ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงนิเวศน์ด้านสิ่งแวดล้อม

จากกระแสความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถใช้รักษาทดแทนได้ เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อคนและสัตว์ทั้งในด้านการควบคุมและรักษาโรค รวมถึงในด้านการเร่งการเจริญเติบโตของคนและสัตว์ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในด้านการปลูก ขยายพันธุ์ และผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ ที่ อ.เกาะคา บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน จ.ลำปาง มีชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำการปศุสัตว์ เช่น ปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เป็นต้น ที่บ้าน นายประสงค์ วรรณมณี อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/2 หมู่ 2 บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน จ.ลำปาง เลี้ยงหมูแบบเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พืชผักสมุนไพรและการผลิตด้วยอาหารหมักจุลินทรีย์ โดยหาพืชผักสมุนไพรตามบ้านที่มีอยู่ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ใบข่า ผักขม ใบกระพังโหม เป็นต้น ในการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติได้ไร้มลภาวะ หมูที่เกิดมาไม่มีโรค ทั้งป้องกัน รักษาโรค และบำรุงสุขภาพ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยไม่ส่งกลิ่นรบกวนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า การทำเกษตรกรรมนั้น คน พืช สัตว์ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ไม่ก่อเกิดหรือสร้างปัญหาให้กับสังคมและชุมชน ถ้าน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีพ และการประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตที่พอเพียง

หลังจากแนวคิดของ นายประสงค์ วรรณมณี ซึ่งเลี้ยงหมูด้วยสมุนไพร ที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับของชุมชน ก็มีเกษตรกรในหมู่บ้านหลายๆคน หันมาเลี้ยงหมูทั้งเพื่อเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมเช่นเดียวกับ นายประสงค์ เพราะว่าการเลี้ยงหมูด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้อากาศไร้มลภาวะ และทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถนำมูลสุกรหรือมูลหมูที่ได้ นำมาใช้ทำปุ๋ยสำหรับใช้ปลูกพืช และนำมาใส่ต้นไม้ได้ดี ทั้งใช้ว่านในนาข้าว พืชผักสวนครัว ผักกาด ผักชี ต้นไม้ยืนต้นและอื่นๆอีกมากมาย อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรนั้นเป็นอาหารที่ได้จากพืช จึงไม่ทำให้ดินเค็ม เหมาะกับการนำมาใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรของเกษตรกรเป็นอย่างดี ผลที่ได้รับจากการเลี้ยงสุกรจากสมุนไพร จนส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนเข้มแข็ง ได้แก่การสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย นำความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน สร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ขยายผล

1.ทำให้สิ่งแวดล้อมบริเวณเล้าสุกร และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ได้รับกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวันของมูลสุกร

2.สามารถนำมูลสุกรมาทำปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตรได้ดี

3.เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยอาหารหมักจุลินทรีย์ในการเลี้ยงสุกร หรือแม่พันธ์สุกร

4.รู้จักนำพืชและวัชพืชที่มีอยู่รอบๆพื้นที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด

5.เกษตรผู้เลี้ยงสุกรนำสมุนไพรมาเลี้ยงสุกรทำให้สุกรไม่เป็นโรคต่างๆ สุภาพสมบูรณ์แข็งแรง

อุปกรณ์ในการผลิตหัวเชื้อผสมอาหาร

(1)นำถังขนาด 200 ลิตร จำนวน 2 ใบ และมีดสำหรับหั่นพืชและสมุนไพร (2)นำน้ำสะอาด 5 ลิตร (3)กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม (4)ผลไม้สุก 3 กิโลกรัม (5)ผักขมพื้นเมือง 2 กิโลกรัม (6)หอยเซอร์รี่ 1 กิโลกรัม (7)ต้นกล้วย 40 กิโลกรัม (8)นมเปรี้ยว 1 ขวด

ขั้นตอนการทำหัวเชื้ออาหาร

นำวัตถุดิบทั้งหมดมาใส่ถัง 200 ลิตร ใบที่ 1 ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน (เมื่อเปิดดูจะพบว่ามีกลิ่นหอม ก็สามารถนำมาผสมกับน้ำได้) เตรียมต้นกล้วย 40 กิโลกรัม หั่นหรือสับให้ละเอียดแล้วเทลงในถัง 200 ลิตร ใบที่ 2 เติมน้ำสะอาดให้ท่วมต้นกล้วยที่หั่น ใส่น้ำหมักหัวเชื้อที่ได้จากการหมักลงไป 1 ลิตร คนให้เข้ากันทิ้งไว้ 2-3 วัน สามารถนำมาผสมกับอาหารสุกรได้

วัตถุดิบทำอาหารสุกร

1)ปลายข้าว/ข้าว 2)ผักขม 3)ผักตบชวา 4)ใบข่า 5)ใบกระทกรก 6)ใบกระพังโหม 7)ดอกงิ้ว 8)ลูกมะละหรือใบก็ได้ 9)ข้าวโพด 10)หัวมันสำปะหลัง 11)ต้นบอน 12)ผักปลังหรือผักโปแดงฉ้าย

ขั้นตอนการทำอาหารสุกร

นำวัตถุดิบทั้งหมดมาล้างให้สะอาด นำมาหั่นและต้มรวมกันในกระทะขนาดใหญ่ ต้มจนสุกแล้วนำต้นกล้วยที่หมักหัวเชื้อมาผสมกับอาหารที่ต้มสุก นำไปให้สุกรกินตามปริมาณที่กำหนด คือ สุกรแม่พันธุ์ 1 ตัว จะกินอาหาร 5 กิโลกรัม ต่อ 1 มื้อ และจะให้อาหารสุกร วันละ 2 มื้อ คือเวลา 07.00 น.และเวลา 16.00 น. จึงจะมีความเหมาะสม

หลังประสบความสำเร็จในการเลี้ยงสุกรด้วยสมุนไพร สามารถถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เกษตรกรนำไปขยายผลจากการเลี้ยงสุกรโดยสมุนไพรแล้ว ยังมีจุดสาธิตในการถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2556 ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ เพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นายประสงค์ วรรณมณี โทร.08-0496-2386 บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130

ที่มา : http://www.banmuang.co.th/

บทความที่เกี่ยวข้อง