เห็ดขี้ควาย บัญชียาเสพติดที่ฝรั่งนำไปจดสิทธิบัตร

 

 

 

 

 

นอกจากรอลุ้นปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแล้ว วันนี้ชวนผู้อ่านมาฟังเรื่องราวของสมุนไพรจากธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่จัดว่าเป็นยาเสพติดเหมือนกัญชา กระท่อม และยังเหมือนกันที่เป็นสมุนไพรตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยด้วย นั่นคือ เห็ดขี้ควาย

ประเทศไทยไม่ค่อยเหมือนใครในโลก กระท่อมก็จัดให้เป็นยาเสพติดจนปิดกั้นการค้นคว้าวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ เห็ดขี้ควายที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านนำมาเป็นยารักษาโรค แต่ก็จัดเป็นยาเสพติดให้โทษโดยผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกต้องจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,000 บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในบางประเทศมีการศึกษาวิจัยเห็ดขี้ควายกันนานแล้ว เช่น

การพัฒนายาจากเห็ดขี้ควายในอเมริกามีการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสารที่ได้จากเห็ด คือ ไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควาย ซึ่งจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 หรือ พ.ศ.2501 (เลขสิทธิบัตร US3183172A) ต่อมาในปี ค.ศ. 1981 หรือ พ.ศ.2524 มีการจดสิทธิบัตรในการพัฒนาสารสเคอร์โรเตีย (sclerotia) ซึ่งได้จากสารไซโรไซ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาจากสารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ด้วย นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างในต่างประเทศที่ให้ความสนใจการพัฒนาสารจากเห็ดขี้ควายเพื่อใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน และในปัจจุบันมีผู้พยายามพัฒนายาจากเห็ดขี้ควาย เพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อให้คลายเครียด ลดความซึมเศร้า

เห็ดขี้ความคืออะไร ที่เรียกชื่อเช่นนี้ก็เพราะเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่บนกองขี้ควาย แต่ต้องเข้าใจว่าเห็ดที่ขึ้นบนกองมูลสัตว์นี้มีอยู่หลายชนิด ในทางวิชาการได้แยกแยะไว้แล้วว่า เห็ดที่นำใช้ประโยชน์ คือ ชนิดที่อยู่ในสกุล Psilocybe เช่น Psilocybe cubensis, Psilocybe semilanceata, Psilocybe semilanceata, Psilocybe azurescens เป็นต้น

เห็ดขี้ควายชนิดที่พบได้ทั่วไปและนิยมนำมาใช้เป็นยากล่อมจิต คือ ชนิด Psilocybe cubensis เห็ดขี้ควายชนิดนี้มีทั้งเก็บมาจากธรรมชาติและเพาะเลี้ยง มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ magic mushroom เป็นเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาท พบได้ตามกองขี้ควายแห้ง จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดชนิดนี้ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ หมวกดอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ทั้งดอกมีสีอ่อน แต่กลางหมวกมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่น ๆ ใต้หมวกดอกมีลักษณะเป็นครีบ มีสีน้ำตาลดำ บริเวณก้านใกล้กับหมวกดอกมีวงแหวนปรากฏอยู่

ในอดีตนานนับพันปี กลุ่มคนที่อยู่ในอเมริกาเหนือใช้เป็นยากล่อมประสาท ทำให้เกิดการฮึกเหิม มีความกล้าออกไปสู้ศึกสงคราม ในระยะต่อมาได้มีการนำมาใช้เป็นยาระงับประสาท และในตำรายาไทยก็มีการกล่าวถึงด้วยว่า มีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย หมอไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือนอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์

ที่สำคัญยิ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่าง ๆ มากกว่า 20 ตำรับ ที่มีการปรุงยากันมากได้แก่ตำรับยาแก้ไข้หมากไม้ (ไข้ที่เป็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มักเป็นในช่วงที่มีผลไม้ออกมาก ๆ ไข้ชนิดนี้เมื่อเป็นแล้วห้ามทานผลไม้) ยกตัวอย่างยาแก้ไข้หมากไม้ ให้เอาเห็ดขี้ควายปิ้งให้แห้ม (เกรียม) ฮากข้าว ฮากแตงกัว (แตงกวา) ฝนกินดีแล

ยารักษาโรคผิวหนัง ที่มีการใช้เห็ดขี้ควาย เช่น ยาออกสุก (เป็นอีสุก อีใส) ตุ่มบ่ขึ้น (ตุ่มไม่ออก) ให้เอา ไข่เป็ด 1 เห็ดขี้ควาย 1 ทาดีแลฯ หรืออีกตำรับให้ใช้ ฮากแค้งขม (มะแว้ง) เห็ดขี้ควาย ขนบั่วไก่ขาว (ขนอ่อนของไก่ชี) ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม ทาดีแล ย่าฆ่าตุ่ม (เมื่อเป็นไข้หมากไม้ ต้องมีตุ่มออกมาลำตัว) ให้เอา เห็ดขี้ควาย ยางแมงวัน (ยางจากต้นมะม่วงหัวแมงวัน) มาขั้ว (ใส่กระเบื้องหรือกระทะตั้งไฟให้ร้อน แล้วคนไปจนสุกหรือเกรียม) สมกัน(ผสมกัน) ทาดีแลฯ ยาลวงแก้วตาควาย (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนตาควาย) ให้เอา เห็ดขี้ควาย 1 คาบงู 1 เอาเถ้าเขาควายขาด เผาดอม(ด้วย)กันใส่ดี

ในท้องถิ่นอีสานบ้านเฮานั้น เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ เคยมีการนำมาใส่ในอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกิน แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ที่กินหรือสูบเข้าไปปริมาณมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน เห็นภาพและแสงต่าง ๆ มีลักษณะอาการคล้ายกับเสพแอลเอสดี สารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอนคือสาร ไซโลไซบิน (Psilocybin) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่คล้ายสารเซอโรโทนิน (Serotonin) แล้วสารตัวนี้ไปทำให้ไปรบกวนการทำงานของเซอโรโทนินที่เป็นธรรมชาติในร่างกายเรา ที่ทำให้คนที่กินเข้าไปควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ อาจแรงถึงทำให้มีอารมณ์ก้าวร้าวและฆ่าตัวตายได้ มีการประมาณการว่า กินขนาดที่ทำให้เกิดพิษได้ คือ กินหรือเสพมากกว่า 15 ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป 1-4 กรัม

แต่ในปัจจุบันสารไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควายที่ทำให้มึนเมาประสาทหลอนนี้ ถูกนักวิจัยต่างชาติจดสิทธิบัตรไว้ในประเทศของเขาแล้ว แต่ในประเทศไทยทางมูลนิธิสุขภาพไทยกำลังตรวจค้นดูว่า มีการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรไปหรือยัง ถ้ามีการอนุญาตก็จะเกิดคำถามคำโตเช่นกัญชาว่า รับจดไปได้อย่างไร ในเมื่อเห็ดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ และเป็นความรู้ที่ใช้บำบัดรักษาโรคดังได้ยกตัวอย่างไว้แล้ว ซึ่ง พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2552 ไม่คุ้มครอง ผู้นิยมสมุนไพรต้องช่วยกันติดตามคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยให้ดี ขณะนี้ต่างชาติกำลังพัฒนายาจากเห็ดขี้ควายเพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และเพื่อเป็นยาคลายเครียด ลดความซึมเศร้า

สารไซโรไซบินและไซโรซินจะเป็นสารเสพติด แต่ถ้าดูจากความรู้การใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ตัวเห็ดขี้ควายทั้งดอกไม่ใช่สารเสพติด หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องน่าจะมาช่วยกันเร่งเก็บและจัดระบบความรู้ ทำการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง อย่าให้ต่างชาติหยิบฉวยไปใช้ได้ง่ายๆ  หวังว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีส่วนช่วยทำให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว.