ธรรมะจากงานอาสาสมัคร

“สิ่งสำคัญที่สุด คือเราได้สอนตัวเอง ชีวิตคนเราจุดหมายปลายทางไม่ต้องมองไกล แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำอะไรเพื่อตัวเองให้น้อยลง ทำเพื่อคนอื่น ๆ มากขึ้น ……”
“ พี่จ๋า…พี่มาจากไหน พี่เป็นใครไม่เคยรู้จัก
อยู่ ๆ ก็มาอุ้ม มาทัก มาให้ความรัก อบอุ่นหัวใจ”

“พี่หน่อย” หรือ“ วิไล แสงสง่าตระกูล” สาวโสดใจดีวัย 36 ปี อาสาสมัครโครงการจิตอาสานวดเด็กรุ่นที่ ๔ ของมูลนิธิสุขภาพไทยและสหทัยมูลนิธิ เธออาสามาดูแลน้อง ๆ ที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด มาแล้ว 2 คน โดยที่น้องเอก น้องคนแรกที่ดูแลมีครอบครัวรับไปอุปการะแล้ว ขณะนี้ดูแล น้องอลิสา น้องสาวตัวน้อยวัย 2 ขวบเศษด้วยความเอาใจใส่ทั้งเวลาที่จัดสรรให้น้องอย่างจริงจัง ความตั้งใจในการพร่ำสอนอย่างดี การดูแลเอาใจใส่แม้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย และหัวใจทั้งดวงที่พี่อาสามอบแด่น้องคนหนึ่ง เพื่อให้ความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงทางจิตใจได้มีโอกาสทำหน้าที่หล่อหลอมใจดวงน้อยให้เติบใหญ่อย่างสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันพี่หน่อยเองก็ได้รับสิ่งดี ๆ จากงานอาสาสมัครมากมายเช่นกัน เธอถึงกับกล่าวว่า “การมาทำหน้าที่ดูแลน้อง ๆ ที่นี่ เหมือนเราได้ธรรมะในหลาย ๆ เรื่อง การพลัดพรากจากลา การมีสติ ความอดทน ความคาดหวัง ความอยากมีอยากได้ เรื่องความกตัญญูต่อครอบครัว และที่นี่เราจะรู้จักคำว่าเมตตามากกว่าปกติ มากกว่าคำว่ามีน้ำใจ ทำให้เราไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกเกลียด ให้อภัยคนได้ง่ายขึ้น และทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นอีกด้วย”

ปราการด่านแรก และสัจจะธรรมที่มาถึง
“มาแรก ๆ น้องเอกเป็นเด็กที่งอแงมาก เดินจูงมือมาตาลอยๆ แต่เมื่อเขาโตขึ้นเขากลับเป็นเด็กร่าเริง ชอบร้องเพลง เห็นเรามารับแต่ไกล หรือแค่ได้ยินเสียง รีบวิ่งตื้อเข้ามาหา มากอดเราเลย ตาเป็นประกายมีความสุขที่มีพี่มาหา วันก่อนที่เขาจะไปอยู่กับครอบครัวเขาเริ่มพูดเก่ง กำลังน่ารักมากเลย แม้กระทั่งอลิสาเองเราก็ต้องใช้ความอดทนในการดูแลเขามาก ๆ เพราะเป็นเด็กที่เฉย ๆ ไม่มีการตอบรับใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่พูด ไม่คุยเลย ปกติตามวัยเขาต้องพูดแล้ว เด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป เราก็ต้องพูดไปเรื่อยๆ อยู่คนเดียว แต่เราก็ยินดีทำนะคะ ไม่ท้ออะไร วันหนึ่งสายตาเขาแวววาวแล้วพูดตามเราว่า“ แมว ๆ ไปไหน” โอโห !! ดีใจมากเรียกให้คนอื่น ๆ ดูใหญ่ ทั้งดีใจทั้งตื่นเต้นที่เขาพูดออกมา น้องมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ”

เรื่องอื่น ๆ เราก็สอนเขา สอนให้พูดคำว่า ขอบคุณครับ สวัสดีครับ ขอโทษ คำพูดเหล่านี้ควรพูดให้ได้เพื่อที่เมื่อเขาไปอยู่กับคนอื่นจะได้มีพื้นฐานที่ดี สอนร้องเพลง สอนหนังสือเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยค่ะ การได้มาดูแลน้อง ๆ ที่นี่ก็เหมือนการมาฝึกฝนตนเอง ที่เราบอกว่าเรามาสอนน้อง น้องเองก็สอนเราด้วยหลายเรื่องเลย อย่างช่วงที่น้องเอกต้องไปอยู่กับครอบครัวเราใจหายมาก นั่งร้องไห้ แล้วเราก็ถามตัวเองว่า เราอยากให้เขาอยู่ที่นี่จริง ๆ เหรอ ถ้าต่อไปเราไม่ได้มา เขาจะอยู่กับใคร การที่เขามีครอบครัวรับไปอุปการะ เราควรจะยินดีไม่ใช่เหรอ เห็นสัจจะธรรมเลยว่าการพลัดพราก การยึดติดเป็นอย่างไร น้ำตาจากความเสียใจเปลี่ยนเป็นดีใจแทน ความคิดเริ่มเปลี่ยนไป แต่ก่อนเราจะคิดว่า น้องคนนี้เป็นของเรา ทำไมเราไม่ได้ดูแลเขา ยึดเป็นอัตตาของเรา ตอนนี้ปล่อยทุกอย่าง อย่างวันไหนมาตรงกับที่แม่ของอลิสามา เราจะไม่ได้ดูแลน้อง เสียใจเหมือนกันนะคะ แต่คิดว่าดีที่คุณแม่เขามา ดีกว่าหายหน้าไปเลย เราก็ไปดูแลน้องคนอื่นแทนได้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ได้ดูแลครอบครัวของตัวเอง ดูแลน้องอลิสแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

กลายเป็นความผูกพัน
ความอดทน และความตั้งใจจริงของพี่หน่อยยังไม่หมด เมื่อทางมูลนิธิฯแจ้งว่าน้องอลิสได้ครอบครัวอุปถัมภ์หลังจากดูแลน้องไม่นาน ซึ่งเธอเข้าใจและวางใจได้ดีแล้ว แต่เมื่อน้องอลิสป่วยหนักจึงต้องอยู่ที่นี่ต่อเพื่อรอครอบครัวใหม่ ช่วงที่น้องป่วยพี่หน่อยเป็นห่วงเป็นใยและเพียรค่อยมาดูแลถึงที่โรงพยาบาลนานเป็นเดือน ๆ

“ก็เหนื่อยนะ คิดๆ ดูมันง่ายมากที่จะตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกขี้เกียจ เพียงโทรมาบอกว่ามาไม่ได้ มันง่ายมากนะ แต่คิดถึงน้องว่าจะอยู่กับใคร อยู่ยังไง เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องมา ตอนแรกเราก็แค่คิดว่าเป็นหน้าที่ และกำหนดเวลาไว้เลยว่า วันเสาร์เช้าเราไม่ว่าง ถ้ามีธุระอะไรก็เลื่อนไปก่อน เมื่อเรารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ เราจะไม่ละเลย พอเริ่มทำไปสักพักคำว่าหน้าที่หายไป กลายเป็นความผูกพัน เพราะเรารู้ว่าเขารอเราอยู่ ที่โรงพยาบาล น้องต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด ไม่มีคนดูแล เราก็พาเขาไปเดินเล่นแถว ๆ นั้น การที่เราตามไปดูแลน้องที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะถามเราเลยว่า อยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าครึ่งชั่วโมงไม่เอานะ กติกาเหมือนเดิม คือต้องอยู่ดูแลน้องไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ชั่วโมง ครึ่งวันเช้าช่วยเลี้ยงน้องคนอื่น ๆ ที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด ครึ่งวันบ่ายไปเลี้ยงน้องอลิสที่โรงพยาบาล ทำอย่างนี้ประมาณ ๓ เดือน”

เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนตัวเรา
พี่หน่อยถือว่าเป็นพี่อาสาสมัครผู้โชคดีที่ทางบ้านและที่ทำงานเข้าอกเข้าใจในงานอาสาที่ทำเป็นอย่างดี เมื่อพี่หน่อยเรียนจบปริญญาตรีสาขาการตลาดที่มหาวิทยาลัยหอการค้า ทำงานด้านการตลาดอยู่ไม่นาน จึงได้ทำงานที่ฝ่ายชุมชนของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นงานกิจกรรมเยาวชนเพื่อสังคมเป็นส่วนใหญ่ งานประจำและงานอาสาสมัครจึงไปในทางเดียวกัน

สิ่งต่าง ๆที่เราได้เรียนรู้ในงานอาสาสมัคร เปลี่ยนแปลงตัวเราได้ดี เปลี่ยนวิธีคิดหลายเรื่อง เมื่อก่อนเป็นคนขี้งอน ต้องให้น้องอายุ ๒ ขวบมาสอน(พูดยิ้ม ๆ) เรื่องความอดทนในการดูแลน้อง ทั้งน้องเอกและอลิสเลี้ยงยากพอ ๆ กัน เรื่องความกตัญญูต่อครอบครัว เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราได้คิดว่ากว่าเด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นมาเหนื่อยยากแค่ไหน นี่เราเลี้ยงแค่อาทิตย์ละวัน แค่ ๙ โมงเช้าถึงเที่ยง ถอนหายใจพักเหนื่อยแล้ว แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องอยู่กับเขาตลอด และเราสามารถเอาสิ่งดี ๆ ไปบอกต่อคนอื่น แต่ที่สำคัญที่สุด คือเราได้สอนตัวเอง ชีวิตคนเราจุดหมายปลายทางไม่ต้องมองไกล แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำอะไรเพื่อตัวเองให้น้อยลง ทำเพื่อคนอื่น ๆ มากขึ้น ในการปฏิบัติ เราเลือกได้หลายวิธี การมาบริจาคสิ่งของ หรือมาเป็นอาสาสมัคร หลายคนบอกว่าไม่มีเงินบริจาค นี่ งานนี้ ไม่ได้ใช้เงินเลย แค่คุณลงแรง อาจติดขนมมาสักชิ้น แค่ได้เห็นน้องกินขนม 5 บาท10 บาท จะรู้เลยว่าความดีใจ ปลื้มใจ ต่างจากเอาเงินมาให้แค่ไหน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]