การเก็บสมุนไพรและคาถากำกับยา

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องราวที่จะเล่าในโพสต์วันนี้ สารภาพเลยว่า…เขียนจากความสนใจส่วนตัวของแอดมินเอง
คือว่า…แอดมินสงสัยมานานแล้วค่ะว่า
ที่หมอยาหรือหมอพื้นบ้านรักษาคนแล้วมีการว่าคาถาด้วย
คนโบราณบอกว่า เป็นคาถาจริงๆ นะ  นอกจากเหตุผลนี้แล้ว ยังมีเหตุผลอื่นอีกมั้ย?

เมื่อวานได้อ่านหนังสือเล่มนึงที่พูดถึงคาถากำกับยา
ไปค่ะ..เดี๋ยวเล่าให้ฟัง
ก่อนจะเล่าเรื่องกำกับคาถา…แอดมินขอเล่าเรื่องการเก็บสมุนไพรของหมอพื้นบ้านก่อน

การใช้สมุนไพรของหมอยาพื้นบ้านอีสานในอดีต เป็นการใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยหมอเป็นคนทดลองใช้ยาเอง
จากบันทึกใบลานของวัดศรีสมพร อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม พบว่ามีการนำเอาความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้านบางส่วนมาจากเมืองพิษณุโลก แล้วนำมาบันทึกในใบลานที่เขียนเป็นอักษรธรรม

ตำรับยาบางตำรับของหมอยามีตัวยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรที่มาจากตำรายาทางอายุรเวทบางส่วน เช่น การใช้สมุนไพรในกลุ่มโกฐต่างๆ

การเก็บสมุนไพรของหมอพื้นบ้านอีสานมีการผสมผสานและความเชื่อระหว่างท้องถิ่นกับความรู้อื่นที่เข้ามาในชุมชน
และองค์ความรู้ในการเก็บยาค่อนข้างหลากหลาย อาจเป็นไปได้ว่าแต่ละชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
จึงมีประสบการณ์ในการเก็บยาที่แตกต่างกัน

เช่น ความจำเพาะของวันในการเก็บยา ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับช่วงฤดูกาล แสง อุณหภูมิและความชื้น ที่มีผลต่อตัวยาภายในพืช

การจะเก็บยาส่วนใดมาใช้ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

การใช้สมุนไพรบางตำรับของหมอยาพื้นบ้าน จะมีพิธีกรรมร่วมด้วย
เช่น บทสวดและคำถากำกับในตำรับ ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่า พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างความศักดิ์ให้กับตัวยา
แต่ในอีกแง่มุมนึงคิดว่า การท่องมนต์และคาถาในการจัดยาและรักษาโรค
มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดขนาดยา

เพราะการใช้ยาส่วนใหญ่เป็น “ยาฝน”  ไม่สามารถชั่ง ตวง วัดได้ และไม่มีนาฬิกา
จึงจำเป็นต้องใช้ความยาวของบทสวดมนต์หรือคาถา เป็นตัวกำกับขนาดของยาเพื่อใช้ในการรักษา

ถ้าสังเกตุนะคะเราจะเห็นว่าคาถาที่ใช้ในการฝนยารักษาแต่ละโรคไม่เหมือนกัน
หรือภาษาที่ใช้ในคาถาก็เป็นภาษาที่ง่ายๆ

นอกจากนี้ การรักษาแบบอื่นๆ  เช่น การเป่าและการผิว มักมีคาถาหรือบทสวดกำกับในการรักษา
วิธีการแบบนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของร่างกายได้
เช่น  การเป่า เป็นการพ่นน้ำมากกว่าลมเข้าใส่คนไข้โดยตรงหรือบริเวณที่จะรักษา
ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนอง ในลักษณะหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ส่วนการผิว  เป็นการเป่าลมมากกว่าน้ำ ให้ถูกผิวหนังหรือบริเวณที่ต้องการรักษาทำให้ร่างกายมีการตอบสนองที่แตกต่างไปจากการเป่า

การมีคาถากำกับในขณะรักษาหรือฝนยา…เหตุผลเรื่องระยะเวลาสั้น-ยาว ก็น่าคิดนะคะ
ลองคิดู ในสมัยก่อน ไม่มีนาฬิกาที่จะจับเวลา
แต่หมอยาบางคนก็อาจจะมีคาถาจริงๆ ก็ได้ค่ะ!

 

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน

#สมุนไพรไทย   #การเก็บสมุนไพร  #คาถากำกับยา

#หมอพื้นบ้าน  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน

#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.