ขิงแห้ง (ไม่ใช่ขิงตากแห้ง)

ขิงแห้ง เป็นสมุนไพรที่ปรากฎในตำรับยาไทยไม่น้อยกว่า 700 ตำรับ แต่เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่ยังเป็นปริศนา หมอยาไทยจำนวนหนึ่งบอกว่า ขิงแห้ง ในตำรายาไทยหมายถึง ขิงบ้านที่นำมาทำให้แห้ง แต่หมอไทยจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็นขิงอีกชนิดหนึ่งที่ต่างจากขิงบ้าน ส่วนหมอพื้นบ้านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ขิงแห้งก็คือขิงแห้ง ไม่ใช่ขิงบ้านที่นำมาใช้ประกอบอาหาร

ขิง ที่นำมาประกอบเป็นอาหารบางครั้งก็เรียกว่า ขิงหยวกหรือขิงหลวง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อินเดียและแถบหิมาลัยตะวันออก คาดว่านำเข้ามาใช้และปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่เริ่มมีการค้าขายกับจีน จากเอกสารบางส่วนกล่าวไว้ว่าในตำรับยาจีนมีการนำขิงบ้านมาทำให้แห้งเรียกว่า “กันเจียง” หรือขิงแห้งเพื่อใช้เป็นยาเช่นกัน

ในขณะที่เอกสารของหอพรรณไม้กรมป่าไม้กล่าวไว้ว่า ขิงแห้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber ligulatum Roxb. และเมื่อสืบค้นดูจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว(กรุงลอนดอน) กล่าวไว้ว่าขิงแห้งชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและเมียนมาร์และได้มีการนำเข้ามาปลูกในไทยและลาว เพื่อใช้เป็นยา นอกจากนี้ในการศึกษาของโชติกา เทียบคาและคณะ ในปี พ.ศ. 2561 ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวไว้ว่า ในเอกสารที่ปรากฎในประเทศไทยได้มีการระบุขิงแห้งไว้ 6 ชนิดด้วยกัน คือ

1) เสงี่ยม พงษ์บุญรอด (2522) และสายสนม กิตติขจร (2526) ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Zingiber officinale Roscoe. 2) กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (2548) และ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ (2507) ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Zingiber kerrii Craib. 3) ปราโมทย์ ไตรบุญ และคณะ (2005) และสำนักงานหอพรรณไม้ (2557) ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Zingiber ligulatum Roxb. 4) คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ (2556) และสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน) (2550) และวงศ์สถิต ฉั่วกุล ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Zingiber mekongense Gagnep. 5) Wongsuwan, P. (2010) และ อรดี สหวัชรินทร์ และทยา เจนจิตติกุล (2547) ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Hedychium gomezianum Wall. 6) พระยาวินิจวนันดร (วินิจ โต โกเมศ) (2503) ระบุไว้ว่าขิงแห้งคือ Globba sp.

ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 สมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท จัดประชุม

ประชุมหมอพื้นบ้านภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน โดยการนำตัวอย่าง ขิงแห้ง ที่หมอพื้นบ้านแต่ละท่านนำมาใช้จริงในชุมชนมาศึกษา พบว่า ขิงแห้ง ที่หมอทั้ง 3 ภาคใช้ คือ ชนิด Zingiber ligulatum Roxb. ซึ่งตรงกับที่ ปราโมทย์ ไตรบุญ และคณะ (2005) และสำนักงานหอพรรณไม้ (2557) ระบุไว้

ขิงแห้ง ทั้ง 6 ชนิดที่กล่าวถึงนี้ส่วนใหญ่มีสารสำคัญที่แตกต่างกันออกไป เช่น ขิงแห้ง ชนิด ขิงบ้าน มีน้ำมันหอมระเหยมาก สารสำคัญคือ β-phellandrene (10.67%), α-zingiberene (44.26%), β-santalol (16.20%) ฯ ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลม ต้านการอาเจียน
ขิงแห้ง ชนิด Zingiber mekongense พบสารสำคัญคือ (3S,5S)-3,5-diacetoxy-1,7-bis (3,4,5-trimethoxyphenyl) heptane ซึ่งมี ฤทธิต้าน เชื้อไวรัส HIV-1

ขิงแห้ง ชนิด Zingiber ligulatum พบสารสำคัญคือ kaempferol 7,4′-dimethyl ether, quercetin 7,4′-dimethyl ether และ benzoic acid derivative มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ขิงแห้งชนิดนี้จะมีรสเย็นกว่าขิงบ้าน และกลิ่นฉุนน้อยกว่าขิง และไม่พบ 6-gingerol เหมือนที่พบในเหง้าขิงบ้าน และมีงานวิจัยบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดของ ขิงบ้านและขิงแห้ง ชนิด Zingiber ligulatum มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน จึงเป็นไปได้ว่ามีการนำเอาขิงบ้านมาใช้แทน ขิงแห้ง เนื่องจากขิงแห้งหาได้ยาก ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป

ขิงแห้ง ชนิด Zingiber kerrii ในเอกสารของหอพรรณไม้ใช้ชื่อว่า ขิงดาหรือขิงแมงดา พบมากทางภาคเหนือ ในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (กรุงลอนดอน) รายงานว่ามีถิ่นกำเนิดในแคว้นอัสสัมของอินเดีย ในจีนตอนกลางและตอนใต้ ลาว เมียนมาร์และไทย มีรายงานการใช้เหง้า ต้มดื่มแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลำต้น ต้มดื่มแก้ปวดหัว ดอก กินบำรุงร่างกาย กลีบดอก ใช้รับประทานกับน้ำพริก สารสำคัญที่พบในเหง้าคือ α-pinene; β-pinene; และ terpinen-4-ol แสดงคุณสมบัติในการต้านการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase inhibitory activity)หรือยับยั้งการเกิดเม็ดสีที่ผิวหนัง

ขิงแห้ง ชนิด Hedychium gomezianum Wall.ชื่อไทยเรียกว่า โกเมษ มีถิ่นกำเนิดในแถบหิมาลายาตะวันออก เมียนมาร์และไทย ขิงแห้ง ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มมหาหงส์ซึ่งจะต่างจากชนิดอื่น ๆ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มพืชหายาก ยังพอพบได้ในแถบภาคใต้ ในเอกสารจากราชบัณฑิตกล่าวว่าคนพื้นเมืองภาคใต้เรียกพืชชนิดนี้ว่า ขิงแห้ง จึงอาจทำให้เข้าใจว่าขิงแห้งของภาคใต้เป็นพืชชนิดนี้ แต่จากการประชุมหมอพื้นบ้านภาคใต้ ในช่วงปีพ.ศ. 2563-2564 พบว่าไม่มีหมอพื้นบ้านท่านใดใช้สมุนไพรชนิดนี้ และยังไม่มีรายงานการศึกษาเชิงลึกของสมุนไพรชนิดนี้ด้วย

ขิงแห้ง ชนิด Globba sp.อยู่ในกลุ่มข่าลิงหรือเข้าพรรษา ส่วนใหญ่มีรายงานว่าปลูกเป็นไม้ประดับหรือนำมาใช้รักษาโรคผิวหนัง
ถ้ากล่าวด้วยภาษาวัยรุ่นยุคนี้ว่า “ขิงแห้ง อย่ามาขิงกัน” เพราะสมุนไพรของเราไม่น่าจะต้องมาอวดดีเด่นข่มทับกัน ควรจะเร่งทำการศึกษาในเชิงลึกว่า ขิงแห้ง ในตำรับยาดั้งเดิมมากมายนั้นคือขิงใดและสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ หรือพัฒนาสูตรตำรับให้มาตรฐานโดยกำหนดว่าในตำรับยาแต่ละตำรับควรเป็นขิงแห้งชนิดใดกันแน่ก็จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้และหมอยาไทย รวมถึงวงการเกษตรสมุนไพรที่จะช่วยกันปลูกด้วย

ระหว่างนี้ หากมีอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ค่อยย่อย ร่างกายหนาวๆ ต้องการขับเหงื่อ ไข้หวัด ไอ เมารถเมาเรือ ก็ใช้ขิงบ้านสดหรือขิงบ้านทำให้แห้งดูแลตนเองได้