แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมิอาหาร

..เราจะเชื่อฉลากบอกวันหมดอายุของอาหารได้จริงหรือ! โดยเฉพาะอาหารสดที่จะต้องเก็บรักษาอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น
และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารที่เลือกซื้อมานั้น ถูกเก็บรักษามาในอุณหภูมิตู้เย็นจริง และเก็บรักษาอย่างถูกต้อง

จากข้อสงสัยเหล่านี้ กลายเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม “แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมิ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร” ผลงานของนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบอุปกรณ์นาโน นาโนเทค เปิดเผยว่า ตนและทีมนักวิจัยประกอบด้วยดร.ลัพธ์พร วยาจุต ดร.ธิติกร บุญคุ้ม และดร.สุพล มนะเกษตรธาร ได้คิดค้นและผลิตนวัตกรรม แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมิ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีระดับนาโน ในการกักเก็บสารสังเคราะห์ในแคปซูลขนาดเล็ก เพื่อให้แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมิ สามารถตรวจบันทึกความสด-ใหม่ แบบต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนของผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภค รวมถึงอยู่ในช่วงของการเก็บรักษาของผู้บริโภคเอง

ดร.ไพศาล บอกว่า จากการทดสอบการทำงานของอุปกรณ์แผ่นตรวจฯ ที่นำไปติดบนแพ็กอาหาร พบว่า บ่อยครั้งเมื่อนำอาหารออกจากตู้เย็น กว่าที่อุณหภูมิของอาหารจะกลับไปที่อุณหภูมิที่ตั้งค่าไว้เหมือนเดิมใช้เวลานานมาก บางครั้งเป็นระดับชั่วโมง ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนี้ เชื้อโรคพร้อมเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแผ่นตรวจฯ ที่ติดอยู่บนแพ็กอาหาร จะช่วยบันทึกอุณหภูมิอาหารอย่างสะสมต่อเนื่อง จึงช่วยวัดความสดใหม่ของอาหารได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยแสดงให้เห็นเป็นแถบสี เริ่มจากแถบสีฟ้าในช่วงแรก เพื่อแสดงให้เห็นความสดใหม่ของอาหารและผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่หากไม่นำไปเก็บในตู้เย็นแผ่นตรวจฯ จะมีสีที่เปลี่ยนแปลง ให้เห็นแถบสีเหลือง ส้ม และสุดท้ายกลายเป็นสีแดง ซึ่งบ่งบอกถึงไม่ควรบริโภคหรือใช้อาหารและผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกต่อไป แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมินี้ จึงเหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหาร ในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ระดับสูง หรือสำหรับผู้บริโภคอาหารสุขภาพ ที่มีพฤติกรรมบริโภคคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสามารถออก แบบให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ใช้แปะบนถุงบรรจุเลือด วัคซีน ที่ต้องแช่อยู่ในอุณหภูมิตู้เย็นหรืออุณหภูมิต่ำกว่าที่กำหนด หรือแม้กระทั่งบรรจุไปพร้อมกับยาหรือฮอร์โมนที่จ่ายให้แก่ผู้ป่วย ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือใช้ในสินค้าประเภทเบเกอรี่ขนมเค้ก ซึ่งมีราคาต่อชิ้นสูง

นักวิจัยบอกอีกว่า หากนำแผ่นตรวจฯ ติดเข้ากับแพ็กเกจสินค้าและกดให้ลูกค้า ได้เห็น พร้อมคำอธิบายเพื่อให้ลูกค้าได้ รับประทานสินค้าที่มีรสชาติที่ดี จะช่วยสร้างความแตกต่างให้สินค้าและสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ได้ดี หรือแม้แต่กลุ่มสินค้าเครื่องสำอางบางประเภท ที่ต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นก็ใช้ได้เช่นกัน สำหรับอุปกรณ์ แผ่นตรวจบันทึกอุณหภูมิ ปัจจุบันพัฒนาต้นแบบแล้วเสร็จพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน ซึ่งทีมวิจัยนาโนเทค เตรียมที่จะ นำนวัตกรรมดังกล่าวนำเสนอในงาน IP Innovation and Technology Expo : IPTEx.2014 ที่ศูนย์นิทรรศการและการ ประชุมไบเทค (Hall 103-105) ในวันที่ 18-20 ก.ค. 57 ที่จะถึงนี้

ที่มา : เดลินิวส์ 23 มิ.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผ็ดสารพัด “พริก” เป็นได้ทั้งอาหารและยา

admin 6 เมษายน 2019

กินพริกกันมาก็มาก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า นักวิจัยไทยยัง […]

ผลสำรวจพบคนไทยที่กินอาหารสุกๆดิบๆลดลง

admin 6 เมษายน 2019

ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เ […]

เพิ่มสมุนไพรในอาหารช่วยลดกินเค็มได้

admin 5 เมษายน 2019

นายอารยะ โรจนวณิชชากร หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซ […]