ยาแก้ ภูมิปัญญาของล้านนา

 

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วีถีชีวิตมีจุดเด่นและสวยงามไม่เหมือนกันทั้งภาคเหนือ อีสาน กลางและใต้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพก็มีทั้งคล้ายและต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน แต่ให้ผลในการดูแลสุขภาพของคนได้ดีในท้องถิ่นตนเอง และยังขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆได้ด้วย ตัวอย่างตำรับยาของชาวล้านนา มียาที่เรียกว่า ยาถีบ และยาแก้

ยาแก้ เข้าใจง่าย ๆ ก็หมายถึงใช้รักษาหรือแก้โรคและอาการต่าง ๆ นั่นเอง แต่ก็มีอะไรที่ลึกซึ้งในการเรียกของชาวล้านนา ลองดูไปทีละตัวอย่าง เช่น มีชื่อเรียกยาแก้มากมาย ยาแก้หลิ้ม แก้ไข้ แก้ไข้เด็กเป็นพิษ แก้คนสูบฝิ่น แก้ง้วนสาน แก้เจ็บตาสรรพะ เจ็บปาก ตาลขโมย ท้องร่วง แก้ทางใน (ภายในร่างกาย) แก้นิ่ว แก้เบื่อ (ถูกสารพิษ โดยบังเอิญ) ปวดฟัน ปาก ลิ้นเปื่อย ฝีในท้อง ฝีในลำคอ ฝีภายใน พรรดึก พิษไข้ พิษงู พิษงูสะป๊ะ พิษตุ่มลี้ พิษผีเกี่ยวผีและพิษสะป๊ะ พิษฝี พิษสะป๊ะ ยาแก้สะป๊ะพิษ พิษสาน มะโหก มะโหกลงลึงค์ แม่กั๋มเดือนกินผิด (หญิงอยู่ไฟที่กินอาหารผิดสำแดง) ร้อนจะใคร่ให้เย็น รากสาก รำมะนาดฟัน ริดสีดวงเลือด ลงท้อง ลมทุกชนิด ลมสาน (ก้อนที่เกิดภายในร่างกาย) ยาแก้สาน ละอ่อนเปี้ย (ร่างกายไม่แข็งแรง) ลากสาด เลือดจมูกตก เลือดลม สันนิบาต เส่า (หืด) หนองใน หมาบ้ากัด หืด เหน็บชาและบวม อหิวาต์ ไอลม ไอวัณโรค ไอสาน (ก้อนเนื้อในร่างกาย) และไอเสลด ฯลฯ

ยาแก้โรคและอาการเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นการใช้ภูมิปัญญาล้านนาครอบคลุมการดูแลสุขภาพได้กว้างขวาง ยิ่งกว่านั้นยังมียาแก้ที่มีชื่อเฉพาะ ที่มักจะหมายถึงยาซึ่งใช้แก้ได้หลายโรคหรืออาการ เช่น ยาแก้สรรพะ ตัวอย่างตำรับยาแก้สรรพะ เอาป้งกอก (ปมตามต้นหรือรากของมะกอกป่า) หัวจักไค (ตะไคร้) ใบมะน้ำ (ใบของต้นน้ำเต้า) ใบหมากกล้วยแก๋ว ใบปิ้งสมุด (ปิ้งสมุทร) ใบมะก้อ (ทับทิม) แง่งหญ้าปากควาย (หัวหญ้าปากควาย) กล้วยตีบดิบ ข้าวเจ้าสาร เอาเท่ากัน ตำปั้นเป็นลูก แล้วเอายาแก้ ห้าต้นตัด (เป็นยาอีกชนิดหนึ่งใช้แก้ได้หลายอาการ) นำมาเป็นตัดยา หรือเพิ่มเติมเข้าในตำรับยา เพื่อเสริมการรักษาโรค ปรับยาให้สมดุล หรือให้มีรสสุขุมขึ้น
ตัวอย่าง ยาแก้ห้าต้น มีหลายขนานแต่ยกตัวอย่าง เช่น มีส่วนประกอบ คือ หมูป่อย (Nyctocalos brunfelsiiflora Teijsm.& Binn.) แตงเถื่อน (Melothria affinis King) หนาดใหญ่ (Blumea balsamifera (L.)DC) บอระเพ็ด (Tinospora crispa (L.)Hook.f.&Thomson) เนระพูสี (Tacca chantrieri André)

โรคหรืออาการไม่สบายนั้น บางครั้งเกิดจากพิษจึงจำเป็นต้องแก้พิษ แต่พิษมีหลายชนิด ตำรับยาแก้พิษในล้านนาจึงมีมากมาย เช่น พิษจากการกิน พิษจากง้วน (สารพิษจากดิน) หรือพิษจากยำ (สารพิษที่มาทางน้ำ) หรือแตะต้องสารพิษโดยบังเอิญจากสารพิษ หรือพิษมาจากผีปีศาจตามความเชื่อท้องถิ่น ตัวอย่าง ยาแก้พิษสรรพะ เอาตึ่งเครือคำ สุรพิษคำ (จุลพิษดำ) หนาดคำ มะลิซ้อน ปิดเต๊าะ แคว้งเผือก เลงช่อน (เท้ายายม่อม) จันทน์แดง ฝากขี้เหล็ก (กาฝากไม้ขี้เหล็ก) รากดีด ฝากผักหละ (กาฝากชะอม) ยังมีตำรับยาที่เรียกว่า ยาแก้เบื่อ ซึ่งน่าจะหมายถึงแก้เบื่อเมา แก้ของของแสลงและสารพิษที่กินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ตัวอย่างตำรับ ยาแก้เบื่อ เอา ตึ่งเคือคำ หัวหนาดคำ ฝูงคอบ เหมือดคน ปิ๊ตเต๊าะ ต๋ากอก (ตาของมะกอกป่า) กัน (หาก) เบื่อจิ้นป๋า (ถูกสารพิษมาจากปลา) จะใช้ไม้ปุงตัด เบื่อผัก ใช้ตาลเหลือง (ต้นตาลเหลือง) กินเห็ดพิษ ฝนหัวเต่าตัดกิน

ยาแก้พิษที่โด่งดังรู้จักกันดีในหมอพื้นบ้านหรือผู้รู้ของล้านนา คือ ยาแก้คำตังห้า (ยาแก้มีชื่อว่า คำทั้งห้า) ท่านให้เอาก่าหัวคำ (ลูกมะค่า) 1 หนาดคำ 1 อองเต่าคำ 1 (กระดอองเต่าเหลือง) สุระปิ๊ดคำ 1 ตึ่งเครือคำ 1 ฝนใส่น้ำ ถ้ากินจิ้น (เนื้อสัตว์) เนื้อผิด ให้เอาเขี้ยวเสือฝนตัด (ใส่ลงไปเล็กน้อยเป็นกระสาย) กินหน่อไม้ผิด เอาเขี้ยวอ้นฝนตัด กินผักต่างๆ ผิด เอางาช้างดิบฝนตัด กินผลไม้ต่างๆ ผิด เอาเขี้ยววอกค่างฝนตัด กินเห็ดต่างๆ ผิด เอาอองเต่าฝนตัดกิน หายสบายดีแลฯ (เป็นความรู้โบราณที่ใช้ส่วนของสัตว์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสัตว์สงวนคงไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว )

โรคการระบาดที่เกิดในปัจจุบันกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของล้านนามีความต่างกัน ในอดีตเรียกโรคระบาดว่าเป็น โรคห่าและอุบาท ห่าระบาดมักได้แก่อหิวาตกโรค เกิดได้ทั้งคนและสัตว์ แต่การระบาดในอดีตก็อาจจะเกิดกับโรคอื่นได้ ส่วนอุบาทมักเป็นการระบาดที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องกับสิ่งเหนืออำนาจ เช่น เจ้าที่เจ้าทางจึงมีผลต่อสุขภาพ แต่ทางล้านนาไม่มีสูตรยารักษาโรคเหล่านี้โดยตรง แต่ใช้ยาแก้ และยาถีบ ในกรณีรักษาโรคระบาด รวมไปถึงใช้กับโรคเกี่ยวกับฝี ตุ่มหนอง หรือเป็นอีสุกอีใส หัด ก็ใช้ยาแก้ และยาถีบ ที่ช่วยในลักษณะแบบกระทุ้งพิษ เหมือนตำรับยาตักศิลาที่ช่วยขับพิษออกมาจึงจะหมด ตัวอย่าง ยาถีบ เช่น ยาศรีมูลหลวง ประกอบด้วย มะห่อย (มะระ) แห้วหมู เครือเขารอ (บอระเพ็ด) ผีเสื้อน้อย (คนทีสอ (Vitex trifolia Linn.) พริกน้อย (พริกไทยดำ) หัสสคึน ฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง, Eclipta prostrata L.) และ ยาแก้คำทั้ง 5 ดังกล่าวมาแล้วได้แก่ กระดองเต่าเหลือง สุรพิษคำ (จุลพิษดำ) ตึ่งเครือคำ (ตูมกาเครือ) หนาดคำ (Inula cappa (Buch.-Ham. ex D.Don) DC.) และมะค่าหัวคำ (Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib)

อาจารย์พาณี ศิริสะอาด อาจารย์จากเชียงใหม่เล่าให้ฟังว่าเคยสัมภาษณ์หมอพื้นบ้าน พ่อหมออินสม สิทธิตัน (หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ) ให้ความสำคัญกับยาแก้ ยาถีบ เพราะช่วยขับพิษร้ายในตัวออกจนหมด และน่าช่วยไม่ให้โรคกลับมาเป็นอีกเลย ภูมิปัญญาดั้งเดิมล้านนานยังมีพิธีกรรมด้านจิตใจในยามเกิดโรคระบาด จะเชิญพระมาสวดพระปริตในชุมชน เพื่อรับมือกับสิ่งไม่ดี การสวดมนต์หรือพิธีกรรมทางศาสนา น่าจะช่วยการรวมตัวสร้างสามัคคี สร้างสติและจิตใจในชุมชนให้เข้มแข็งสู้กับโรคร้ายด้วย

ยุคไฮเทควันนี้ แต่น่าเรียนรู้การแพทย์ดั้งเดิมทั้งล้านนา อีสาน ใต้หรือภาคกลาง ที่ดูแลสุขภาพทั้งกายใจ ผสมผสานความเชื่อ หลักศาสนา และสร้างความร่วมมือในชุมชนเพื่อรับมือกับโรคร้าย.