กระท่อม-กัญชา เป็นยาวิเศษหรือยาเสพติดร้ายแรงในวัฒนธรรมไทย(ตอนที่ 1)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มีอาจารย์ฝรั่งชาวอเมริกันที่เป็นนักภาษาศาสตร์ระดับโลกคนหนึ่งชื่อ ดร.วิลเลียม เจ. เกดนีย์ เคยกล่าวว่าเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยทั้งหมดอยู่ในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”  เกดนีย์คือใคร คนไทยเดี๋ยวนี้คงไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ คนไทยย่อมรู้จักบ้าง เกดนีย์คนนี้แหละเป็นผู้เคยดูแลอุปถัมภ์จิตร ภูมิศักดิ์ในช่วงที่เขามาสอนหนังสือและทำวิจัยด้านไทยคดีที่เมืองไทยอยู่นาน จนได้ผู้หญิงไทยไปเป็นพจนานุกรมฉบับแนบกายกลับอเมริกาไปด้วย ฮา!

เรื่องราวของกระท่อม-กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวไทยและทหารไทยที่สอดแทรกอยู่มากมายในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ตอนขุนแผนประชุมพลยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่

“ครานั้นขุนแผนแสนศักดา           ดูท้องฟ้าเห็นจำรัสรัศมี

สบยามตามตำราว่าฤกษ์ดี           สั่งให้ตีฆ้องชัยไว้เดโช

ยกจากวัดใหม่ชัยชุมพล              พวกพหลพร้อมพรั่งตั้งโห่

พระสงฆ์ส่งสวดชยันโต               ออกทุ่งโพธิ์สามต้นขับพลมา

โห่ร้องฆ้องลั่นมาหึ่งหึ่ง              นายจันสามพันตึงเป็นกองหน้า

กองหลังสีอาดราชอาญา             พวกทหารสามสิบห้าต่างคลาไคล

บ้างคอนกระสอบหอบกัญชา         ตุ้งก่าใส่ย่ามตามเหงื่อไหล

บ้างเหล้าใส่กระบอกหอกคอนไป     ล้าเมื่อไรใส่อึกไม่อื้ออึง

บ้างห่อใบกระท่อมตะพายแล่ง       เงี่ยนยาหน้าแห้งตะแคงขึง

ถุนกระท่อมในห่อพอตึงตึง            ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกันฯ”

จะเห็นได้ว่ากองทัพไทยไม่ใช่เดินด้วยท้องเท่านั้น  แต่ต้องเดินด้วยกระท่อม-กัญชา ด้วยนะ อิ อิ.. เรียกว่า “คอนกระสอบหอบกัญชา…ตะพ่ายใบกระท่อม”  ชยันโตโห่เอาฤกษ์เอาชัยยกทัพออกมาจากวัดใหม่ชัยชุมพลกันเลย

หน้าที่ของใบกระท่อมในกองทัพนั้นชัดเจนอยู่แล้ว คือ ช่วยให้พลทหารมีเรี่ยวแรงเดินกลางแดดร้อนๆ เป็นกระบวนทัพไม่แตกแถวหรือทิ้งช่วงกัน  ดังกลอนว่า ” ถุนกระท่อมในห่อพอตึง ตึง ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกัน”

คำว่า”ถุน” ในพจนานุกรมราชบัณฑิตหมายถึง “เสพพอแก้ขัด” ไม่ได้เสพเอาจริงเอาจัง ซึ่งถ้าไม่ได้ “ถุนกระท่อม”เดินทัพ มีหวังหัวแถวกับหางแถวคงไปกันคนละทิศคนละทาง ฮา! ส่วนหน้าที่ของกัญชา ก็ตอนหยุดพักพลเสพคลายเครียดที่เหนื่อยล้าเดินทัพมาทั้งวัน

“ขุนแผนก็สั่งให้หยุดพัก ที่ล้าเลื่อยเมื่อยหนักก็นอนสลบ

บรรดาพวกพหลพลรบ    จุดคบกองไฟไว้เป็นวง

ลางคนหาเขียงหั่นกัญชา นั่งชักตุ้งก่าจนคอก่ง

บ้างมีแต่กัญชามานั่งลง    ผลัดกันหั่นส่งใส่ไฟโพลง

ที่ไม่มีขอซื้อสามมื้อสลึง     พอส่งถึงรับหั่นควันโขมง

อยากหวานเมางวงล้วงกระโปร่ง บ้างโก้งโค้งค้นหาพุทรากวน”

นี่ล่ะครับชีวิตทหารไทยย้อนยุค ซึ่งหาดูได้จากภาพทหารลิงดูดบ้องกัญชาตามฝาผนังวัดพระแก้ว แต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อุปกรณ์เสพกัญชาคลาสสิกกว่า คือเป็น”ตุ้งก่า”หรือหม้อสูบกัญชาของแขก อย่างแขกเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ในเรื่อง”ระเด่นลันได”ซึ่งนางประแดะคอยจุดชุดกัญชาที่เป็น”หม้อตุ้งก่า”ถวายผัว ดังกลอนว่า

“แล้วเชิญหม้อตุ้งก่าออกมาตั้ง   นางนั่งเป่าชุดจุดถวาย

ทรงศักดิ์ชักพลางทางยิ้มพราย โฉมฉายควั่นอ้อยคอยแก้คอ”

ขอสังเกตในที่นี้คือ กัญชาคู่กับของหวาน จึงไม่ต้องกลัวว่าจะสูบกัญชาเพลินจนขาดน้ำตาล แล้วแต่ว่าจะสะดวกของหวานแบบไหน จะเป็นอ้อยหรือพุทรากวนก็ไม่เกี่ยง ถ้าสมัยนี้ก็อาจจะใช้ลูกอมจูปาจุ๊ปส์หรือช็อคโกแลต แทนก็ได้ ฮา  แต่กัญชาไม่ใช่ว่าจะเสพติดกันง่ายๆ เพราะหลายคนก็คงไม่ชอบ เช่นมีบรรยายไว้ตอนพลายชุมพลจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวเป็นแขกชวากับจหมื่นศรีไปล่อจับเถรขวาดที่ทำเสน่ห์พลายงาม แผนขั้นแรกคือประเคนหม้อตุ้งก่าจุดกัญชาถวายพระ กะมอมกัญชาก่อน แต่พระแสบคอไม่เล่นด้วย

“สองแขกขยับจับตุ้งก่า             จ้าหลิ่มยัดกัญชาไฟจุดเข้า

สูบคนละจ้าหลิ่มทำยิ้มเมา         เถรเฒ่าว่าอะไรข้างในดัง

สองแขกว่าข้างในนั้นใส่น้ำ        เถรขวาดว่ามันทำเป็นอีฉัง

กูจะขอลองรสหมดหรือยัง          หยิบไฟเก้กังมาทันใด

สองแขกก็ยัดกัญชาส่ง               เถรชักคอก่งไม่ทนได้

แสบคอเป็นจะตายหงายหน้าไป  กูไม่เอาแล้วอย่าส่งมา”

พอแผนขั้นแรกคือมอมกัญชาจ้าหลิ่ม(พวยใส่ใบกัญชา)ไม่สำเร็จ แผนขั้นสอง คือมอมยาฝิ่น ปรากฏว่าเถรขวาดติดฝิ่นงอมแงม เผลอคายความลับอย่างลืมตัว ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมยาเสพติดในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องนี้ บอกเราว่า กระท่อม-กัญชา เสพติดยากกว่าติดฝิ่นกินเหล้าหรือติดหมาก และบุหรี่เสียอีก

มีตัวอย่างวรรณกรรมสะท้อนสังคมไทยให้เห็นว่าติดหมากขนาดไหน แต่ไม่ได้หมายว่า เหล้า กัญชา ยาฝิ่นเป็นของดี ตอนหน้ามาติดตามนะ.