กัญชา เมาและไม่เมา


     ประวัติศาสตร์จดจำวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กัญชา ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านนั้นถือว่าเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการศึกษาและการใช้เพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ
     แต่สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ถึงความห่วงกังวลและผลกระทบในช่วง “สุญญากาศ” ยังไม่มีกฏหมายเป็นการเฉพาะที่จะรับมือกับสถานการณ์กิจกรรมสันทนาการ และการบริโภคเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร คนที่ไวหรือแพ้กัญชา รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่จะได้รับอันตรายได้ 
     ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในเวลานี้พอจะสรุปได้อย่างเป็นทางการตามคณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในเวบไซต์ https://www.medcannabis.go.th ระบุว่า 6 โรคหรือภาวะอาการโรค ที่สารกัญชามีประโยชน์ในการรักษา โดยมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนชัดเจน 1)ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด 2)โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3)ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล 4)ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 5)ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีน้ำหนักน้อย 6)การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต และมีอีก 4 กลุ่มโรคหรือภาวะโรค ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสารกัญชา แต่ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง) และโรคอื่นๆ ที่จะมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการต่อไป

ปัจจุบันในการแพทย์แผนไทย ตำรับยากัญชาที่ได้รับประกาศในรายการยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสามารถเบิกได้โดยคนไข้ไม่ต้องจ่าย มี 8 รายการ ซึ่งเป็นตำรับยาแผนไทย 3 รายการ คือ ยาแก้ลม แก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ และที่เป็นรูปแบบยาน้ำมันกัญชา 5 รายการ เช่น ยาน้ำมันกัญชาที่มี CBD : THC (1:1) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวด ยาน้ำมันกัญชาที่มี CBD : THC (20:1) ในผู้ป่วยลมชักรักษายากด้วยยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในทางยาพื้นบ้านก็มีการเก็บสำรวจประโยชน์ทางยากันมาก เช่น การเก็บข้อมูลจากตำราหรือคัมภีร์โบราณของภาคใต้ สำรวจสืบค้นเอกสารที่ภาคใต้เรียกว่า “หนังสือบุด” โดย อ.ชัยวุฒิ พิยะกุล, อ.เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ, อ.เกรียงไกร บรรจงเมือง, อ.มาณี แก้วชนิด และอ.สมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย รวมไว้ในหนังสือ 108 ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้ ที่คววรนำมาศึกษาวิจัยเพื่อการแพทย์ ขอยกยาแก้เบื่ออาหาร ชื่อไพเราะว่า“เสน่ห์ข้าว””พบในตำราฉบับกำนันนิยม หาญชนะ ที่จ.กระบี่ ซึ่งตำรับยาเหมือนกับที่พบในตำรับยาที่อื่นคนละสถานที่ แต่มีตัวยาตรงกัน ได้แก่ เอาคนทีสอ 1 ลูกตูม 1 ใบกัญชา 1 บอระเพ็ด 1 ตำผงน้ำผึ้งรวงเป็นกระสายทำแท่นไว้เท่าลูกพุทธากินแล
มูลนิธิสุขภาพไทยสนับสนุนการใช้เพื่อการแพทย์ แต่ระหว่างรอลุ้น ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่จะมีเนื้อหาสาระทั้งส่งเสริมและป้องกันผลกระทบหรือไม่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีกฏหมายเฉพาะมาดูแลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างชัดเจน เสมือนให้ทุกคนมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบกันเองในครอบครัว ชุมชน สังคม ดังนั้นขอทำความเข้าใจด้วยว่า “สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้” หรือ “คุณอนันต์ โทษมหันต์” เช่นกัน
กัญชาเป็นพืชแปลก มีทั้งสารที่เรียกว่า “สารเมาและติดได้” หรือ THC และ “สารไม่เมาหรือต้านเมา และไม่ติด” หรือ CBD ทั้งสารเมาและไม่เมา มีประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น สารเมา-THC การนำมาเป็นยาแก้ปวด แก้นอนไม่หลับ แก้เบื่ออาหาร แต่ต้องระวังถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เสพติดได้และมีผลต่อจิตประสาทด้วย สำหรับสารไม่เมา- CBD นำมาใช้แก้อาการอักเสบ อาการชัก แก้วิตกกังวล ฯลฯ แต่จะใช้พร่ำเพรื่อมากมายก็ไม่ได้ ต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย
การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพสำคัญเช่นกัน จะให้บรรลุผลดีต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง รู้จักใช้พืชสมุนไพรให้กระจ่าง ถูกต้น ถูกส่วน วิธีปรุงยาไม่ผิดเพี้ยน ปริมาณหรือวิธีการกินก็ต้องถูกต้องไม่น้อยไปมากไป และควรรู้ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ด้วย ขึ้นชื่อว่า“ยา”ต้องใช้ให้เหมาะสม และโดยเฉพาะ “ยากัญชา” ไม่ใช่ยาวิเศษที่ยิ่งใช้ยิ่งดีแต่ต้องใช้ให้พอดี และในความเป็นจริงพบว่าคนไข้หลายรายก็ใช้ไม่ได้เพราะแพ้กัญชา
ในวงของอาหารที่มีความคาบเกี่ยวกับอาหารสุขภาพหรือจะเรียกกัญชาเป็นอาหารสมุนไพรด้วยนั้น ขอให้ตระหนักในสารเมาและสารไม่เมาด้วย โดยเฉพาะการปรุงอาหารกินเองหรือเลี้ยงในหมู่คณะ มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 9 มิ.ย.และไม่ได้อยู่ในระบบรายงานของกระทรวงซึ่งน่าจะมีลักษณะนี้จำนวนพอสมควร เช่น แม่ครัวนึกว่าไม่มีผลเสียก็ซอยใบกัญชาผสมในอาหารข้าวยำ ที่แต่ดั้งเดิมเมนูเช่นนี้ไม่มีการใส่กัญชา ผลคือมีผู้ที่แพ้และไวต่อกัญชามีอาการใจสั่น หายใจลำบาก คุณป้าอีกคนกินแกงใส่กัญชาแล้วง่วงซึมอยากนอน ดีที่ไม่ได้ขับรถ เป็นต้น ใครที่แพ้หรือเมากัญชาให้แก้แบบเร่งด่วนเหมือนแก้เมาเหล้า กินของเปรี้ยวๆ เช่น น้ำมะนาว บ๊วย มะขามเปรี้ยว และแนะนำกินชารางจืดแก้เมาด้วย
คำปรารถนาดี (คำเตือน) ที่ใช้ในรูปแบบยาหรืออาหาร ผู้ไม่ควรใช้ คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด เคยมีอาการแพ้กัญชาแล้ว หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้ที่กำลังกินยาวาร์ฟาริน(WARFARIN) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ผู้ที่เคยมีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้สูงอายุก็ต้องระมัดระวังใช่ว่าจะเป็นยาบำรุงสำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต
เราควรมาช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ขอเรียกว่า New Norm เกี่ยวกับการใช้กัญชา เช่น ร้านอาหาร เมนูอาหาร เปิดเผยสง่างามประกาศว่าใส่หรือไม่ใส่กัญชาเพื่อให้ผู้บริโภครู้และตัดสินใจ ใครที่กินกัญชาต้องตระหนักว่า ไม่ควรขับรถเพราะสารออกฤทธิ์จะเกิดขึ้นหลัง 2- 3 ชั่วโมง แม้ว่าบางรายอาจไม่มีผลก็ตามแต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ และไม่นำเอาส่วนช่อดอกและใบที่ติดช่อดอก มาใช้ปรุงอาหารเพราะมีสารเมาสูงมีผลกระทบสูง เป็นต้น และควรมีมาตรการอื่นๆ ที่เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่
กัญชาไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารออกฤทธิ์ในกัญชามีผลต่อจิตประสาทและชวนให้เคลิบเคลิ้มยึดติดกับความสุขเช่นนี้ ด้วยความอยากรู้อยากลองที่มีในตัวมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น ก็อาจนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพและจิตประสาท มาช่วยกันสร้าง New Normal บริโภคกัญชาด้วยกันดีกว่า.

บทความที่เกี่ยวข้อง

สร้างของเล่นพัฒนาเด็กพิการ‬

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

การเล่นเป็นกระบวนการการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา แ […]

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ ก […]

ห้ามใช้ “มือถือ-แอปฯ” เลี้ยงลูกต่ำกว่า 3 ขวบ สมองไม่จัดลำดับเรียนรู้

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

พญ.พรรณพิมล วิปุรากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจ […]