คำตอบจากชายหนุ่ม

“ถ้าให้เด็กพูดได้ เขาคงอยากอยู่กับพ่อแม่…ถึงยากจน แต่ก็ดีที่ได้อยู่กับพ่อแม่”
คุณวิรุธ เมฆวัฒนกุล วิศวกรหนุ่มวัย 29 ปี หนึ่งในอาสาสมัครเลี้ยงน้อง สะท้อนความคิดที่เขาได้ซึมซับจากการทำหน้าที่ “พี่อาสา” ที่คลุกคลีกับน้องชายต่างสายเลือดในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งมานานแรมปี

ด้วยบุคลิกแบบคนรุ่นใหม่ ท่าทีเชื่อมั่นในตัวเอง อารมณ์ดียิ้มง่าย กล้าเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของ วิศวกรการไฟฟ้าหนุ่มผู้นี้เลือกใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อคนอื่น เปิดบทสนทนาถึงครอบครัวตัวเองอย่างไม่ขัดเขิน…“พ่อแม่ผมเลิกกันตั้งแต่ผมอายุประมาณ 9–10 ปี ผมไม่ได้อยู่กับแม่ครับ ในวัยเด็กอยู่กับย่า แต่ย่ามาเสียก่อนผมจบปริญญาตรีแค่ปีเดียว ผมน้อยใจมาตั้งแต่เด็ก คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ช่วงที่พ่อแม่เลิกกันมันเหมือนเราก็มีอาการขาดความอบอุ่น พอเราขาดเราก็ไปอยู่กับเพื่อน…”

หลังจากนั้นเมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาก็ยังรักที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม ถึงขั้นรับตำแหน่งเป็นรองนายกสโมสรนิสิตฯ จนกระทั่งเรียนจบ และเริ่มต้นชีวิตทำงานอย่างจริงจัง วิรุธยังคงรู้สึกว่าอยากทำอะไรเพื่อคนอื่น.. “มันเริ่มจากที่เราทำอะไรมากๆขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่า การที่เราทำอะไรให้คนอื่นแล้วรู้สึกดี และผมเลือกที่จะทำกับเด็ก เพราะรู้สึกว่าการที่เราทำอะไรให้กับคน แล้วมันมีผลกระทบ ผลตอบรับกลับมา ทางไหนก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่าผมรับรู้ได้….”

ถามว่า ผ่านกิจกรรมมามากมาย ทำไมครั้งนี้จึงเลือกมาเลี้ยงเด็ก เขาให้คำตอบว่า “ก่อนหน้านี้ผมคิดเยอะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร มีทางเลือกระหว่างคนแก่ กับเด็ก มองไปที่คนแก่ผมคิดกับตัวเองว่า ผมทำอะไรให้พ่อแม่หรือป้าที่เขาดูแลเรามาแต่เด็กมากพอหรือยัง เลยคิดว่า งั้นเราดูแลพ่อแม่และป้าให้ดี ที่สุดก่อน ส่วนกับเด็กนี่เขาสะอาด… เหมือนกับว่าพอไปดูแลเด็กแล้ว ผมไม่มีอะไรติดในใจ และอีกอย่างผมชอบเด็กอยู่แล้ว….”

ระหว่างที่เขากำลังคิดอยากจะทำอะไรเพื่อคนอื่น และสิ่งที่เขาคาดหวังคือทำกับเด็กนั้นเองก็ได้รับข่าวจากมูลนิธิสุขภาพไทยราวกับธรรมะจัดสรร จึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงน้องในโครงการนี้ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าเด็กๆ ที่ “บ้านเฟื่องฟ้า” ที่ต้องเข้าไปรับดูแลนั้นเป็นอย่างไร.. “ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เป็นคนพาน้องมาให้ เราไม่ต้องไปรับเองที่บ้าน เราจึงเห็นแต่น้องของเรา แต่พอเริ่มคุ้นเคย เราก็ไปรับน้องเอง ได้ไปนั่งคุยกับแม่บ้าน ได้เห็นพฤติกรรมทั้งหมด จนซึมซับหลากหลายความรู้สึกมาก ทั้งตกใจ ทั้งสงสารเด็ก สงสารแม่บ้านที่ดูแลพวกเขา…”

วิรุธได้ดูแล “น้องไฮเตอร์” เมื่อตอนน้องอายุสามขวบ เขาเริ่มต้นใกล้ชิดกับเด็กชายตัวน้อยนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังคงไปเลี้ยงน้องทุกสัปดาห์ โดยสลับหากสัปดาห์ไหนไม่ว่างวันอาทิตย์ก็จะไปหาน้องในวันเสาร์แทน “ไม่เคยหายไปเกินสองอาทิตย์ คือเลี้ยงจนผูกพันไปแล้ว ถ้าไม่ไปนี่ คิดถึงเลย…”

แรกเจอ น้องเหมือนเป็นตุ๊กตา จับวางตรงไหนอยู่ตรงนั้น นิ่งอย่างเดียว อารมณ์ดี ไม่ดื้อ เดินเองไม่ได้ แต่นั่งเองได้ ยืนเองไม่ได้ต้องมีราวจับเกาะ “ตอนนั้นก็ค่อยๆดูไปตามลำดับ ตาเขาจะเหมือนคนปกติ จ้องตามีโฟกัส ช่วงแรกๆผมอยากรู้ว่า น้องเขาบกพร่องตรงไหน จึงสื่อสารกับเขาหลายอย่าง เพื่อรู้ให้แน่ ทั้งด้วยการเปิดเพลงให้ฟัง โดยเลื่อนจากหูซ้ายไปขวา เพื่อเช็กระดับการรับฟังของน้องเขา”

“ไฮเตอร์ ชอบเล่นลูกบอลโดยเฉพาะสีแดง ผมก็หยิบบอลแดงไปตรงตาเขา พอน้องเอื้อมมือมาจับ เราก็เริ่มทำให้มันห่างขึ้น ห่างขึ้น พบว่าเขามองเห็นได้ในระยะห่างประมาณสามเมตร ไกลกว่านั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาเห็นไหม อีกอย่างคือ น้องพูดไม่ได้ แม้แต่อ้อแอ้ก็ยังน้อยครั้ง”
เมื่อพบปัญหาทางออกสำหรับพี่มือใหม่ก็คือ การหันหน้าเข้าปรึกษาพี่ๆอาสาฯที่มีประสบการณ์ “ผมได้คุยกับป้าไกด์ ที่ทำงานอาสาที่นี่มาก่อนผม ป้าบอกผมว่า การที่เรามาเลี้ยงเด็กก็ต้องพัฒนาเด็กด้วยและทำให้น้องเขามีความสุข..”

นั่นคือแง่มุมที่เขายึดถือเป็นแนวทางหลัก และจุดประกายให้เริ่มต้นค้นหาสิ่งใหม่ๆ ต่อไป นั่นคือ สิ่งที่เป็นความสุขของน้อง

“ไฮเตอร์เขาชอบฟังเพลง เวลาฟังเพลงน้องจะหลับตาพริ้มแล้วยิ้ม เราก็จับได้ว่า เขาฟังเพลงแล้วเขาจะมีความสุข อีกอย่างคือเวลาผมเอาเขานอนตักแล้วเล่นกับเขา ทำเสียงจุ๊บ จุ๊บ เขาจะเอื้อมมือมาจับหน้าผมแล้วยิ้ม ผมก็ว่าน้องเขามีความสุขตรงนี้….” “เราอยากทำอะไรๆให้น้องเขาดีขึ้น คือ หนึ่ง มีความสุข และ สอง น้องต้องพัฒนาด้วย ผมพยายามพูดกับเขา สื่อสารกับเขาให้มากๆ ผมไม่รู้ว่าเขารู้ได้มากแค่ไหน แต่พยายามพูดไปเรื่อยๆ หยิบจับสิ่งของแล้วเรียกชื่อ สอนไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเมื่อน้องนอนอยู่ผมก็ทำกายภาพบำบัดให้น้องไปด้วยเพื่อให้เขาแข็งแรง รวมทั้งการฝึกให้น้องเดิน”

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงปีเศษๆที่พี่และน้องได้ผูกสัมพันธ์กัน

“ผมคุยกับพี่เลี้ยงทุกครั้ง จันทร์ถึงศุกร์พี่เลี้ยงจะพาน้องไปเดย์แคร์ คือ บ้านของเล่น ถ้าเด็กคนไหนได้ไปที่นั่นบ่อยๆ ก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ที่นั่นมีเพลงให้ฟัง มีของให้เล่น น้องคลานได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ จากที่นั่น ซึ่งต่างกับแรกที่เจอกัน แม้แต่จะจับน้องนั่งยังลำบาก แต่หลังๆมานี่ ยืนเองได้ เดินเองได้ แต่ต้องเกาะราวไป พัฒนาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ความแข็งแรงของร่างกายและสายตา”

“ที่มาเลี้ยงน้องนี่ เพื่อนๆเขาก็ถาม เพราะแต่ก่อนผมเกเร เพื่อนก็งง สงสัยว่าผมมาเลี้ยงเด็กได้อย่างไร แต่ก่อนผมใจร้อน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน แต่พอหลังจากมาเลี้ยงน้อง ผมเลิกหมดเลย จริงๆ ผมตั้งใจเลิกนานแล้ว มาเลิกได้ตอนเลี้ยงน้องนี่เอง”

“ผมรู้สึกว่าความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบดูบอล ชอบโน่น ชอบนี่ ส่วนตัวผมก็มีนะ เช่น ชอบดูหนัง แต่ที่มีความสุขที่สุดเลยคือการทำอะไรให้พ่อให้แม่ และทำอะไรให้กับไฮเตอร์ ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้ผูกพันไปแล้วเหมือนลูกเหมือนหลาน…”

เขาบอกว่า โครงการพี่อาสาเลี้ยงน้องนี้ให้อะไรดีๆ กับเขามากมาย อย่างแรกคือทำให้เขาได้คิดว่าตัวเองมีชีวิตที่มีคุณค่า “พอมาทำงานนี่ มันไม่ได้แค่ระหว่างเรากับน้อง แต่มันได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักคนที่มาทำด้วยกัน รู้จักคนอื่นมากขึ้น และมันยิ่งทำให้ผมยกระดับจิตใจตัวเองขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง”

..ถึงวันนี้วิรุธยอมรับว่ารักน้องและจะเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่โครงการยังเปิดโอกาสให้เขาได้ไปอย่างสม่ำเสมอ “เด็กต้องการความรักครับ…อย่างผมโตมา ผมก็รู้สึกว่าผมขาดความรักเพราะพ่อแม่แยกทางกัน แต่มองไป เรายังเห็นครอบครัว ไปอยู่ที่ไหนไกลๆ บางอารมณ์ผมยังคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ กลับบ้านดีกว่ายังไงก็บ้านเรา คือมันยังมีที่ให้กลับ ยังมีความผูกพันให้ยึด แต่ถามว่าเด็กๆ ที่นี่ เขามีอะไรให้ยึด….”

นั่นคือคำตอบจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจวิศวกรหนุ่ม อดีตเด็กบ้านแตกและเด็กเกเร ที่ทำให้ทุกสายตาที่มองมาอย่างฉงนฉงายกลายเป็นความเข้าใจได้อย่างง่ายดายว่า ทำไมเขาจึงเลือกที่จะเป็น “พี่อาสา” ในวันนี้ และยังรักที่จะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป

ที่มา : หนังสือเส้นทางอาสา เส้นทางความสุข มูลนิธิสุขภาพไทย
คนเขียนเรื่อง : นพวรรณ สิริเวชกุล

ท่านที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2589-4243 , 0-2591-8092 จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]