กินแกงเลียงเลี่ยงมะเร็ง (1)

ช่วงนี้ฤดูฝน…ฝนตกทุกวัน แต่อากาศแปรปรวนกลายเป็นว่า ฝนตกบ้าง แดดออกบ้างสลับกันไปต้องระวังรักษาสุขภาพเป็นพิเศษด้วยอาหารและยารสร้อนสุขุม ซึ่งคือ เผ็ดอ่อนๆ ไม่จืดและไม่เผ็ดจัด

จั่วหัวเรื่องมาแบบนี้…ทุกคนคงจะนึกหวั่นใจว่า แอดมินจะชวนไปทำเมนูอะไรที่แปลกๆ อีกใช่มั้ยล่ะคะ…

“แกงเลียง” เป็นอาหารจานโปรดของหลายคนรวมถึงแอดมินด้วย…บอกเลยว่าชอบมาก
“แกงเลียง” เป็นภูมิปัญญาแกงไทยโบราณชนิดหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพของคนไทย
หลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นแกงโบราณนั้น ให้ดูที่เครื่องเทศที่ใส่ในแกงเลียง คือ “พริกไทย”
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพริกสัญชาติไทยแท้ ไม่ใช่พริกต่างด้าวจำพวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกหยวก ฯลฯ ซึ่งฝรั่งโปรตุเกสนำเข้ามาช่วงยุคอยุธยาตอนต้น

องค์ประกอบหลักของ “แกงเลียง”เป็นผักพื้นบ้านกับปลาหรือกุ้ง ไม่มีเนื้อสัตว์สี่เท้าหรือสองเท้า ทั้งไม่มีไขมันสัตว์หรือกระทั่งไขมันกะทิเจือปนเหมือนตำรับอาหารชาววังหรืออาหารต่างประเทศเลย

ในหนังสือ “อักขราภิธานศัพท์” (พ.ศ.2416) ของหมอบรัดเลย์ ยืนยันชัดเจนว่า
“แกงเลียง” มีเครื่องปรุงหลักคือ ปลาย่าง กะปิ เกลือ หัวหอม และใส่ผักตามใจชอบ เรียกว่าเป็นแกงแคลอรี่ต่ำ แต่ไฟเบอร์สูง อุดมด้วยสารอาหาร น้ำมันหอมระเหย และวิตามินนานาชนิดที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสุขภาพ

เครื่องเทศหลักใน “แกงเลียง” คือ พริกไทย หอมแดง ใบแมงลัก และกระชาย
ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งน้ำมันหอมระเหยหลากหลาย ได้แก่ พิเพอรีน (Piperine) คูมาริน (Coumarins) ซินนาเมท (Cinnamate) แพนดูราติน(Panduratin) ตามลำดับแล้ว
สรรพคุณร่วมของน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันการเกิดมะเร็งรวมทั้งยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในร่างกาย
ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายไขมันและสลายลิ่มเลือด
ป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง
ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในประชากรไทย

มหัศจรรย์มากใช่มั้ยคะกับ “แกงเลียง” เมนูที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก แต่มีคุณค่ามากขนาดนี้
เรื่องราวของแกงเลียง ยังไม่จบ ….อ่านต่อ โพสต์หน้านะคะ

#มูลนิธิสุขภาพไทย #แกงเลียง
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.