“ขยะซ้อนขยะ” ปัญหาจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไร้การเหลียวแล

เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ 150 ไร่ ในพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ แม้หมอกควันที่ปกคลุมจะจางลง แต่เจ้าหน้าที่ยังดับไฟที่เหลือให้สนิทพยายามฉีดน้ำเข้าถึงจุดศูนย์กลางเพื่อควบคุมและป้องกันไฟไม่ให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เพราะบ่อขยะแห่งนี้มีความลึกถึง 30 เมตร

แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ย้อนไปช่วงแรกของเหตุไฟไหม้บ่อขยะ กลุ่มควันที่ลอยออกมานอกจากส่งผลกระทบทั่วจังหวัดสมุทรปราการ รอบรัศมี 1 กิโลเมตรประกาศเป็นเขตภัยพิบัติต้องอพยพคนหนี เพราะค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน ทั้งยังมีสารอันตรายอีกหลายชนิดที่เกิดจากการเผาไหม้บ่อขยะ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ คาร์บอนมอนอกไซด์

ควันยังลอยกระจายข้ามมาถึงกรุงเทพฯ มีเขตประเวศ บางนา ลาดกระบัง คลองสามวา บึงกุ่ม กระทบ เวลานี้มีหลายฝ่ายกังวลมลพิษทางอากาศ พบฝุ่นละอองขนาดเล็กฟุ้งกระจายจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านที่หนีควันพิษเริ่มทยอยกลับเข้าพื้นที่ ทั้งๆ ที่ไม่มั่นใจสารเคมีจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ รวมถึงระยะยาวผลกระทบจากไฟบ่อขยะจะรักษาเยียวยาอย่างไร ส่วนความเคลือบแคลงใจเหตุเพลิงไหม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องรอให้ไฟสงบเพื่อเข้าตรวจสอบสารเคมีบริเวณพื้นที่และรอบๆ บ่อขยะจุดเกิดเหตุ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงหตุไฟผลาญบ่อขยะที่แพรกษาว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยการเกิดไฟไหม้บ่อขยะหลายที่ แต่กรณีนี้ไฟไหม้รุนแรงด้วยปริมาณขยะจำนวนมาก ปัญหาใหญ่ของสังคมไทย คือ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พื้นที่นี้เคยสั่งปิด เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่พอเรื่องเงียบก็ปล่อยให้ลักลอบทิ้ง ทั้งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดีเอสไอ รวมถึง อปท.รู้ดี กลับไม่มีการดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด กรณีแพรกษาหากมีการไล่เบี้ยกันจริง เอาผิดได้หมด ตั้งแต่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่งขยะมาทิ้งในพื้นที่ รวมถึงเจ้าของขยะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ “ย้อนหลังไปดูพื้นที่ บ่อขยะแพรกษาเป็นที่ทิ้งขยะเทศบาล เป็นพื้นที่ทิ้งขยะเทศบาล ขยะชุมชน ต้องแยกทิ้งกับขยะอันตราย แต่กลับพบขยะอันตราย ทั้งที่ต้องนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่แหล่งกำเนิดมลพิษหลีกเลี่ยงจ่ายแพง ลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม” เพ็ญโฉมกล่าว

นอกจากมลพิษทางอากาศ พบสารก่อมะเร็งหลายชนิด ต้องอพยพออกจากพื้นที่ชั่วคราวจนกว่าคุณภาพอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพ็ญโฉมระบุปัญหาใหญ่ในพื้นที่คือ เรื่องการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงแหล่งน้ำใต้ดิน จะมีสารตกค้างยาวนานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ฉะนั้น ฝากให้รัฐบาลควรจะเอาจริงกับการจัดการขยะ อย่าเกิดกรณีซ้ำรอยอย่างที่สมุทรปราการ

ส่วนเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปกป้องประชาชนจากปัญหาการลักลอบปล่อยมลพิษในพื้นที่สาธารณะ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง นักวิชาการที่ได้ต่อสู้เรื่องมลพิษอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ขณะนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศกำลังยกร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมฉบับประชาชน โดยจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงร่างหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 และเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ จำนวน 10,000 รายชื่อ ให้ครบกลางปีนี้เพื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ หากรัฐสภารับร่างและผลักดันตรา พ.ร.บ. กฎหมายมีผลบังคับใช้จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาลักลอบนำขยะอันตรายไปทิ้งได้ สำหรับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ใช้ชื่อย่อร่างกฎหมายนี้ว่า “ทำเนียบข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ”

สำหรับที่มาของการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ในประเทศไทย เพ็ญโฉมกล่าวว่า จากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่สหประชาชาติจัดขึ้นที่บราซิล เมื่อปี 2535 ที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะยกระดับความสำคัญแก้ปัญหามลพิษด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutants Relense and Transfer Register) หรือ PRTR ต้องการให้ทุกประเทศภาคีสมาชิกบังคับใช้ภายในปี 2558 ปัจจุบันมีประเทศอุตสาหกรรม 40 ประเทศ บังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว และมีประเทศกำลังพัฒนากำลังร่างกฎหมายนี้อีก 10 ประเทศ รวมทั้งไทย แต่บ้านเรายืดเวลาใช้ไปปี 2563

ก่อนหน้านี้ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยว่า คพ.พยายามทำโครงการ PRTR นำร่องในพื้นที่มาบตาพุด ในปี 2547 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โรงงานไม่ให้ข้อมูลการปล่อยจึงยกเลิกโครงการไป แต่ PRTR ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อปี 2552 เกิดกรณีชาวบ้านมาบตาพุดฟ้องกลุ่มปิโตรเคมีจนศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการ ภาคเอกชนเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น สถานทูตของญี่ปุ่นจัดเวทีให้ไจกาแนะนำหนทางแก้ปัญหามลพิษในมาบตาพุด ซึ่งไจกาเสนอทางออกด้วย PRTR กระทั่งมีการส่งผู้เชี่ยวชาญไจกา ร่วมกับ คพ. กรมโรงงาน นิคมฯ มาบตาพุด เพื่อพัฒนาระบบดังกล่าว โดยปลายปี 2557 จะบังคับใช้กับพื้นที่มาบตาพุด
นักวิชาการมลพิษอุตสาหกรรมระบุในหลายประเทศ ภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมเพราะเข้าใจและเห็นประโยชน์ช่วยลดการปล่อยสารเคมีระยะยาว ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับกิจการ มีข้อมูลการปล่อยมลพิษที่ตรวจสอบได้ อย่างสหรัฐมีระบบ PRTR กำหนดให้โรงงานที่เกี่ยวกับสารเคมี 700 ชนิด ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ญี่ปุ่นกำหนดโรงงานปล่อยสารเคมี 300 ชนิด ใน 21 ประเภทกิจการ ขณะที่ไทย ไจกาแนะนำโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี 100 ชนิด ใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมต้องรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้าย อาทิ ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เตาเผาฯ

“ไทยไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่มีโรงงานอุตสาหกรรม 1.3 แสนโรง ปล่อยสารพิษในอากาศ น้ำ เราไม่รู้ข้อมูลขยะอันตรายที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม มีสารพิษกี่ตัวที่ปนเปื้อนในขยะ ขยะ 1 กิโลกรัม อาจมีตะกั่ว แคดเมียม ปรอท เป็นพิษทั้งนั้น แต่ระบบ PRTR จะให้ข้อมูลเชิงลึกมีสารเคมี มีตะกั่วกี่กรัม ควันมีสารพิษกี่ชนิด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารระเหยวีโอซี สารเหล่านี้อันตรายต่อสุขภาพ” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เน้นเรื่องกฎหมายจะลดผลกระทบต่อชุมชน

ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า พื้นที่บ่อขยะเกิดภัยพิบัติอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมบางปู ฉะนั้น มีหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความท้าทายในการบริหารจัดการ ที่ผ่านมามีกรณีบ้านหนองแหน อ.พนมสารคาม มีการจับกุมการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นำมาสู่การสูญเสียแกนนำชุมชน กรณีแพรกษาเหมือนกันพื้นที่ถูกใช้ทิ้งขยะมานาน เห็นได้ชัดจากสภาพทางกายภาพ ขยะปริมาณมากแสดงว่าทิ้งมานาน แม้ใบอนุญาตที่ได้รับหมดอายุ จากรายงานคนในพื้นที่มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบมีการนำเอาขยะจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูมาทิ้งเป็นระยะ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถพูดอะไรได้

ธารากล่าวอีกว่า กรณีขยะที่เกิดผลกระทบกับชุมชน ตราบใดที่ธุรกิจการจัดการขยะอุตสาหกรรมยังอยู่ในมือของนักการเมืองท้องถิ่น เป็นธุรกิจมืดที่มีอิทธิพลมาหนุนหลัง จะแก้ปัญหาได้ยาก ชุมชนที่อยู่ตรงนั้นก็ไม่อยากจะเสี่ยง มันเหมือนกับว่าขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในทุกวัน เราละเลยและมองข้าม ขณะที่ในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศขบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเน้นให้ความสำคัญกับของเหลือใช้กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่บ้านเรามีบ่อฝังกลบขยะอุตสาหกรรม เริ่มแรกที่แสมดำ บางขุนเทียนต่อมาขยายไปในอีสเทิร์นซีบอร์ดหรือมาบตาพุด บริษัทเจนโก้ รับกำจัด บ่อแรกเต็มไปแล้ว อีกบ่อตอนนี้มีบริษัทที่รับกำจัดขยะอุตสาหกรรมหลายบริษัทดูแล

สำหรับบ่อขยะที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี และมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้เช่นที่แพรกษา ธาราให้ข้อมูลว่า ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี มีหลุมฝังกลบประเภทนี้อยู่จำนวนมาก “ที่แพรกษาเป็นหลุมขยะแบบไม่เป็นทางการ เมื่อเกิดปัญหาจึงรู้ว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม พื้นที่ทิ้งขยะแบบไม่เป็นทางการในบ้านเราเยอะมาก โดยเฉพาะชลบุรี กินไปถึงฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ภาคตะวันออกเกือบทั้งภาคน่าจะมีปัญหาเรื่องการทิ้งกากอุตสาหกรรมเยอะที่สุด” ผอ.ฝ่ายรณรงค์กรีนพีซระบุพื้นที่มีโอกาสเกิดเพลิงไหม้

จากการศึกษาติดตามมลพิษ ธาราระบุพบบทบาทนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นระดับตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. ด้วยความที่ภาคตะวันออกมีเครือข่ายเจ้าพ่อครอบคลุมอยู่ กลุ่มคนพวกนี้ปกติทำธุรกิจผิดกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น การลักลอบทิ้งขยะไม่ใช่เรื่องยากเลย

ธารายังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ขณะที่เศรษฐกิจอยู่สภาวะทรงตัว แต่เหตุใดขยะอุตสาหกรรมและกากของเสียกลับเพิ่มขึ้นสวนทาง พอมาถึงการจัดการขยะอุตสาหกรรมก็ไปคนละทิศคนละทาง ใครจะเป็นเจ้าภาพหลักบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ “เราไม่เห็นเจ้าภาพร่วมหรือหน่วยงานที่เอากฎหมายมาบังคับใช้ เมื่อเกิดปัญหาก็วิ่งไปแก้ปัญหา สะท้อนให้เห็นสิ่งที่ภาคประชาชนพยายามเรียกร้องข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมรับอุบัติเหตุ”

เรื่องขยะเป็นปัญหาที่พูดกันมานาน ธารายืนยันนี่คือความหละหลวมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ไม่ใช่ความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐอย่างเดียว มันคือความล้มเหลวของสังคมสมัยใหม่ที่หลงลืมไปถึงผลพวงของการบริโภคที่มากล้นเกินไปเกิดผลกระทบที่สะท้อนกลับมา

ไฟบ่อขยะที่ยังไหม้ข้ามวันข้ามคืน ไม่สามารถดับได้ ธาราบอกว่า แพรกษาเป็นตัวอย่างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก แต่กรณีนี้หนักหนาสาหัส เพราะเป็นไฟไหม้ลุกลามครั้งใหญ่ตอนนี้ยังดับไม่ได้ เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาไม่มีทางรู้ว่าไฟเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือฝีมือคน แต่แน่ๆ คือ ไม่มีการแยกประเภทขยะ เมื่อเกิดเหตุจึงมีมลภาวะออกสู่สิ่งแวดล้อม

ในส่วนการเอาผิดกับเหตุบ่อขยะครั้งนี้ เขาบอก บ่อขยะมีโอกาสเกิดไฟไหม้ตลอดเวลา แต่ถ้ามีการจัดการและควบคุมสมบูรณ์จะไม่มีปัญหาหนักเช่นนี้ แต่บ่อนี้ถูกปิดไปนานแล้ว ทางกฎหมายต้องดูว่าจะเอาผิดจากเจ้าของบ่อขยะ คนเช่าพื้นที่ หรือบริษัทที่รับเหมาเอาขยะมาทิ้ง

ธารากล่าวอีกว่า พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ถูกใช้ให้เป็นพื้นที่นำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้ง การลักลอบทิ้งขยะลักษณะนี้ก็เป็นการละเมิดกฎหมายหลายตัว กรมโรงงานอุตสาหกรรมไปสืบสาวราวเรื่องได้ว่าใครเป็นเจ้าของขยะอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย งานหินมากๆ

ผลกระทบระยะยาวกรณีแพรกษา ธารากังวลเน้นย้ำให้ติดตามเรื่องแหล่งน้ำใต้ดิน หากพื้นที่สูบน้ำใต้ดินใช้ ยิ่งต้องมอนิเตอร์เข้มข้นขึ้น เรื่องสุขภาพของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องดูในระยะยาวเหมือนกัน ควันจางๆ คนที่สูดเอาก๊าซพิษยังไม่เสียชีวิต แต่มีโอกาสป่วยจากสารพิษที่เข้าร่างกายมีหลายทาง “เบื้องหลังของธุรกิจขยะอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างมาบตาพุด ผู้ประกอบการหลายคนพยายามลดต้นทุนแทนที่จะส่งเข้าโรงงานกำจัดกากที่เจนโก้หรือที่แสมดำ ก็ลักลอบทิ้งขยะบางชนิดที่ไม่เข้าข่ายหรือก้ำกึ่งขยะอุตสาหกรรม เช่น เศษพลาสติกแบบรีไซเคิลได้ เศษโลหะ แม้กระทั่งถังใส่สารเคมี เห็นขายตามริมถนน มีเศษกลิ่นสารเคมี มีประสบการณ์ดูบ่อขยะที่ระยองใช้เป็นพื้นที่ทิ้งเศษวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมส่งขายต่อไปรีไซเคิล สิ่งที่พบเห็นเป็นหลุมขยะทิ้งสารเคมีเรี่ยราด เป็นกลุ่มอิทธิพลที่โยงใยอยู่กับนักการเมืองท้องถิ่น

“ผู้กว้างขวางในท้องถิ่นที่มีที่ดินแล้วขุดดินลูกรังไปขาย ไม่รู้จะทำอะไรจึงขอทำบ่อขยะ หรือให้เช่า ปล่อยให้นำขยะมาทิ้ง ทั้งขยะจากชุมชน ขยะจากโรงงาน พอเป็นปัญหาก็เอาดินมากลบ แล้วเรื่องหายไป เรื่องแบบนี้มีนายหน้า เข้าใจว่าจะมีนายหน้า รง.อุตสาหกรรมไม่ทำเอง มีซับคอนแทร็กต์อีกที ทำให้การติดตามขยะจากต้นทางสู่ปลายทางทำได้ยาก”

ทั้งนี้ ขยะจากโรงงานที่ลักลอบทิ้งมีตั้งแต่เถ้าถ่านหินหรือเชื้อเพลิงที่เกิดจากเผาไหม้ในนิคมอุตสาหกรรมพวกนี้ไม่เข้าข่ายกากสารพิษหรือขยะอุตสาหกรรมตามกฎหมายของกรมโรงงานอุตสากรรม ธาราย้ำว่า แม้วัสดุที่ไม่เป็นอันตราย ไม่เข้าข่ายกากสารพิษ แต่จริงแล้วมีโลหะหนักปนเปื้อน ตั้งแต่เศษพลาสติก แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ สารเคมีเหลือใช้ติดตามภาชนะ จนถึงกากเหลือใช้เถ้าถ่านหิน เถ้าเชื้อเพลิงที่เกิดจากเผาไหม้ แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หากส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีจะส่งผลให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมมากขึ้นตามไป ซึ่งรัฐเองก็ต้องทบทวนแผนพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

กรณีที่มีหลายฝ่ายเสนอให้ยกเลิกวิธีการฝังกลบ ธาราเห็นว่าต้องดูเป็นกรณี ไม่ควรเอาขยะสองประเภทมาผสมกัน บางครั้งมีคนเสนอยกเลิกหลุมฝังกลบ ให้เอาขยะมาเผาเหมือนสายพลังงานไม่เอานิวเคลียร์ ต้องเอาถ่านหิน ทั้งที่รู้โดยทั่วกันว่า ผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติต้องตั้งเป้าหมายนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะ “การจัดการขยะต้องระบุให้ได้ว่าจะลดขยะกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี นี่จะช่วยตอบคำถามว่า หลุมฝังกลบควรจะมีเท่าไร และจะลดลงเท่าไร ถ้าจัดการขยะภาคครัวเรือนได้ดีจะลดปัญหาไปได้เยอะมาก ขณะที่การจัดการขยะอุตสาหกรรมวิธีการก็ต่างไป หากจัดการแบบเดียวจะเกิดสารเคมีรั่วไหลกระจายออกไปสู่ชุมชน”

ในเมืองใหญ่ๆ ของต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกานั้น ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์กรีนพีซระบุว่า ในอเมริกามีกองทุนที่เรียกว่า “ซูเปอร์ฟันด์” เหมือนกับ สสส. ที่ได้เงินจากเหล้า บุหรี่ จริงๆ ไม่ต้องเก็บอะไรเพิ่ม รัฐบาลก็เอาซูเปอร์ฟันด์มาบริหารจัดการปัญหาขยะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ขณะที่การจัดการขยะจากภาคครัวเรือนต้องทำจากข้างล่างขึ้นข้างบน นำตัวอย่างจากเทศบาลที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการขยะ เช่น เทศบาลเมืองแกลง เทศบาลพิษณุโลก ที่สามารถลดปริมาณขยะลงได้ครึ่งหนึ่ง บริหารจัดการหลุมฝังกลบที่มีอยู่อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน ต้นแบบที่ดีเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลต้องผลักดันนโยบายระดับเทศบาลให้เป็นนโยบายระดับชาติด้วย

จากกรณีบ่อขยะแพรกษาที่มีการลักลอบทิ้งขยะอันตราย ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอุตสาหกรรม มีความเห็นตรงกันกับสิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามเรียกร้องมาตลอดหลายปี นั่นคือ ระบบ PRTR หากมีการจัดระบบฐานข้อมูลขยะอุตสาหกรรมจะช่วยลดการเกิดพิบัติภัยในบ่อขยะ เหตุเช่นเดียวกันที่แพรกษาจะทำให้รู้ว่าในบ่อขยะมีสารชนิดใด ใครเป็นคนจัดการ เราสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ง่ายขึ้น อเมริกาเป็นต้นแบบระบบนี้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ขณะที่หน่วยงานรัฐนำข้อมูลใช้ในการมอนิเตอร์ ช่วยลดความจำเป็นสร้างหลุมฝังกลบลงครึ่งหนึ่งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา “ระบบข้อมูลนี้จะรู้ได้ว่าสารเคมีมีบันทึกที่มาที่ไป ฐานข้อมูลนี้ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ ฐานข้อมูลวิธีเดียวต้องมีกฎหมายขึ้นมา กฎหมายว่าด้วยเรื่องการจัดทำบัญชีการใช้สารพิษและสิทธิการรับรู้ของประชาชน กม.ลักษณะนี้ เมื่อมีข้อมูลแล้วประชาชนเข้าถึงได้ รง.อุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลทุกเดือน ระบบข้อมูลจะช่วยได้ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะโรงงานอุตสาหกรรมมีเยอะทั้งขนาดกลาง ใหญ่ เล็ก”

ธาราในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวในท้ายว่า บ้านเราส่งเสริมอุตสาหกรรมไม่บันยะบันยัง จึงมีผู้ประกอบกิจการบางคนใช้ช่องโหว่ที่มีอยู่ในการหาทางออกเรื่องนี้ เรามีองค์กรควบคุมเรื่องกฎหมายข้อบังคับต่างๆ แต่ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้นอยู่ ขณะนี้หลักๆ มี พ.ร.บ.วัตถุอันตรายควบคุมการเคลื่อนย้าย การขนส่งสารอันตราย และมี พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้ควบคุม ดูแล ลงโทษ เช่น สั่งปิดโรงงาน สั่งเพิกถอนใบอนุญาตหากทำผิดกฎหมาย รวมถึงมี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติไว้มอนิเตอร์ผลกระทบที่เกิดจากมลพิษ นอกจากนี้ ล่าสุดกรณีแพรกษาดีเอสไอได้เข้ามาสืบสาวให้ถึงผู้กระทำผิดกฎหมายจนก่อผลกระทบรุนแรง คาดว่าหากดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาจะสามารถจัดการนักการเมืองในพื้นที่ ก็ขอตั้งความหวังให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและประชาชนจากเพลิงไหม้บ่อขยะนี้.

จัดการขยะพิษในมุม ‘ธงชัย พรรณสวัสดิ์’

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอการจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ต่างๆ ดังนี้ ข้อแรก ตอนนี้ กทม.เอาขยะของคน กทม.ไปฝังไปทิ้งไว้ที่กำแพงแสนและที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร สักวันคนในพื้นที่จะลุกขึ้นมา แล้วร้องตะโกนว่า ‘ไม่เอาโว้ย พอแล้วโว้ย ของของเอ็งเอ็งต้องกำจัด ข้าไม่ปฏิเสธและเห็นด้วยว่าต้องทำ แต่เอ็งเอาไปทำที่อื่นที่ไม่ใช่หลังบ้านข้าได้ไหม’ ปรากฏการณ์แบบนี้ทางวงการสิ่งแวดล้อมเรียกว่า นิมบี้ หรือ NIMBY ย่อมาจาก Not In My Back Yard แปลว่า ‘ไม่ใช่ที่หลังบ้านข้า’ คือ เอ็งจะทำอะไรก็ได้ จะสร้างโรงไฟฟ้า สร้างโรงงาน สร้างโรงบำบัดน้ำเสียชุมชน สร้างคอนโดฯ ฯลฯ ก็ทำไป แต่อย่ามาทำหลังบ้านข้าก็แล้วกัน

และเมื่อวันนั้นมาถึง ผู้ว่าฯ กทม.จะเอาขยะไปทิ้งหรือกำจัดที่ไหนล่ะครับ เพราะไปที่ไหนก็ไม่มีใครเอา เรื่องเอาไปทิ้งที่จังหวัดอื่นเลิกคิดได้ บ้านใครใครก็รัก ผู้ว่าฯ จึงต้องคิดอ่านไปไกลๆ และจัดหาพื้นที่เตรียมไว้เสียแต่เนิ่นๆ วางแผนไว้ 10-20 ปีล่วงหน้า และต้องเป็นพื้นที่ในเขต กทม.นี้ด้วย แล้วจะหาพื้นที่แบบนี้ได้หรือ จะไม่มีปรากฏการณ์นิมบี้อีกหรือคำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ พื้นที่กว้างๆ ราคาไม่แพงมากนักใน กทม. พอมีอยู่แต่ต้องไปไกล เช่น ลำลูกกา บางขุนเทียน หนองจอก

ส่วนคำตอบของคำถามเรื่องนิมบี้นั้น อาจารย์ธงชัยเสนอแนะว่า กทม.ต้องซื้อพื้นที่ไว้ให้ใหญ่มากพอและปลูกต้นไม้ใหญ่เสียแต่ตอนนี้ให้เป็นป่าหรือสวนธรรมชาติ รอไว้สำหรับสร้างโรงกำจัดขยะ ซึ่งจะไปสร้างตรงกลางไข่แดงของป่านี้ แล้วให้พื้นที่ป่าโดยรอบเป็นป่ากันชน ลึกประมาณ 100 เมตรไปถึงครึ่งกิโลเมตร ถ้าทำได้อย่างนี้ชาวบ้านหรือชุมชนโดยรอบ เมื่อมองมาก็จะไม่เห็นโรงขยะ จะเห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ที่มีนก มีหนู มีกระรอก อาศัยอยู่เต็มไปหมด ความรู้สึกยอมรับจะมี ปรากฏการณ์นิมบี้จะไม่เกิดขึ้นหรือมีแต่น้อย เพราะราคาที่ดินของเขาไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมในรูปแบบป่าธรรมชาติจะทำให้ความน่าอยู่ของชุมชนมีมากขึ้น ซึ่งราคาที่ดินก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา

ข้อสอง หลังจากลดขยะ แยกขยะไปแล้ว และยังต้องกำจัดขยะที่เหลือดังที่กล่าวมาแล้ว จะกำจัดอย่างไร เพราะเรามีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และขนาดของพื้นที่ เราจะใช้วิธีฝังกลบแบบไปทำที่ต่างจังหวัดคงไม่ได้แล้ว เพราะคงไม่มีปัญญาหาเงินมาซื้อที่ขนาดใหญ่มากแบบนี้ได้ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นเรื่องควันไฟจากกองขยะรบกวนชาวบ้านอีกด้วย มี 2 วิธี ซึ่งเลือกได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หรือจะใช้ 2 วิธีผสมผสานกันก็ได้ สองวิธีที่ว่า คือ เอาขยะส่วนที่เน่าได้ (เหม็นด้วย) ไปหมักย่อยเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วเอาไปปั่นไฟเป็นไฟฟ้ากลับมาใช้ใหม่ แต่ส่วนที่หมักย่อยออกมาเป็นก๊าซไม่ได้ เช่น พวกพลาสติก เอามาเข้าเตาเผาได้เป็นความร้อนเอามาปั่นไฟได้เช่นกัน ทั้ง 2 วิธีนี้หากออกแบบใช้งานดีๆ ก็จะไม่มีปัญหาทั้งกลิ่นทั้งควันไฟไปรบกวนชาวบ้าน ที่ต่างประเทศหลายประเทศทั้งญี่ปุนและยุโรปมีระบบพวกนี้อยู่กลางชุมชนมากมาย ผู้ว่าฯ ไปศึกษาดูงานได้สบาย ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำไม่จำเป็น เพราะไปกันมาหลายครั้งแล้ว บางคนนับเป็นสิบครั้งแล้ว

ข้อสาม ขยะที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ขยะพิษและขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ โทรศัพท์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ยาหมดอายุ น้ำยาแล็กเกอร์ ฯลฯ ขยะพวกนี้ปัจจุบันมักถูกทิ้งปนไปกับขยะธรรมดา ซึ่งทำให้การกำจัดที่ปลายทางยุ่งยากไปด้วย เช่น ถ้าเผาจะเกิดไอพิษจากสารปรอทออกมาสู่สิ่งแวดล้อมได้ ทางแก้สำหรับกรณีนี้มีวิธีเดียว คือ ต้องแยกที่ต้นทางให้ได้ ชาวบ้านหลายคนพร้อมที่จะแยกให้ แต่บอกว่าไม่รู้จะแยกไปทำไม ในเมื่อ กทม.ก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี

ปัญหาข้อนี้ต้องแก้โดยเอาหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ คือ ต้องสร้างเป็นเม็ดเงินจากขยะขึ้นมาให้ได้ เป็นเม็ดเงินที่มากพอจนคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการรวบรวมขยะอันตรายพวกนี้ให้ได้ปริมาณมากพอ ต้องจัดการให้ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมได้ นั่นคือ การสร้างจุดรับขยะแบตเตอรี่ ขยะถ่านไฟฉาย ฯลฯ ไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ สถานีบีทีเอส ศูนย์การค้า สำนักงานเขต โรงเรียน ฯลฯ

รณรงค์ให้ชาวบ้านเอาถ่านเสียหรือโทรศัพท์มือถือที่หมดสภาพแล้ว ซึ่งเป็นเพียงชิ้นเล็กๆ ใส่กระเป๋ามาทิ้งที่กล่องรับซึ่งมีอยู่กระจายทั่วเมือง และไม่ลำบากเกินไปที่จะนำติดตัวไปทิ้ง จากนั้นคนที่สามารถเอาของมีค่า เช่น ทองแดง เงิน นิกเกิล หรือแม้กระทั่งทอง ในขยะพวกนี้มาสกัดออกไปขายมารวบรวมเก็บขยะพวกนี้ไปจัดการต่อ ตอนนี้เขาจะทำได้คุ้มทุนได้ง่ายๆ เพราะปริมาณมันมากพอนั่นเอง

ข้อสี่ ขยะพิษพวกยาฆ่าแมลง ดีดีที ยาหมดอายุ สีสเปรย์ ฯลฯ พวกนี้สกัดทำเงินได้ยาก แต่ถ้ารวบรวมเอาไว้ด้วยกันได้ก็กำจัดหรือจัดการได้ไม่ยาก แต่เป็นเรื่องเทคนิค ปล่อยให้นักเทคนิคเขาจัดการของเขาไปเอง เรามีหน้าที่รวบรวมให้มันอยู่ในที่เดียวกันเท่านั้นก็พอ

ในท้ายนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมสรุปข้อเสนอทั้งหมดเป็นเรื่องของการจัดการและการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เรื่องแรก กทม.เก่งอยู่พอตัวแล้ว เรื่องที่สอง กทม.ยังทำได้ไม่ดีพอ กทม.ต้องเร่งสร้างเจตคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมและร่วมมือกันในการจัดการ การเปลี่ยนพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องของจิตใจยากกว่าเรื่องเทคนิค จึงต้องมีนโยบายและแผน รวมทั้งงบประมาณในการสร้างกระแสสังคมให้เปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ร่วมกันในท้ายที่สุด “อย่าไปมุ่งแต่สร้างโรงขยะ ซื้อรถขยะ โดยลืมเรื่องคนไปเลย เพราะถ้าลืมเรื่องนี้ ปรากฏการณ์นิมบี้จะกลับมาหลอกหลอนผู้ว่าฯ จนกระเด็นจากเก้าอี้ได้ไม่ยาก” นี่คือเสียงจากนักอนุรักษ์

ที่มา : ไทยโพสต์ 23 มีนาคม 2557

บทความที่เกี่ยวข้อง