ใช้ยาพร่ำเพรื่อ”ค่ายาพุ่ง”

ค่าใช้จ่ายด้านยาไทยพุ่งเกินพิกัด เหตุใช้ยาไม่สมเหตุผล คนไข้ได้รับอันตราย เสี่ยงเชื้อดื้อยา พบตายปีละ 3 หมื่นราย แถมเศรษฐกิจสะเทือน ตั้งเป้าปี 2559 ลดค่ายาลง 5% ช่วยประหยัดเงินกว่า 7 พันล้านบาท เตรียมนำร่อง รพ.ส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล เข้าร่วมแล้ว 18 แห่ง

วานนี้ (22 พ.ค.) ศ.คลินิก นพ. อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในที่ประชุมเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมดพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านยา โดยตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ที่ประมาณ 46.3% ส่วนสำนักงบประมาณสูงถึง 70% อย่างปี 2555 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของในระบบสวัสดิการข้าราชการของกรมบัญชีกลางสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากกว่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัญหา ดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า จากการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า แพทย์ยังมีการสั่งยาในบัญชียาหลักแห่งชาติสูงกว่ายานอกบัญชีฯ แต่เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายแล้วกลับพบว่า กลุ่มยานอกบัญชีฯ ยังคงสูงกว่ายาในบัญชียาหลักฯ อยู่ดี ปัญหาคือประชาชนเมื่อมารักษาแล้วจะคิดว่าต้องได้รับยากลับบ้าน ซึ่งจริงๆ บางโรคก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น โรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหายเองได้ บางคนมีความเชื่อที่ว่ายานอกบัญชีฯ มีคุณภาพดีกว่ายาในบัญชียาหลักฯ ส่วนแพทย์มักสั่งจ่ายยาตามใจผู้ป่วย แต่หารู้ไม่ว่าการสั่งจ่ายยาอย่างไม่สมเหตุผลนี้กลับก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งอันตรายจากการใช้ยา ประสิทธิผลในการรักษาที่ต่ำลง สร้างภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมไปถึงก่อปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย

“ในปี 2555 สวรส.ทำวิจัยพบว่า ในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ มากกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมการใช้ยาไม่สมเหตุผลจากการสั่งยาภายใต้อิทธิพลจากการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณายา ทำให้เกิดการใช้ยาไม่จำเป็น การสั่งใช้ยาซ้ำซ้อน สั่ง ใช้ยาโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารักษาโรคได้จริง” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ โดยจะจัดประชุม 5 ครั้ง 5 ภาค เพื่อให้ความรู้แก่เภสัชกรแต่ละโรงพยาบาลในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเปิดรับโรงพยาบาลที่จะนำร่องโครงการนี้ ขณะนี้ มีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว 18 แห่ง นอก จากนี้ ทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพของสธ.จะเลือกโรงพยาบาลในเขตที่มีความพร้อมเข้าร่วมด้วย โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาลง 5% ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินราว 7 พันล้านบาท โดยจะมีการประเมิน 2 ครั้งคือ ในรอบ 6 เดือนและ 1 ปี ว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยา มีการใช้ยาสมเหตุผลจริงหรือไม่

บทความที่เกี่ยวข้อง