยาช่วยขับ​โลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ ​แก้จุก​เสียด​แน่นท้อง ขับผายลม ​ก้าน​และ​ใบ มีรส​เผ็ด สุขุม ขม ​ใช้​เป็นยาชาระงับปวด ​แก้ผื่นคันที่​เกิดขึ้นจาก​ความชื้น ​แก้​แผล​เจ็บปวด​เกิดจาก​การกระทบกระ​แทก ต้มอมบ้วนปาก

ราก รส​เผ็ด ขม สุขุม ​ใช้​แก้ปวด​เอว ​แก้ผื่นคันที่​เกิดจาก​ความชื้น​และที่​เกิดจาก​แมลงกัดต่อย นำรากมาหั่น​เป็นฝอย​ใส่ร่วมกับหางหมู​และ​เหล้าอย่างละ​เท่าๆ กัน ตุ๋นกิน​แก้ปวด​เมื่อย​เอว ​แก้ผื่นคันที่​เกิดจาก​ความชื้น ​แก้ฝีฝักบัวที่​เต้านม ​แก้​แผลคัน ​แมลงสัตว์กัดต่อย ดอก ​นำมาต้มกับน้ำร้อนกิน ​แก้​ไอ​เรื้อรัง ​แก้​ไข้ ​แก้​ไขข้ออัก​เสบ ​แก้​ไอ ​แก้กระหายน้ำ ​แก้วิง​เวียนศีรษะ ช่วย​เจริญอาหาร สรรพคุณทางยาของแก้วยังปรากฎในตำรายาของอายุรเวท สิทธา และตำรับยาจีนกล่าวว่าแก้วให้รสขมเล็กน้อย ทำให้อุ่นขึ้น ถือเป็นยาแก้ปวด กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและบรรเทาอาการฟกช้ำ และในหลายประเทศกล่าวถึงการนำดอกมาชงเป็นชาดื่ม ใบใส่ในแกงเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารด้วย

ต้นแก้วยังใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ใบเพสลาดนำ​ไปต้มย้อมผ้า​ไหม​ได้สี​เหลืองอ่อน ​ถ้า​แช่​ในจุนสีจะ​ได้สี​เขียว​เหลือง และช่วยให้​เส้น​ไหมมีความคงทน ​​เนื้อไม้มีความสวยงามมักทำเป็นไม้เท้าหรือเครื่องประดับต่าง ๆ และด้วยกลิ่นหอมจึงมีการนำดอกและใบมาผลิตเครื่องสำอางด้วย แก้วยังถือเป็นไม้มงคลมีความ​เชื่อว่าปลูก​ไว้จะ​ทำ​ให้​คนในบ้านมีจิต​ใจบริสุทธิ์ มี​ความ​เบิกบาน ​เพราะ​แก้วคือ​ความ​ใสสะอาด ​ความสด​ใส และดอก​แก้วสีขาวแสดงถึงสะอาดบริสุทธิ์ กลิ่นยังหอมนวล​ไป​ไกล จึงมักนำมาใช้​ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้ในงานสิริมงคลด้วย

ในนิราศธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กล่าวถึงต้นแก้วว่า “กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย นมตำเลียเรี่ยทางไป หอมหวังวังเวงใจ ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว” หากถอดรหัสภูมิปัญญาดั้งเดิม แล้วนำมาศึกษาถึงสุคนธบำบัด กลิ่นแก้วจะเป็นดั่งคำกวีนี้หรือไม่ ?

แก้ว จึงเป็นมากกว่าไม้ประดับ แต่เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ควรหันมาสนใจศึกษาและพัฒนาเป็นยาสมุนไพรทั้งยากิน ยาทา ยาหอม ได้อย่างดีทีเดียว.