การเรียนรู้ของหมอพื้นบ้าน (จบ)

การเรียนรู้ของหมอพื้นบ้านแบบเดิมจะเป็นแบบ “จำให้ขึ้นใจ ท่องได้ มีสมาธิในการปฏิบัติ”
ถ้าจะอธิบายขยายความก็คือว่า…

มีความตั้งใจในการเรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติและติดตามครู
การท่องจำเป็นวิธีสำคัญและจดจำให้แม่นยำ ในสมัยก่อนจะแต่งเป็นบทกลอนเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น
มีการสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน ให้เห็นรูปร่างลักษณะตลอดจนรู้เห็นการเปลี่ยนแปลง
เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว เข้าใจกฎแห่งความสมดุลและการเปลี่ยนแปลง
เรียนจากการปฏิบัติ ช่วงแรกเรียนกับครู ต่อไปเรียนรู้ด้วยตนเองและสรุปบทเรียน
ค้นคว้าหาอ่าน จดจำและทดลองทำจากตำราต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นภาษาธรรมและภาษาถิ่น
หากมีโรคและความเจ็บป่วยใหม่ๆ เกิดขึ้น หมอจะทดลองเปลี่ยนแปลงแล้วเรียนรู้

เราอาจจะสรุปได้ว่า …

การเรียนรู้แบบเดิมมีความจำเป็นอยู่  และมีจุดเด่นอยู่ที่การกำกับวิถีปฏิบัติและคุณธรรม
การเรียนรู้ในวิถีใหม่มีการจัดกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน  ซึ่งเป็นการแบ่งปันความรู้ของหมอแต่ละคน และจะช่วยเสริมทักษะความชำนาญของหมอพื้นบ้านด้วย

มีหลายคนสงสัยว่า หมอพื้นบ้านนี้เป็นหมอที่มีความรู้จริงๆ เหรอ?
กรณีชมรมการแพทย์แผนไทยวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เมือง ความเจริญและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าถึงทุกครัวเรือน

ความรู้ของหมอพื้นบ้านยังคงอยู่หรือ?

จริงอยู่ที่หมอพื้นบ้านอาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง
แต่ความเป็นหมอพื้นบ้านนั้นอยู่ในวิถีชีวิต ความเป็นหมอพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกไม่ออก
ความรู้ที่มีอยู่กับตัว  ใครมาขอให้ช่วย..หมอพื้นบ้านก็ช่วย โดยไม่มีข้อแม้ ช่วยโดยไม่เรียกร้องค่ารักษา
แอดมินเคยมีประสบการณ์กับการรักษาหมอพื้นบ้าน
เป็นความจริงอย่างที่หมอสง่าพูดว่า  การรักษากับหมอพื้นบ้านต้องใช้เวลา รักษาอย่างต่อเนื่อง
และก็รักษาหายจริงๆ

หมอพื้นบ้านค้นคว้าหาความรู้และยังเป็นผู้สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆจากฐานความรู้เดิมได้อีกด้วย

นอกจากหมอพื้นบ้านมีความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตแล้ว ยังไปเชื่อมโยงทัศนะการมองโลกมองชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทัศนะเรื่องความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ และความสัมพันธ์ของครู พระเจ้าและกฎแห่งกรรม

นั่นเป็นที่มาความรู้ของการแพทย์พื้นบ้านเน้นความสัมพันธ์แบบแบ่งปัน ไม่แข่งขัน ไม่ทำการค้าแสวงหากำไร
ความรู้ของหมอพื้นบ้านนำมาใช้ช่วยเหลือบำบัดรักษาความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #หมอพื้นบ้าน  #หมอสมุนไพร   #ภูมิปัญญา