ข้อเสนอตั้ง’คณะกรรมการข้าว’ พัฒนาแบบยั่งยืน

เวทีพลเมืองปฏิรูป”ครั้งที่ 1 ซึ่ง กรุงเทพธุรกิจร่วมกับ “NOW26” เปิดเวทีเสวนาสัญจรทั่วประเทศ หวังระดมความคิด กระตุ้นคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ กับวาระแรก “ชาวนายั่งยืน ประเทศไทยยั่งยืน” คับคั่งด้วยผู้เข้าร่วมและข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะแนวคิดจัดตั้ง “คณะกรรมการข้าว” เพื่อชาวนายั่งยืนและปลอดการเมือง

เวทีสัญจรครั้งแรก “ชาวนายั่งยืน ประเทศไทยยั่งยืน” เป็นการจัดงานร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ในจ.นครสวรรค์ เพื่อหาทางออกให้กับชาวนาไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศราว 4 ล้านครอบครัว แต่กลับตกอยู่ในวังวนความจน มีหนี้เฉลี่ยต่อครอบครัวหนึ่งแสนบาทขึ้นไป และต้องผจญกับปรากฏการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว ความกดดันเรื่องหนี้สิน ภัยธรรมชาติ ฯลฯ

หลังระดมความคิด ข้อเสนอจากเวทีแห่งนี้ก็คือ ชาวนาไม่ต้องการให้มีการประกันราคาข้าว ไม่รับจำนำข้าว แต่ต้องการให้มีการกำหนดนโยบายแห่งชาติเพื่อให้การพัฒนาและช่วยเหลือเป็นไปอย่างมียุทธศาสตร์และดำเนินการในระยะยาว มิใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยต้องคำนึงถึง 3 ข้อหลัก คือ การแก้ไขปัญหาความยากจน-หนี้สินภาคเกษตร และการถูกเอารัดเอาเปรียบ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้พัฒนาปัจจัยการผลิตพื้นฐานอย่างแหล่งน้ำ เพราะการ ทำนาส่วนใหญ่ยังอยู่นอกเขตชลประทาน การให้ความรู้แก่ชาวนาเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดี การสนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน โดยแผนและยุทธศาสตร์เหล่านี้จะต้องกำหนดโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือชาวนานั่นเอง

ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาว่า ชาวนาในปัจจุบันจะแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ชาวนาที่รับจ้างปลูกข้าวให้กับบริษัท เรียกว่า ชาวนาพันธสัญญากลุ่มที่สองคือ ชาวนาที่ทำตามนโยบายรัฐ และกลุ่มที่สามคือ ชาวนาที่พึ่งพาตนเอง ซึ่งชาวนากลุ่มที่เป็นปัญหาคือกลุ่มที่สอง หรือเป็นชาวนาที่ทำตาม นโยบายรัฐ

“แนวทางในอนาคตนั้น ชาวนาต้อง ปรับตัวเป็นชาวนาแบบพึ่งพาตนเอง บวกกับชาวนาพันธสัญญา อยากให้มีการออกเป็น กฎหมายคล้ายๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นแผนพัฒนาชาวนาอย่างยั่งยืน เป็นวาระแห่งชาติที่ตกลงกันแล้วในหมู่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักการเมืองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” ขณะที่ ปราโมทย์ วานิชชานนท์” ที่ปรึกษากรมการข้าว บอกว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ข้าวกับชาวนาขึ้นอยู่กับนโยบายของนักการเมือง ขณะที่ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือภาคประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย จนกลายเป็นวิกฤติของประเทศ วิกฤติของชาวนา
“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ โจทย์คือตัวชาวนา ในขบวนการอุตสาหกรรมข้าว ต้นน้ำคือชาวนา กลางน้ำคือโรงสี ปลายน้ำคือผู้ส่งออก กลางน้ำและปลายน้ำเขาอยู่ได้ แต่ชาวนายังมีปัญหา และนโยบายของนักการเมืองก็มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีนโยบายที่จะพัฒนาข้าวและชาวนา มุ่งแต่เรื่องราคา

ทางออกในวันนี้ ต้องมียุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์สามประการ 1.แก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา 2.ทำนาแล้วต้องไม่ขาดทุนจากราคาและภัยธรรมชาติ และ3.การถูกเอารัดเอาเปรียบ ยุทธศาสตร์นี้ต้องถูกกำหนดโดยชาวนา หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก เราต้องตอบโจทย์ชาวนาให้ได้ อะไรที่เกินความสามารถของเขา เป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น สร้างพื้นฐานเรื่อง ดินกับน้ำ”

ที่ปรึกษากรมการข้าวยังกล่าวว่า ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ สามารถตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องข้าวได้ โดยไม่ต้องมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และให้ทุกคนได้ประโยชน์ โดยยุทธศาสตร์นี้สามารถออกแบบให้ทุกรัฐบาลต้องเดินตามแนวทางที่กำหนดไว้

“นักการเมืองจะเป็นเพียงผู้บริหารจัดการ และจะต้องตระหนักว่า นี่เป็นฉันทามติของประชาชนทั้งประเทศ”

ขณะที่ ดร.สมพร อัศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สถาบันคลังสมอง กล่าวว่า จำเป็นต้องนำข้าวออกจากพืชการเมือง ให้มองว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเป็นพืชเศรษฐกิจก็จะมีระบบคิดเชิงอุตสาหกรรม เช่น เชื่อมโยงระหว่างการตลาดกับการผลิต ผลิตสิ่งที่มีคุณภาพ การลดต้นทุน รวมทั้งมีตลาดกลาง สิ่งเหล่านี้จะช่วยชาวนาได้ในระยะยาว

ในมุมมองของ คมกฤชช์ ธรรมรัตนกุลประธานหอการค้า จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมองอนาคต ต้องทำให้เกษตรกรมีความพร้อมในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว รวมถึงเรื่องการศึกษาซึ่งผลิตคนรุ่นใหม่ที่ทำนาเอง ขายเองได้ เพื่อเป็นต้นแบบเกษตรกรในอนาคต

ด้าน โชคชัย อธิปฏิเวชช นายกสมาคมโรงสีจังหวัดนครสวรรค์ แสดงความคิดเห็น ความยั่งยืนของชาวนาอยู่ที่การสร้างเสถียรภาพในตลาด แต่ข้าวไทยล้นตลาดทุกวันนี้ เพราะปลูกข้าวโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ไม่คำนึงถึงสายพันธุ์ ทำให้ต้องขายข้าวถูกกว่าเวียดนาม กัมพูชา อินเดีย เมื่อละเลยเรื่องสายพันธุ์ข้าว ละเลยปริมาณการส่งออก จึงควบคุมตลาดไม่ได้ หลังจากนี้จึงต้องยกระดับสายพันธุ์ผลิตข้าวระดับพรีเมียม กำหนดดีมานด์ซัพพลายให้สมดุล ก็จะช่วยได้

ในส่วนของทีมธกส.ได้นำเสนอโรดแมพของฝ่ายภาคเหนือตอนล่าง ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557- 2561 เพราะ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเป็นเขตที่ผลิตข้าวได้สูงสุด และ ผลิตได้หลายรอบ ทางธกส. จึงมีแนวคิดที่จะยกระดับรายได้ลูกค้าอย่างยั่งยืนภายใน 5 ปี โดยเสนอโรดแมพ “3 ลด 3 เพิ่ม” นั่นคือ 1.การลดต้นทุน โดยรัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยลดต้นทุนบางอย่างได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการอบลดความชื้น ค่าใช้จ่ายในการสีแปร 2. ลดความเสี่ยง 3. การลดการทำร้ายดิน การลดใช้สารเคมี

ขณะที่ ในส่วนของ 3 เพิ่ม คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการทำนา 2.การปรับปรุงดิน การคัดเมล็ดพันธุ์ 3. เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี เสนอว่า ควรมีการตั้งเป้าเพิ่มการทำเกษตรอินทรีย์ โดยการทำตลาดข้าวแบบใหม่ เน้นข้าวคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสุขภาพ น่าจะช่วยการทำตลาดได้ นอกเหนือจากจะต้องแก้ปัญหาเรื่องลดต้นทุนค่าเช่าที่นา

ขณะที่ สุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ชาวนาไทยควรเน้นระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรอง

ส่วน ธวัชชัย โตสิตระกูล รองประธานกรรมการ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน บอกว่า มีความพยายามของภาคพลเมืองและกลุ่มผู้บริโภคที่ริเริ่มให้ชาวนายั่งยืนได้ เช่น กลุ่ม “ผูกปิ่นโตข้าว” โครงการ “เพื่อนชาวนา” “เพื่อนปลูกเพื่อนกิน” ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรให้ปลูกข้าวอินทรีย์โดยเชื่อมโยงตรงกับผู้บริโภค ทำให้มีความยั่งยืนได้ คือ มีคนซื้อ มีตลาดแน่นอน

สุทธิชัย หยุ่น ปิดท้ายการเสวนาว่า จะนำเสนอข้อสรุปต่างๆ ต่อผู้มีส่วนกำหนดนโยบายต่อไป และจะเชิญทุกคนกลับมา “รอบที่สอง” เพื่อจะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ การจัดตั้งคณะกรรมการข้าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 27 มิ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง