วิกฤติสมุนไพรไทย นักวิชาการจี้รวมฐานข้อมูลเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน

เมื่อบ่ายวันที่ 24 มิถุนายน ที่อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 7-8 มีการจัดเสวนา “สมุนไพรจะหมดป่า ยาไทยจะไปทางไหน” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.อุษา กลิ่นหอม ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายสมโรจน์ สำราญชลารักษ์ นักอนุรักษ์นิเวศน์สมุนไพร จาก จ.แพร่, นายสิงห์ บรรเทาโฮม หมอยาพื้นบ้าน จาก จ.อุดรธานี โดยมีนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ จากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายสิงห์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชุมชนมีสมุนไพรในท้องถิ่นค่อนข้างมาก สามารถหาได้ตามหัวไร่ปลายนา หรือในป่าชุมชน แต่เดี๋ยวนี้สูญหายไป ทำให้การเก็บยารักษาโรคพื้นบ้านของหมอสมุนไพรยากขึ้น เพราะแต่ละโรคก็อาศัยสมุนไพรหลายชนิดผสมกัน บางชนิดต้องโทรศัพท์สั่งซื้อจากฝั่งลาว เช่น แฮ้ม กับม้ากระทืบโรง ในเมืองไทยมีเหลือน้อยมาก และการสั่งซื้อก็ตรงกับความต้องการบ้าง ไม่ตรงบ้าง หลายครั้งที่พบว่าเป็นเพียงสมุนไพรที่มีบางส่วนคล้ายกับสมุนไพรที่สั่งซื้อ แต่ไม่ใช่สมุนไพรชนิดที่ต้องการ ก็ต้องยอมเสียเงินฟรี “วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้ต้องหาวิธีอนุรักษ์พืชสมุนไพรอย่างจริงจังมากขึ้น หากเป็นสมัยก่อน ได้กล้าสมุนไพรมา หมอยาสูงอายุจะหาบไปปลุกในป่าชุมชน ป่าช้าดอนปู่ตา ไม่มีคนอื่นให้ความสนใจ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มครูให้ความสนใจพืชสมุนไพรมากขึ้น รู้ว่ามีหมอยาได้กล้าสมุนไพรมาปลูกก็จะพานักเรียนมาดู ทำให้เด็กรู้จักพืชสมุนไพรทางอ้อม” นายสิงห์ กล่าว

ด้านนายสมโรจน์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสมุนไพรต้องยอมรับว่าแต่ละภูมิภาคแทบจะสูญหายไปแล้ว ทั้งยังพูดกันเสมอว่า ถ้าไม่มีก็ไปซื้อที่ลาวได้ เช่น ว่านข้าวเย็นเหนือ แต่ตอนนี้แม้แต่ในลาวก็สูญหายไปเช่นกันจากการเปิดให้จีนเข้ามาสัมปทานป่า ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ถ้าสมุนไพรหมดป่า หมอยาพื้นบ้านก็คงต้องเลิกอาชีพโดยปริยาย ทั้งที่ผ่านมามีกฎหมายบังคับให้เลิกยังไม่สามารถบังคับได้ “กระทั่งห้อม เป็นไม้ล้มลุกที่มีมากใน จ.แพร่ เหลืออยู่น้อยมาก ในพื้นที่แห้งแล้งต้นห้อมตายหมด ชาวบ้านต้องใช้ครามย้อมผ้าแทนห้อม ซึ่งเครือข่ายหมอพื้นบ้าน รณรงค์ให้มีการปลูกห้อมทั้งเพื่อเป็นยาและให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากตามภูมิปัญญาพื้นบ้านพบว่า ห้อมสามารถช่วยลดอาการไข้ลงได้ ขณะเดียวกันคิดว่า ถ้านำสมุนไพรที่สูญหายหรือใกล้สูญหายกลับมาฟื้นฟู ก็ต้องดูแล และใช้อย่างระมัดระวังด้วยจะได้มีใช้อย่างเพียงพอไม่ต้องไปเสาะหาจากประเทศอื่นๆ อีก” นายสมโรจน์ กล่าว

ด้าน ดร.อุษา กล่าวว่า มีคนใช้สมุนไพร 2 กลุ่มหลัก คือ คนในเมือง และหมอยาชนบท ซึ่งกลุ่มหลังรู้จักพืชสมุนไพรค่อนข้างดี ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่กลุ่มแรกถ้าขาดองค์ความรู้ ก็อาจแยกพืชสมุนไพรที่คล้ายกัน แต่สรรพคุณต่างกันไม่ออก เช่น ตะกวง หรือกำแพงเก้าชั้น จากประสบการณ์เดินป่ามาหลายสิบปี พบแค่ครั้งเดียวที่ จ.อุดรธานี แต่มีพืชอีกชนิดหนึ่ง คือกำแพงเจ็ดชั้น ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จนคนไม่รู้อาจคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน

ฉะนั้นต้องจัดทำฐานข้อมูลทั้ง 2 วง คือวงหมอพื้นบ้าน กับวงคนเมือง ว่าอะไรเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นที่ต้องการ นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัย และสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมในโรงเรียนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญา แต่ครูไม่เข้าใจ พอจะมีคนมาตรวจหรือดูงานก็ซื้อขิงข่าตะไคร้าปลูกเฉพาะหน้าไป การส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญา หรือองค์ความรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

นายวีรพงษ์ กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การฟื้นฟูการใช้สมุนไพรไทยก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โรงพยาบาลของรัฐมีการใช้สมุนไพรเยอะมาก และหน่วยงานอื่นๆ ก็ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่สมุนไพรกลับลดลง เช่น ขมิ้นชัน พืชใกล้ตัวที่ไม่เป็นยาอย่างเดียว แต่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วย บางช่วงจึงขาดแคลน และต้องนำเข้าจากพม่า และกระทบหนักเมื่อมีการปิดด่านชายแดน

อย่างไรก็ตาม แม้สมุนไพรในป่าจะวิกฤติ และปลูกได้ไม่ทันสถานการณ์ แต่คนกลุ่มหนึ่งก็พยายามทำอยู่ และให้กลุ่มคนเมืองที่มีความเข้าใจเรื่องนี้เข้ามาสนับสนุน ขณะเดียวกันยังถึงเวลาต้องปฏิรูปกรมป่าไม้ เพราะนำเมล็ดพันธุ์พืชต่างประเทศมาเพาะแล้วแจกให้ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ปลูก ทั้งที่น่าจะพิจารณาตามภูมินิเวศเป็นหลัก.

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 27 มิ.ย.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตะไคร้

admin 18 กันยายน 2022

สรรพคุณหลักของตะไคร้คือ ช่วยเจริญอาหาร ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ลดความดัน

“นวดแผนไทย” วิชาการผสานภูมิปัญญา

admin 2 เมษายน 2019

จากภูมิปัญญาไทยใกล้บ้านผสานความรู้ สู่วิทยาศาสตร์ เพื่อ […]

ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงนิเวศน์ด้านสิ่งแวดล้อม

admin 2 เมษายน 2019

จากกระแสความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการอาหารที่ปลอดภ […]