การดูแลแม่หลังคลอด : การอยู่ไฟ (3)

ตอนนี้ อุปกรณ์พร้อมแล้ว…เราไปเตรียมตัวอยู่ไฟร้อนกันค่ะ
เตรียมแคร่หรือสะแนนให้พร้อมและจัดหาฟืนให้มากพอกับที่จะอยู่ไฟ
อาบน้ำให้แม่ลูกอ่อนโดยใช้น้ำอุ่นจัด นำผ้าถุงมาพับแล้วเอาเกลือใส่แล้วใส่น้ำตามลงไปเพื่อให้เกลือละลาย จากนั้นให้แม่ลูกอ่อนนั่งทับผ้าที่ห่อเกลือเพื่อรักษาแผล
ก่อนจะเข้าอยู่ไฟ ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สบายตัว เช่น ใส่เสื้อผ้าฝ้ายกับผ้าถุงหรือกางเกงหลวมๆ
ผู้ทำพิธีจะเป็นผู้เฒ่าที่เชี่ยวชาญการทำพิธี การทำพิธีนี้เรียกว่า “ผาบพิษไฟ” เพื่อป้องกันไม่ให้แม่ลูกอ่อนรับอันตรายจากไฟ จากความร้อน

เมื่อทำพิธี “ผาบพิษไฟ” ให้แม่ลูกอ่อนนั่งบนแคร่หรือสะแนนแล้วเอาผ้าดำคลุมศีรษะ จากนั้นเอาเกลือใส่ในกองไฟ ให้แม่ลูกอ่อนโดนควันไฟ เพื่อให้ไอความร้อนรักษาอาการตาฟาง…เป็นอันเสร็จพิธีการเข้าอยู่ไฟร้อน

การอยู่ไฟที่ดีต้องให้คุณแม่หันหน้าเข้าหาไฟ เพื่อให้ไอความร้อนโดนบริเวณหน้าอก หน้าท้อง
แล้วเราต้องอยู่ไฟนานกี่วัน….ไม่ต่ำกว่า 7 วัน  นานที่สุด 29 วัน
การอยู่ไฟร้อนมีหลักปฏิบัติอยู่ว่า

แม่ที่คลอดลูกคนแรก อยู่ไฟ 15 วันขึ้นไป

แม่ที่คลอดลูกคนที่สอง อยู่ไฟ 13 วันขึ้นไป

แม่ที่คลอดลูกคนที่สาม อยู่ไฟ 11 วันขึ้นไป

แม่ที่คลอดลูกคนที่สี่หรือคนสุดท้อง อยู่ไฟ 9 วัน

การอยู่ไฟจะลดลงเรื่อยๆ จากมากไปหาน้อยเป็นจำนวนเลขคี่และลดลงตามจำนวนลูกที่เกิดไปเรื่อยๆ ไม่ต่ำกว่า 7 วัน
ลูกที่เกิดทีหลังก็คือ คนเป็นน้อง…แม่จะต้องอยู่ไฟจำนวนวันน้อยกว่าคนพี่ มีความเชื่อว่า ถ้าแม่อยู่ไฟนานกว่าคนพี่…น้องจะไม่เชื่อฟังพี่ น้องจะข่มเหงรังแกพี่
ถ้าแม่อยู่ไฟตามวันที่กำหนดที่พี่และน้อง  เชื่อว่า พี่จะดูแลน้อง ช่วยสอนน้องและน้องจะเชื่อฟังพี่ …
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องของความเชื่อ การที่พี่จะดูแลน้อง หรือน้องไม่เชื่อฟังพี่…ก็อยู่ที่การเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนด้วยนะคะ

อาหารสำหรับแม่ลูกอ่อนขณะอยู่ไฟควรกินอาหารแบบไหน?
เราเคยได้ยินกันว่า ควรกินแกงเลียงบ้าง กินหัวปลีบ้างล่ะ นอกจากนี้กินอะไรได้อีกบ้าง?
อาหารที่เหมาะกับแม่ลูกอ่อนต้องเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เป็นอาหารอ่อน ไม่มีกลิ่นฉุน รสไม่จัดโดยเฉพาะรสเผ็ดและรสเค็ม เพราะอาหารที่แม่กินจะส่งผลต่อน้ำนมที่ลูกกิน
อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์กินอะไรได้บ้าง เช่น ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาหมอ ไก่ กบ เขียด เป็นต้น
ถ้าเป็นจำพวกผัก เช่น ผักขจร มะเขือต้ม ใยกระเทียม ปลีกล้วย หน่อข่าอ่อน มะยม ใบกระเพรา รวมไปถึงผักพื้นบ้าน ผักตามฤดูกาลบางชนิด
ตรงนี้สำคัญมาก…ในขณะที่แม่ลูกอ่อนอยู่ไฟต้องดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเท่านั้น ห้ามกินน้ำเย็น!!

อาหารต้องห้ามสำหรับแม่ลูกอ่อนขณะอยู่ไฟ…มีหลายอย่าง อาจจะต้องกาดอกจันไว้เลย
ประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ปลานวลจันทร์ ปลาจีน ตะพาบน้ำ เต่า ปลาสูด ปลาบู่ ปลากาดำ ปลาเค้า ปลาชะโด อึ่ง แมงดา นกเขา นกคุ่ม นกกระทา เป็ดเทศ เป็ดขาว ไก่งวง กระต่าย เก้ง ควายเผือก ตะกวด หนูทุกชนิด พังพอนและอีเห็น

ประเภทผัก…แน่นอนเลยว่าต้องห้ามผักที่มีกลิ่นฉุน ก็คือ ชะอม  กุ้ยช่าย มะละกอก้านสีม่วง มะระขี้นก ผักเสี้ยน สะเดา ขนุน ผักปัง ผักแว่น ข้าวดำทุกชนิด หน่อไม้ ผักแขยง

ไม่ควรกินไข่ทุกชนิด โดยเฉพาะไข่เป็ด ไข่ห่าน เพราะถ้าแม่ลูกอ่อนกินเข้าไปจะทำให้แผลหายช้า รอยแผลเป็นเส้นนูนหนาเป็นสันขนาดใหญ่
แต่ๆๆ!! คุณผู้อ่านคะ คุณหมอที่โรงพยาบาลจะแนะนำว่า คุณแม่หลังคลอดทั้งคลอดปกติและผ่าตัดคลอด รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีแผลตามร่างกายควรกินไข่ และเนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งพืชตระกูลถั่ว ก็คือ อาหารที่เป็นโปรตีน
กินแล้วช่วยให้แผลหายและแห้งเร็ว มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
เราอาจจะต้องกินไข่แต่พอดี ไม่กินมากเกินไป แผลอาจจะนูนได้

ไข่ขนาดกลางหนึ่งฟอง มี 62 แคลอรี เป็นแหล่งที่มีวิตามินสูงเกือบทุกชนิดได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี  ยกเว้นวิตามิน C
ไข่เป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ไอโอดีน ฟอสฟอรัส สังกะสี ซีลีเนียม และ แคลเซียมมีธาตุเหล็กและโฟเลตสูง เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อใช้ในการในการสร้างเม็ดเลือด
ไข่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก

โพสต์หน้าเราจะออกจากการอยู่ไฟ…เราเรียกว่า การออกไฟ
เราต้องทำอย่างไร  ออกไฟได้เลยมั้ย จะต้องมีพิธีกรรมใดๆ บ้าง?

รออ่านโพสต์หน้านะคะ

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน  #คนท้อง   #สมุนไพรไทย   #อยู่ไฟ   #หมอตำแย  #อยู่ไฟไทบ้าน

#หมอพื้นบ้าน  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน  #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.