ใบกระวาน ใบอะไร ?

เชื่อว่าเราเคยได้ยินชื่อ “กระวาน” สมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง และเคยได้ยินชื่อ “ใบกระวาน” ที่จัดเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งเช่นกัน ใบกระวานมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Bay leaf แต่เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปว่า ใบกระวาน ก็มาจากต้นกระวานที่อยู่ในพืชวงศ์ขิงข่า แต่เหลือเชื่อว่าที่เราเรียกกัน ใบกระวานนั้นเป็นใบที่ได้มาจากพืชหลายชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์อบเชย (Lauraceae) หรือวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) เท่าที่รวบรวมไว้การเรียก ใบกระวาน มาจากพืชอย่างน้อย 6 ชนิด

1. ใบกระวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laurus nobilis L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Bay Laurel ซึ่งใบกระวานชนิดนี้มีการใช้มากที่สุด พบได้มากและมีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอเรเนียน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกถึงรูปไข่ เรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลขนาดเล็กสีดำ ภายในมี 1 เมล็ด และมีการนำเข้ามาปลูกในบางพื้นที่ของประเทศไทย

2. ใบกระวานแคลิฟอร์เนีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Umbellularia californica (Hook. & Arn.) Nutt. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า California Bay Leaf หรืออาจะเรียกว่า California Laurel พบได้ที่แถบรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก ใบกระวานชนิดนี้มีกลิ่นที่คล้ายชนิดแรกหรือ Bay Laurel แต่กลิ่นแรงกว่า ใบกระวานแคลิฟอร์เนียเป็นไม้พุ่มถึงไม้ยืนต้นขนาดกลาง ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว เหลืองหรือเหลืองอมเขียว ผลเป็นแบบเบอร์รี่สีเขียวกลมมีจุดสีเหลืองและสีม่วงเล็กน้อย ชนิดนี้ไม่มีปลูกในประเทศไทย

3. ต้นแกง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum tamala (Buch.-Ham.) T.Nees & C.H.Eberm. อยู่ในสกุลเดียวกับอบเชย มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Indian Bay Leaf เป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นคล้ายอบเชย (Cinnamon) แต่อ่อนกว่า ใช้กับสูตรอาหารที่แตกต่างกับใบกระวานชนิด Bay Laurel พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทย อัสสัม บังคลาเทศ จีน หิมาลัยตะวันออกและตะวันตก ลาว เมียนมาร์ เนปาล เวียดนาม ต้นแกงเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดรูปเจดีย์ถึงค่อนข้างกลม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามแต่บางครั้งเรียงสลับ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีเหลืองนวล ผลรูปรีแกมรูปขอบขนาน มี 1 เมล็ด เมล็ดรูปรี

4. ต้นสมัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium polyanthum (Wight) Walp. อยู่ในสกุลเดียวกับหว้า มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Indonesian bay leaf หรือ Indonesian laurel หรืออาจเรียกว่า Salam Leaf ก็ได้ ต้นสมักเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดในไทย มีชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ดอกแมว ดอกแม้ว แพ สมัก (ภาคใต้) แดงกล้วย (นราธิวาส) แดงขี้นก แดงดง (ประจวบคีรีขันธ์) แดงคลอง แดงนา (ชุมพร) มัก (ระนอง) หว้าขี้มด (ตราด) หว้าชั้น หว้าทุ่ง (ตรัง) หว้าส้ม (ชลบุรี) หว้าฮากหยอง (หนองคาย) เหม็ดชุน (นครศรีธรรมราช) เป็นต้น แต่ก็พบถิ่นกำเนิดในต่างประเทศเช่นกัน เช่นตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน บอร์เนียว กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และที่อินโดนีเซียมักจะนำมาปรุงอาหารกับเนื้อสัตว์

5. ใบกระวานอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pimenta racemosa (Mill.) J.W.Moore มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า West Indian Bay leaf มีถิ่นกำเนิดอยูใน หมู่เกาะเคย์แมน คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เฮติ หมู่เกาะลีเวิร์ด เปอร์โตริโก ตรินิแดดและโตเบโก เวเนซุเอลา หมู่เกาะวินด์เวิร์ด ส่วนมากใช้ปรุงอาหารแถบประเทศทะเลแคริเบียน รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ไม่พบในประเทศไทย

6. ใบกระวานเม็กซิกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Litsea glaucescens Kunth มีชื่อสามัญว่า Mexican bay leaf เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับต้นหมี่หรือหมีเหม็น มีถิ่นกำเนิดใน คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก ใบกระวานชนิดนี้ก็ไม่พบในไทย

ใบกระวาน 6 ชนิดนี้ น่าจะมีเพียง 3 ชนิดที่มีใช้ในไทย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าใบกระวานเป็นที่นิยมนำมาปรุงเป็นเครื่องเทศกับอาหารนานาชาติ หรืออยู่ในวัฒนธรรมอาหารของคนหลายประเทศ ไม่ว่าจะนำใบกระวานจากพืชชนิดใดมาใช้เป็นเครื่องเทศ ก็ให้รู้ไว้ว่าจะต้องเก็บใบเมื่อพืชมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยนิยมเก็บในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ใบกระวานที่มีคุณภาพดีต้องไม่มีก้านใบติดมาด้วยเก็บเอาเฉพาะใบจริง ๆ และแผ่นใบต้องมีสีเขียวอ่อนจะให้กลิ่นเหมือนกระวาน

ใบกระวานมักใช้แต่งกลิ่นในอาหารที่คนไทยและอินเดียคุ้นเคย เช่น แกงมัสมั่น ข้าวหมกไก่ เป็นต้น ในต่างประเทศนิยมใช้ในซุป สตูว์ หมักเนื้อสัตว์ ทำซอสต่างๆ ในอาหารอิตาเลียนและฝรั่งเศส ปรุงรสพาสต้า ใช้เป็นส่วนผสมของช่อสมุนไพรบูเก้การ์นิ (Bouquet Garni – คือการนำผักพื้นบ้านของชาวตะวันตก เช่น ก้านเซเลรี ก้านพาร์สลีย์ ไทม์ ต้นกระเทียม(เฉพาะส่วนสีขาว) ใบเบย์ ฯลฯ นำมาผูกรวมกันเป็นช่อ) เพื่อต้มซุป และในเครื่องดื่มค๊อกเทลก็ผสมใบกระวาน เช่น บลัดดี้แมรี่ (Bloody Mary)

ใบกระวานที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้งเต็มใบ ใบแห้งฉีก และใบแห้งป่น ซึ่งใบกระวานแบบแห้งนั้นจะมีกลิ่นที่แรงกว่าใบสด ใบกระวานอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซีและกรดโฟลิก เมื่อนำใบกระวานมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้ “น้ำมันใบกระวาน” (bay leaf oil) ซึ่งมีสารสำคัญ เรียกว่า ยูเจนอล นำมาใช้ในงานสุคนธบำบัดและในอุตสาหกรรมน้ำหอมมากมาย ในด้านสรรพคุณยาสมุนไพร ใบกระวานมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ สามารถลดอาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลม ปวดท้อง และยังมีสรรพคุณแก้ปวด แก้ไข้ และรักษาโรคทางระบบทางเดินหายใจด้วย

แม้ว่าในไทยไม่ได้ปลูกพืชทั้ง 6 ชนิด เพียงแค่ 3 ชนิดที่ปลูกได้ก็ควรปลูกให้มาก จะได้มีวัตถุดิบไว้ใช้ประโยชน์และสร้างรายได้.