แนะกินยาพาราฯ ตามน้ำหนักตัว

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าหากรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะเป็นอันตรายต่อตับ ซึ่งการรับประทานยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมนั้นไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการคำนวนยาในการรับประทานควรใช้น้ำหนักตัวเป็นเกณฑ์ โดยขนาดยาที่เหมาะสม คือ 10 – 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้น หากน้ำหนัก 50 มิลลิกรัม ก็สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ที่ 500 – 750 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่หากน้ำหนักตัวมากจนคำนวนแล้วเกินกว่า 1,000 มิลลิกรัม ก็ควรรับประทานแค่ 1,000 มิลลิกรัมเท่านั้น และรับประทานได้ไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยพาราเซตามอลขนาด 325 มิลลิกรัม จึงเหมาะสมกับน้ำหนักตัวคนไทย

ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อย. ได้เตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาพาราฯ ต้องระบุชื่อยาสามัญบนฉลากยาเป็นภาษาไทยให้สามารถอ่านแล้วเข้าใจง่าย เนื่องจากปัจจุบันจะระบุเพียงชื่อทางการค้า อีกทั้งยังเป็นภาษาอังกฤษทำให้ประชาชนไม่สามารถทราบข้อมูลได้เลย โดยเฉพาะในยารักษาโรคอื่นๆ ที่มียาพาราฯ เป็นส่วนผสม เช่น ยาแก้หวัด จะต้องระบุทุกครั้งว่ามียาพาราฯ เป็นส่วนผสม เพื่อป้องกันไม่ให้รับประทานซ้ำซ้อนจนได้รับยาเกินขนาด ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถประกาศได้ในเร็วๆ นี้

“ช่วงที่ยังไม่มีประกาศตัวนี้ออกมา อย. จะขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ผลิตให้ผลิตยาพาราฯขนาด 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด พร้อมๆ กับรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้ยาขนาด 325 มิลลิกรัมให้มากขึ้น หากจะใช้ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด จะต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเป็นหลัก” ภก.ประพนธ์ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาประกอบการถอนทะเบียนตำรับยา

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 ตุลาคม 2557

บทความที่เกี่ยวข้อง