20 เมืองต้นทุนสูงเสี่ยงวารีพิโรธ

เปิดโผ 20 เมืองต้นทุนความเสียหายสูงสุด จากความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศ “กรุงเทพฯ” ติดอันดับ 10 สินทรัพย์เสี่ยงสูญ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์

จำนวนประชากรโลกในปี 2555 อยู่ที่ 7 พันล้านคน แต่ในปี 2593 ประชากรเฉพาะในเขตเมืองจะแตะ 6 พันล้านคน โดยเฉพาะประชากรในเมืองท่ากว่า 130 แห่ง ซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเมืองใหญ่ทั่วโลก กำลังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วมจากคลื่นพายุซัดฝั่งรุนแรง ลมพายุ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้น การทรุดตัวของดิน

ประกอบกับแผนพัฒนาเมืองที่ไม่ดีพอ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ประชากรและสินทรัพย์ ปัจจุบัน สินทรัพย์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่มีแนวโน้มที่ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 35 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2613 ตามการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

แชมป์เมืองเสี่ยงจากสภาพอากาศเลวร้าย เมื่อวัดความเสี่ยงในแง่สินทรัพย์ คือ “ไมอามี” รัฐฟลอริด้า สหรัฐ โดยสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2548 มีมูลค่า 4.16 แสนล้านดอลลาร์ แต่จะเพิ่มเป็น 3.51 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 ส่วนประชากรที่ตกอยู่ในความเสี่ยงในปี 2548 มี 2 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 4.8 ล้านคนในปี 2613 ขณะที่เขตศูนย์กลางการเงินที่มีทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธนาคารระหว่างประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

อันดับ 2 “กวางเจา” ฮับด้านการผลิตของจีน มีสินทรัพย์อยู่ในความเสี่ยง 8.42 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2548 มีแนวโน้มเสี่ยงมากขึ้นเป็น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 ส่วนประชากรตกอยู่ในความเสี่ยง 2.7 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคน

อันดับ 3 “นิวยอร์ก” และ “นวร์ก” ความเสี่ยงของสินทรัพย์ในปี 2548 อยู่ที่ 3.20 แสนล้านดอลลาร์ จะเพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2613 สำหรับประชากรที่ตกในความเสี่ยง 1.5 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 2.9 ล้านคน แม้นิวยอร์กจะติดอันดับเมืองร่ำรวย แต่การป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังไม่มากพอ

อันดับ 4 “กัลกัตตา” เมืองสำคัญที่มีสัดส่วนจีดีพีเป็นอันดับ 3 ของอินเดีย เพราะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ และเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี กัลกัตตามีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2548 แต่มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 ส่วนประชากรที่อยู่ในความเสี่ยง 1.9 ล้านคนเมื่อปี 2548 จะเพิ่มเป็น 14 ล้านคนในปี 2613

อันดับ 5 “เซี่ยงไฮ้” เมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่อยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี มีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์ 7.29 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2548 แต่มีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 และความเสี่ยงต่อประชากร 2.4 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 5.5 ล้านคน

อันดับ 6 “มุมไบ” อินเดีย มีความสูงเพียง 46 ฟุต จากระดับน้ำทะเล มีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์คิดเป็นมูลค่า 4.62 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2548 แต่เป็นไปได้ที่จะขยับเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 ขณะที่ความเสี่ยงต่อประชากร 2.8 ล้านคน อาจเพิ่มเป็น 11.4 ล้านคนในปีดังกล่าว

อันดับ 7 “เทียนจิน” เมืองสำคัญด้านการผลิตอีกแห่งของจีน ซึ่งมีโรงงานประกอบชิ้นส่วนของเครื่องบินแอร์บัส 320 พื้นที่เกษตรกรรม และปิโตรเลียม มีสินทรัพย์ที่ตกในความเสี่ยงคิดเป็นมูลค่า 2.96 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2548 มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2613 ส่วนประชากรที่อยู่ในความเสี่ยงมีจำนวน 956,000 คน จะเพิ่มเป็น 3.8 ล้านคน

อันดับ 8 “โตเกียว” ญี่ปุ่น แม้จะเป็นเมืองที่มั่งคั่งและดำเนินการป้องกันน้ำท่วมอย่างแข็งขัน แต่ยังมีความเสี่ยงในแง่สินทรัพย์ 1.74 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2548 และจ่อเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2613 ส่วนประชากรที่ตกในความเสี่ยง 1.1 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคน

อันดับ 9 “ฮ่องกง” จีน มีแนวชายฝั่งยาวกว่า 450 ไมล์ มีความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ราว 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2548 แต่จะเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2613 ขณะที่ความเสี่ยงต่อประชากรจะเพิ่มจาก 223,000 คน เป็น 687,000 คน

อันดับ 10 “กรุงเทพฯ” ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และเผชิญวารีพิโรธในปีที่แล้ว จนได้รับความเสียหายกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ มีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์ 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2548 แต่จะเสี่ยงเพิ่มเป็น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2613 และความเสี่ยงต่อประชากรจะเพิ่มจาก 907,000 คนในปี 2548 เป็น 5.1 ล้านคน ในปี 2613

สำหรับเมืองที่มีต้นทุนความเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศ ในอันดับ 11-20 ได้แก่ “หนิงโป” ของจีน ความเสียหายแง่ทรัพย์สินในปี 2613 จะอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วย “นิวออร์ลีนส์” สหรัฐ มีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ “โอซาก้า” ญี่ปุ่น สินทรัพย์อยู่ในความเสี่ยงราว 9.69 แสนล้านดอลลาร์ ส่วน “อัมสเตอร์ดัม” และ “รอตเตอร์ดัม” เนเธอร์แลนด์ ความเสี่ยงสินทรัพย์ในอีก 58 ปี อยู่ที่ 8.43 แสนล้านดอลลาร์ และ 8.25 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ

อันดับ 16 “โฮจิมินห์” เวียดนาม ความเสี่ยงแง่สินทรัพย์ในปี 2613 อยู่ที่ 6.52 แสนล้านดอลลาร์ ถัดมาเป็น “นาโกย่า” ญี่ปุ่น ความเสี่ยงสินทรัพย์แตะ 6.23 แสนล้านดอลลาร์ ต่อด้วย “ชิงเต่า” จีน มีความเสี่ยงแง่สินทรัพย์ 6.01 แสนล้านดอลลาร์ “เวอร์จิเนีย บีช” รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ มูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ในความเสี่ยง 5.81 แสนล้านดอลลาร์ ตบท้ายด้วย “อเล็กซานเดรีย” อียิปต์ ความเสี่ยงแง่สินทรัพย์เป็นไปได้ว่าจะแตะระดับ 5.63 แสนล้านดอลลาร์

ที่มาข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง