คำตอบของคำถาม

เด็กผู้หญิงวัยเพียง 16 ปี โดยปกติแล้วก็น่าจะนอนตื่นสายในช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ และเป็นวัยที่มักจะเที่ยวเล่น นัดพบกับเพื่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวอย่างห้างสรรพสินค้า แต่ “น้ำหวาน” หรือ น.ส.อังคณา ปิยะอารมณ์รัตน์ นักเรียนโรงเรียนสตรีนนทบุรี ใช้เวลาว่างในเช้าของวันพฤหัสบดีช่วงปิดเทอม และเปลี่ยนเวลามาเป็นเช้าวันเสาร์ในช่วงเปิดเทอม ในการเป็นอาสาสมัครระยะสั้น ณ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด

จุดเริ่มต้นของการเป็นอาสาสมัครของน้ำหวาน เกิดขึ้นโดยการชักชวนของ “สกาวรัช บัวเอี่ยม” ผู้เป็นแม่ ซึ่งเห็นข่าวประชาสัมพันธ์ “โครงการอาสานวดเด็ก สัมผัสกาย สัมผัสรัก” ทางหนังสือพิมพ์ ต้องการอาสาสมัครในการช่วยดูแลเด็กอ่อนที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด

หลังจากเข้าทดลองช่วยเลี้ยงเด็ก ณ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ในเดือนกรกฎาคม ปี 2551 เป็นเวลาหนึ่งเดือน คุณสกาวรัชจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนวดเด็กในเดือนต่อมา พร้อมชักชักชวนลูกทั้ง 2 คน “น้ำหวาน” และ “กร” ให้ลองมาช่วยงานที่สถานสงเคราะห์ดูบ้าง “ที่ชวนลูกๆ ให้ลองมาช่วยงานที่สถานสงเคราะห์ฯ ก็เพื่อเป็นวิธีการสอนให้ลูกได้เรียนรู้ไปในตัว สอนโดยให้ลูกได้เห็นตัวอย่างในชีวิตจริง อยากให้พวกเขารู้เรื่องราวต่างๆ ว่าในสังคมมีสถานที่แบบนี้อยู่จริง อธิบายเชื่อมโยงกับข่าวที่ออกตามสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่มีให้เห็นอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่มีรักในวัยเรียน มีเพศสัมพันธ์กันก่อนวัยอันควร โดยที่ไม่ได้ป้องกัน มีลูกโดยที่ยังไม่พร้อม แล้วก็เอาลูกมาให้สถานสงเคราะห์”

น้ำหวานบอกว่าตอนนั้นเธอก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบนอนตื่นสายในวันหยุด แต่งานอาสาสมัครที่จะต้องทำนั้นต้องตื่นเช้า จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “การเป็นอาสาสมัคร ทำไปเพื่ออะไร” และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่น้ำหวานรู้สึกไม่อยากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในตอนแรก เพราะเธอยังคงเป็นเด็ก ไม่มีประสบการณ์ในการคลุกคลี เลี้ยงดูเด็กเล็กมาก่อน กลัวว่าจะเลี้ยงน้องคนที่ต้องรับหน้าที่ดูแลไม่ได้

น้ำหวานเล่าถึงความรู้สึกแรกเมื่อเข้าไปภายในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ดว่า “ตอนแรกรู้สึกประหลาดใจที่เห็นว่าที่นี่ (สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด) มีเด็กเยอะมากๆ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะรู้ว่ามีสถานที่แบบนี้อยู่ แต่ไม่เคยรู้และไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีเด็กที่ถูกพ่อแม่ทองทิ้ง และยังมีเด็กที่มีปัญหาเป็นจำนวนมากขนาดนี้” น้ำหวานเสริมว่า “การมายังสถานที่แห่งนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และทำให้เธอได้รู้จักหน้าที่ของตน สิ่งที่ถูก ที่ควรประพฤติปฏิบัติจากการเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัคร”

ในระยะแรกน้ำหวานยอมรับว่ารู้สึกท้อแท้ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูน้องมาได้ น้องเอาแต่ร้องไห้ แต่น้ำหวานก็ไม่ได้รู้สึกอารมณ์เสีย หรืออยากจะเลิกเป็นอาสาสมัคร แต่กลับรู้สึกเสียใจที่เห็นน้องร้องไห้จากความหงุดหงิด และต้องการหาทางแก้ไขเพื่อให้น้องมามีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป จากเหตุดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอมีความพยายาม มุ่งมั่นที่จะเอาชนะใจน้องมาให้ได้

สิ่งสำคัญอย่างแรกที่อาสาสมัครทุกคนควรทำคือ พยายามเอาใจใส่ดูแลน้องที่ได้รับผิดชอบ คอยสังเกตพฤติกรรม นิสัยของน้อง เพราะเด็กแต่ละคนก็จะมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป และต้องการการดูแลเอาใจใส่แตกต่างกันด้วย “ที่น้ำหวานสนิท และเป็นคนเลี้ยงดูน้องมามาจนถึงทุกวันนี้ได้ หวานคิดว่าเพราะว่านิสัยของเราคล้ายๆ กัน น้องมาเป็นเด็กที่ขี้ร้อนมาก พอร้อนแล้วจะหงุดหงิด และร้องไห้ หวานเองก็เป็นแบบนั้น เข้าใจดีว่าเหตุผลที่น้องงอแงเป็นเพราะอะไร” เมื่อทราบว่านิสัยของมาลัยเป็นเช่นไร ก็ช่วยให้น้ำหวานสามารถหาวิธีการรับมือ ดูแลน้องได้อย่างถูกวิธี

เปลี่ยนแปลงเพราะน้อง และงานอาสา

น้ำหวานกล่าวว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการอาสาสมัคร ได้มาดูแลน้องๆ ณ สถานสงเคราะห์ เธอเปลี่ยนแปลงจากเดิม “ปกติเป็นคนใจร้อนมากๆ อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย อย่างเช่นว่า เวลานัดเจอกับเพื่อนแล้วเพื่อนมาสายไม่กี่นาทีก็จะหงุดหงิด ไม่อยากจะรอ พอมาทำงานอาสาสมัครหวานก็ใจเย็นขึ้นมาก แล้วก็ยังทำให้หวานรู้จักการจัดสรรเวลาชีวิต ต้องแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ดี เพราะทุกวันนี้มีหน้าที่ที่จะต้องทำมากขึ้น” และสิ่งที่เธอได้รับอีกอย่างหนึ่งจากการเข้าร่วมโครงการคือ การพัฒนาตนเอง เพราะงานในการเลี้ยงดูเด็กเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องอาศัยการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเด็กต้องคอยหาวิธีการต่างๆ ในการสอนเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังรู้สึกภาคภูมิใจในการสอนให้เด็กคนหนึ่งมีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ครั้งที่เธอเดินทางไปยังสถานสงเคราะห์ฯ น้ำหวานได้เล่าถึงเรื่องที่ตนเองประทับใจ และปลาบปลื้มใจครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ทั้งดวงตาก็เต็มไปด้วยประกายของความดีใจกับน้องอย่างแท้จริง

สิ่งที่น้ำหวาน หนึ่งในอาสาสมัครโครงการอยากจะบอกคือ อยากชักชวนให้คนที่พอจะมีเวลาว่าง มาเข้าร่วมโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม มาร่วมกันช่วยดูแลเด็กที่ขาดครอบครัว ให้ความรักและการเอาใจใส่ เพราะการเป็นอาสาสมัครนั้น ไม่ต้องใช้เวลามากมาย เพียงแค่หนึ่งครั้งในแต่ละสัปดาห์ แต่ละครั้งที่มายังสถานสงเคราะห์ก็เพียงประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]