ห้ามใช้ “มือถือ-แอปฯ” เลี้ยงลูกต่ำกว่า 3 ขวบ สมองไม่จัดลำดับเรียนรู้

พญ.พรรณพิมล วิปุรากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อแม่มักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงดูลูก เช่น โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น แทนการให้ลูกเล่นของเล่นต่างๆ เพราะเข้าใจว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็ก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ควรเลี้ยงลูกโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าช่วยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา เนื่องจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ลูกเล่น ลูกจะใช้ได้เพียงแต่นิ้วมือในการวาดบนหน้าจอไปมาเท่านั้น แต่สมองไม่ได้จัดลำดับการเรียนรู้ อย่างช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า เด็กไทยมีปัญหาเรื่องภาษา ในกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า พบว่า ร้อยละ 50 เป็นความบกพร่องด้านภาษา

“เด็กช่วงวัยนี้จะเรียนรู้ภาษาจากการอ่านปากของพ่อแม่ หรือคนปกติ แต่การให้ลูกเล่นเทคโนโลยีแทนนั้น ตรงนี้จะมีภาษาเฉพาะของแต่ละเทคโนโลยีหรือโปรแกรมที่ใช้ ทำให้เด็กมีความบกพร่องหรือพัฒนาการล่าช้าในด้านภาษา ดังนั้น ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้ภาษาจากการอ่านปากหรือฟังภาษาจากเทคโนโลยีจะทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความอดทนของเด็กด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถลบสิ่งผิดพลาดแล้วทำใหม่ได้ กดปุ๊บมาปั๊บ ทำให้เด็กเข้าใจว่าในชีวิตจริงสิ่งผิดพลาดสามารถลบทิ้งได้ง่าย ทั้งที่ไม่ใช่ และไม่รู้จักรอ” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมพัฒนาการเด็กได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยต้องใช้ร่วมกับพ่อแม่ และจำกัดเวลาการใช้เพียงวันละไม่เกิน 30 นาที ซึ่งถือว่าใช้เวลามากแล้วสำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรเลือกแอปลิเคชันหรือโปรแกรมที่ให้เด็กใช้เทคโนโลยีที่มีการพิสูจน์แล้วว่ามีความเหมาะสมสำหรับเด็กและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เช่น โปรแกรมจับคู่สี หรือรูปภาพ และให้เด็กได้เล่นของเล่นต่างๆ ที่ฝึกพัฒนาการ หรือออกไปเล่นข้างนอก ได้สัมผัสพื้นดิน สิ่งต่างๆ ก็จะช่วยเสริมพัฒนาการทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย สำหรับกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการบกพร่องก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเสริมเรื่องการใช้ภาษาให้มีการพัฒนามากขึ้น แต่เป็นไปตามความเหมาะสมและจำเป็นของเด็กแต่ละคน

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 ม.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง

สร้างของเล่นพัฒนาเด็กพิการ‬

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

การเล่นเป็นกระบวนการการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา แ […]

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ ก […]

5 แนวทางเป็นพ่อที่ดีของลูก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเลี้ […]