แก้โรคคะยือ

คะยือหรือกะยือ เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่งในภาษาอีสาน ผู้รู้ในวัฒนธรรมสุขภาพบางท่านกล่าวไว้ว่าเป็นโรคคล้ายกับโรคหอบหืดที่รู้จักกันทั่วไป อาจารย์ปรีชา พิณทอง ปราชญ์แห่งอีสานเคยเขียนเอกสารเกี่ยวกับโรคกะยือหรือคะยือไว้ ดังนี้ “คะยือเป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดเสลดขึ้นที่ปอด ทำให้หายใจฝืด หอบและเมื่อย เมื่อมีอาการหนักทำให้เสียชีวิตได้ โรคคะยือมักกำเริบในช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว” โรคคะยือมี 2 แบบ คือ คะยือบ้องขวาน และคะยือแมว

คำว่า บ้องขวาน หมายถึง รูที่กลวงสำหรับใส่ด้ามขวาน เข้าใจว่าที่เรียกว่า คะยือบ้องขวาน น่าจะมาจากลักษณะของอาการหอบที่ต้องอ้าปาก เหมือนกับรูสำหรับใส่ด้ามขวาน ส่วนคะยือแมว หมายถึงอาการหอบที่ไม่เปิดปาก แต่ทำเสียงหอบคล้ายเสียงแมวหายใจ
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ตำรับยารักษาโรคคะยือในภูมิปัญญาอีสานมีไม่น้อยกว่า 10 ตำรับ แต่มีอยู่ตำรับหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมาก ซึ่งเป็นตำรับที่มีการจัดทำเป็นปริศนาคำทาย คือ ยืนกลางน้ำ ช้ำทางใน หาบบ่หนัก ตักบ่เต็ม เค็มบ่จืด

ยืนกลางน้ำ หมายถึง ต้นกางของ ถ้าเขียนเป็นภาษาไทยจะได้เป็น “กลางโขง” ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่ยืนอยู่กลางแม่น้ำโขงนั่นเอง สอบทานได้ว่าต้นกางของมีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ต้นปีบ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millingtonia hortensis L.f. ปีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร คนอีสานใช้ดอกตากแห้งมาสูบเพื่อรักษาโรคในโพรงจมูก แต่ในตำรับการรักษาคะยือ ใช้ส่วนรากของต้นปีบมาเข้ายา จากการศึกษาพบว่าดอกปีบมีสารที่เรียกว่า “ฮีสปิฟูลิน” (Hispifulin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยขยายหลอดลม
ช้ำทางใน หมายถึง ต้นไข่เน่า มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “คำมอกหลวง” ที่ชื่อว่าไข่เน่า เพราะส่วนยอดเมื่อทำให้เกิดแผลจะมีน้ำยางสีเหลืองไหลออกมา ส่งกลิ่นคล้ายไข่เน่า ต้นไข่เน่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia sootepensis Hutch. อยู่ในสกุล Gardenia คือพืชในกลุ่มดอกพุดนั่นเอง สังเกตชื่อวิทยาศาสตร์คำว่า sootepensis มาจากดอยสุเทพ เนื่องจากหมอคาร์ผู้ค้นพบพืชชนิดนี้พบที่ดอยสุเทพ และทำการจัดจำแนกให้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกของโลก จึงตั้งเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่ได้เก็บตัวอย่างมา

โดยปกติหมอพื้นบ้านอีสานใช้ต้นไข่น่าในตำรับยาหลายชนิด ยกตัวอย่าง เช่น แก่นคำมอกหลวงผสมกับแก่นมะพอก(Parinari anamensis Hance) นำมาต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟใช้อาบและสระผม ผลใช้สระผมกำจัดเหาได้ดี สารสกัดจากยอดไข่เน่าเป็นกลุ่มไตรเตอร์ปีนส์ (triterpenes) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ อย่างไรก็ตามมีผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านให้ข้อคิดเห็นว่าต้นไข่เน่าในตำรับนี้ของภูมิปัญญาอีสานนั้น น่าจะเป็นต้นไข่เน่าที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex glabrata R.Br. ที่เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อในภาคกลางเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว แต่ในภาคอีสานกลับเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ขี้เห็น” ซึ่งไข่เน่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น ขนาดกลาง สูง 8-12 เมตร ใบช่อหนึ่งมีใบย่อย 5 ใบ คล้ายใบงิ้ว ดอกเล็กสีม่วงอ่อนผลรูปไข่ ขนาดเท่าหัวแม่มือ สุกกินได้มีรสหวานเล็กน้อย ขึ้นตามป่าดิบและที่ราบลุ่มทั่วไป หมอยาพื้นบ้านใช้เปลือกของต้นไข่เน่า (Vitex glabrata R.Br.) ต้มรวมกับรากเต่าไห้ (Enkleia malaccensis Griff.) เป็นยารักษาโรคซางในเด็ก เป็นยาขับพยาธิใช้รากเป็นตัวยา เปลือกต้นไข่เน่าชนิดนี้จะมีสารจำพวกสเตียรอยด์ (Steroid) ที่มีชื่อว่า sitosterol และ ecdysterone และ anguside (p-hydroxybenzoic ester of aucubinใช้ในการรักษามะเร็งด้วยฮอร์โมน

เมื่อพิจารณาจากการใช้ประโยชน์ทางยาและการศึกษาเชิงลึกของไข่เน่าทั้ง 2 ชนิด น่าจะใช้ประโยชน์ทางยาได้ทั้งคู่ จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาประสิทธิภาพให้ลึกซึ้งต่อไป

หาบบ่หนัก หมายถึง ต้นกะเบา เป็นการเล่นคำ เพราะเป็นพืชที่มีชื่อว่า “เบา” หรือไม่หนัก ต้นกะเบา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness.กระเบาเป็นต้นไม้ขนาดย่อมไปถึงขนาดใหญ่ ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ผลกลมขนาดมะนาวไปถึงขนาดมะขวิดหรือส้มโอ เปลือกแข็งเป็นขนสีน้ำตาลแก่เกือบดำ บางชนิดภายในมีเนื้อเป็นแป้งสีเหลืองอ่อน ๆ กินได้ แต่กินมากแล้วเมาเบื่อ ใช้รักษาได้หลายโรค เช่น โรคเรื้อน โรคผิวหนังและขับพยาธิ

ตักบ่เต็ม หมายถึง ต้นกระบก คำว่า บก ในภาษาอีสาน มีความหมายว่า ขาดหาย ไม่เติมไม่เต็ม ลดลง กระบกจึงเป็นไม้ที่ไม่เป็นมงคล ไม่นิยมนำมาปลูก แต่นิยมนำเอาผลมาเลี้ยงวัว ควาย เมื่อวัวควายถ่ายเอาเมล็ดออกมา คนอีสานจะเอาเมล็ดมากะเทาะเอาเปลือกแข็งออก เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วกิน กระบกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn. เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ใบรูปไข่ ผลเท่าผลมะกอก ยาพื้นบ้านอีสานใช้ แก่น แก้ผื่นคัน แก้ไอ โดยนำมาเข้ายากับแก่นพันจำ(Vatica odorata (Griff.) Symington) และแก่นมะป่วน (Mitrephora amdjahii Weeras. & R.M.K.Saunders) หรือผสมแก่นมะเดื่อปล้อง(Ficus hispida L.f.) แก่นพันจำ(Vatica odorata (Griff.) Symington) แก่นปีบ(Millingtonia hortensis L.f.) และ แก่นมะพอก(Parinari anamensis Hance) ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม แก้ไอ

เค็มบ่จืด หมายถึง ต้นมะเกลือ เอาความหมายจากคำว่า เกลือ ต้องมีความเค็มและรักษาความเค็มได้เสมอ มะเกลือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros mollis Griff. เป็นไม้ยืนต้น แก่นสีดำใช้ย้อมผ้า ผลใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้ รากมะเกลือมีรสเบื่อเมา หมอพื้นบ้านใช้ฝนกับน้ำซาวข้าว แก้อาเจียน แก้ลม ในตำรายาไทยใช้แก่นที่มีรสฝาดเค็มขม แก้เมา ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ลม แก้ฝีในท้อง แก้อาการหน้ามืด

ตำรับยาแก้โรคคะยือ ปรุงยาโดยนำตัวยาทั้ง 5 ชนิด อย่างละเท่าๆ กันต้มดื่ม แก้อาการหอบในช่วงหน้าฝนและจะเข้าหนาว เหมาะกับอากาศในเมืองไทยขณะนี้.

บทความที่เกี่ยวข้อง