ป่วยหวัดใหญ่พุ่ง น่าเป็นห่วง

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่น่าเป็นห่วง เมื่อมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ว่า ในปี 2557 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าห่วง เนื่องจากขณะนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2556 และเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 ปีย้อนหลัง โดยจากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตังแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 มี.ค. พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 23,899 ราย เสียชีวิต 24 ราย

นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือเด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่ 7-34 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ คือ ลำปาง เชียงใหม่ ระยอง อุตรดิตถ์ และพะเยา โดยมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ควบคุมป้องกันโรคขณะนี้ คือให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังและรายงานผู้ป่วย อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ เตือนประชาชนให้ป้องกันตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ย้ำเตือนให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกรายสวมหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคให้ผู้อื่นส่วนบุคลากรทางการแพทย์ให้สวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง รักษาผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด

สำหรับการกระจายยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่นั้น นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ได้กระจายให้กับโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2557 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม จะสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไปทั้งนี้ หากประชาชนป่วยมีไข้เกิน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุการป่วยในไทยคือ สายพันธุ์ เอ เอช1เอ็น 1 หรือไข้หวัด 2009 แต่ยังไม่พบปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งการป่วยไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นแล้วอาจเป็นซ้ำได้อีกจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งผลการศึกษาจากสหรัฐฯและยุโรปพบว่า เชื้อชนิดเอช1เอ็น1มีความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์อืน โดยมีอัตราป่วยตายและอัตราเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 24 มี.ค.พบว่าสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกแอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตก มากที่สุดคือสายพันธุ์เอช1 เอ็น 1 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เดินทางไปได้ตามปกติ ผู้ที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ยังไม่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนการเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันก่อนเดินทาง ในกรณีประชาชนทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายใการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนไปแล้ว 4 แสนโด๊ส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้มีการเตรียมสั่งซื้อเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงแล้วอีกประมาณ 3 ล้านโด๊ส ดังนั้นในปี 2557 จะมีวัคซีนฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงฟรีประมาณ 3.5 ล้านโด๊ส เบื้องต้นจะยังไม่มีการเพิ่มจำนวนวัคซีนแต่จะมีการประสานกับ สปสช.ให้เร็วกว่าทุกปี โดยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หากได้วัคซีนมาเร็วภายในปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค.ก็จะเริ่มฉีดทันที

ที่มา : ไทยรัฐ 27 มี.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิจัย พบ “นวดไทย” ลดเกร็งกล้ามเนื้อขา คลายทุกข์เด็กป่วยโรคซีพี

admin 6 เมษายน 2019

กรมสุขภาพจิต ผลการศึกษาวิจัย พบภูมิปัญญานวดไทย มีสรรพคุ […]

เกษตรกรป่วยสารเคมีพุ่ง 4 เท่า เสี่ยงเซ็กซ์เสื่อม

admin 6 เมษายน 2019

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ส […]