ความสุขใหญ่ๆ ของคนเล็กๆ

“เวลานวดเด็ก เราต้องมองหน้าเขา คุยกับเขา มันไม่ใช่แค่มือ ใช้แต่แรงอย่างเดียว แต่มันต้องใช้ความรู้สึกอ่อนโยนเข้าไปด้วย มือเป็นเหมือนตัวขับเคลื่อน ตัวผ่านความรัก ความอบอุ่น ความหวังดี มันส่งผ่านไปทางมือเรา…”

“ธนวรรณ แย้มสัตย์ธรรม” หรือ “พี่ตู่” วัย ๔๖ ปี เดินทางจากบ้านย่านพรานนก ฝั่งธนบุรี ข้ามเรือและนั่งรถประจำทางต่อมายังสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ. นนทบุรี เพื่อทำหน้าที่อาสาสมัครดูแลและ “นวด” เด็กน้อยที่ด้อยโอกาสทางสังคม พี่ตู่ทำงานในฐานะอาสาสมัครของ “โครงการสัมผัสกาย สัมผัสรัก” ของมูลนิธิสุขภาพไทย มาตั้งแต่รุ่นที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๕๔๘

สัมผัสกาย สัมผัสรัก สัมผัสด้วยหัวใจ
ครั้งแรกที่พี่ตู่เข้ามาในโครงการ ก็ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการนวดเด็กมาก่อน แต่ก็คิดว่าน่าจะทำได้ น่าจะเหมือนกับพ่อแม่เวลานวดถูตัว ดัดขาไม่ให้โก่งตอนอาบน้ำ คิดว่าน่าจะปรับใช้ด้วยกันได้ เวลาที่เรานวดให้เขา ถ้าเขาชอบ ถูกใจ จะกางแขน กางขาให้นวดเลย ยิ่งท่ายกก้น คลึงเท้า คลึงมือจะหัวเราะชอบใจ แต่ถ้าเด็กบางคนเริ่มคลานได้ เดินได้ จะนวดยากกว่า เขาจะไม่ยอมอยู่นิ่งๆ ให้เรานวด นอกจากนั่งเล่นเพลินๆ

การนวดเด็กถือเป็นการบำบัดทางเลือกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น มีทักษะสติปัญญาดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กพิเศษที่มีปัญหาด้านพัฒนาการต่างๆ อาทิ เด็กออสทิสติก สมองพิการ หรือกลุ่มอาการดาวน์ การนวดสัมผัสจะเป็นช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ โดยเฉพาะการเพิ่มกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น “เท่าที่สังเกตนะ อย่างเด็กเล็กที่ลำไส้ไม่ดี ไม่ค่อยถ่าย แบบ ๓-๔ วัน ถ่ายที ท้องเขาจะอืด พอเราลูบท้อง เขาจะสบาย ยิ้มได้ หัวเราะได้ ผายลมดีขึ้น ขับถ่ายดีขึ้น” ผลจากการนวดสัมผัส พี่ตู่มองว่ามันไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความรักที่เด็กๆ ได้รับจากการสัมผัสอันอบอุ่นด้วย
“เวลานวดเด็ก เราต้องมองหน้าเขา คุยกับเขา มันไม่ใช่แค่มือ ใช้แต่แรงอย่างเดียว แต่มันต้องใช้ความรู้สึกอ่อนโยนเข้าไปด้วย มือเป็นเหมือนตัวขับเคลื่อน ตัวผ่านความรัก ความอบอุ่น ความหวังดี มันส่งผ่านไปทางมือเรา ก็จะคุยกับเขา ป้านวดให้หนูนะ ขาหนูต้องดีขึ้น หนูจะได้วิ่งเล่น ทำในสิ่งที่หนูอยากทำ”

เมื่อหัวใจเป็นหนึ่ง ร่างกายเป็นรอง
อาสาสมัครที่เข้ามาในโครงการนี้ จะได้รับมอบหมายให้ดูแลเด็ก ๑ คนตลอดระยะเวลาโครงการ เพื่อให้อาสาสมัครสามารถดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นบางกรณี เช่น เด็กเจ็บป่วย เด็กที่ได้ครอบครัวอุปถัมภ์ เด็กที่กลับไปอยู่กับครอบครัวเดิม หรือเด็กถึงเกณฑ์อายุที่ต้องพ้นจากสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน

แต่เมื่อจบโครงการในแต่ละรุ่น เด็กในการดูแลของอาสาสมัครอาจไม่ใช่คนเดิม เนื่องจากเด็กคนนั้นอาจได้ไปกับครอบครัวอุปถัมหรือครอบครัวเดิม ทำให้พี่ตู่ได้เลี้ยงเด็กหลายคน ซึ่งเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่เธอบอกว่าเป็นรายละเอียดที่ควรใส่ใจ “บอกไม่ถูกว่าประทับใจเด็กไหนพิเศษ เพราะเด็กเขามีความเฉพาะตัว บางคนที่พี่ชวนมา เขาบอกอยากเลือกเด็กที่หน้าตาดี แต่พี่บอกเลยด้วยความเป็นเด็ก เด็กทุกคนมีความน่ารัก มีความสดใสในตัวอยู่แล้ว คุณมาเลี้ยงแล้วจะรู้เองเด็กแต่ละคน เขาจะมีบุคลิกและความชอบส่วนตัวไม่เหมือนกัน อย่างน้องกวิน (เด็กคนที่พี่ตู่ดูแลปัจจุบัน) จะชอบแต่งตัว วาดรูป พี่ก็จะเก็บกล่องสี กระเป๋าให้เขาโดยเฉพาะ เพราะที่นี่ของทุกอย่างที่ได้มาเป็นของส่วนกลาง พี่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว เก็บของที่เป็นของเขาไว้ แล้วบอกว่าเขาว่าอันนี้ของหนู ป้าตู่จะเก็บไว้ให้นะ ให้เขารู้สึกว่ามีของรัก นี่ของฉัน อย่างกระเป๋าคล้องคอใบนี้ มันเป็นของพิเศษสำหรับเขา”

ในช่วงระยะหลัง เด็กที่พี่ตู่ดูแลรับผิดชอบจะเป็นเด็กโตที่สามารถเดินเองและดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ “ไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค ใจเรามาก่อน ร่างกายเป็นรอง พี่ยังอยากช่วยเด็กๆ เพราะเขายังรอความช่วยเหลือจากเรา สมมตินะเห็นคนตกน้ำ เราอยากช่วย เราก็ไม่คิดว่าเราแก่ ร่างกายไม่ไหว ไม่ว่าจะยังไงก็ต้องช่วย พี่คิดว่าคนเรามีบุญกรรม ถ้ามีบุญก็รอดทั้งคู่ แต่ถ้ามีกรรมก็ไม่รอดทั้งคู่ อย่างน้อยเราได้ทำ ดีกว่าจะมาโอดครวญว่าฉันไม่ไหว มันไม่ใช่ปัญหา”

บุญคือความสุขที่ได้ทำ
งานอาสาสมัครจึงกลายเป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์ ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันที่ไปทำบุญที่วัด แม้ว่ารายได้ของเธอในตอนนี้ ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เธอก็นั่งรถ ประจำทางเดินทางมาสถานสงเคราะห์ฯ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขและสบายใจ บางวันมา มีเงิน ๔๐-๕๐ บาท พี่ก็มา พี่นั่งรถเมล์มา ใช้เวลามากกว่าอยู่กับเด็กที่นี่อีก เราต้องรู้จักใช้เงินด้วย เราทำอะไรที่มีความสุข ไม่เบียดเบียนใคร บางคนบอกไม่มีเวลา พี่บอกถ้าใช้เวลา ๕ ปีที่พี่ทำมา แค่อาทิตย์ละวัน ถ้าเราไปเที่ยว มันก็เป็นความสุขที่ได้แค่ตัวเราคนเดียว แต่ถ้ามาที่นี่ เด็กตั้งกี่คนที่ได้รับตรงนี้ ได้รับความอบอุ่น มันไม่สิ้นสุด

“การเป็นอาสาสมัครเป็นการทำบุญที่เห็นผลทันที ไม่ต้องชาติหน้า อย่างถ้าเราไปบริจาคเงินสร้างวัด สร้างโบสถ์ มันได้วัตถุ หลายคนอาจมองว่าเป็นการสะสมบุญไว้ชาติหน้า แต่พี่มองว่าชาติหน้า มันยังมาไม่ถึง มันมองไม่เห็น แต่สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ มันมีความสุขจากเด็กๆ กลับมา บุญคือความสุขในสิ่งที่ทำ ไม่ได้หวังบุญชาติหน้า”

ต้นไม้แห่งความหวัง
ผลที่ได้รับจากการทำกิจรรมในโครงการนี้ ทำให้ความเข้าใจและนิยามความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสไปได้มากกว่า “การบริจาคเงินและสิ่งของ” สิ่งที่อาสาสมัครมอบให้คือ เวลาและความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือเด็กๆ “เด็กก็เหมือนกับต้นไม้ จากต้นเล็กๆ กว่าจะโตก็ต้องค่อยๆ ประคับประคองกันไป วันนี้เราช่วยเขาบำรุง ใส่ปุ๋ย ช่วยเหลืออะไรเขาได้ เขาก็มีโอกาสเติบโตเป็นต้นที่ดีได้” พี่ตู่เชื่อว่าสิ่งที่เธอทำอยู่ในวันนี้มันไม่ได้ไร้ความหมาย แต่ความรัก ความอบอุ่นที่มอบให้เด็กๆ มันจะค่อยๆ ซึมซับเป็นความรู้สึก เป็นความทรงจำที่ดีเมื่อเขาเติบโตขึ้น “สิ่งที่เห็นว่าเด็กได้รับอะไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วตัวเองได้รับความรู้สึกที่ดีอย่างไร พี่คิดว่าพี่โชคดี และไม่เสียโอกาสที่ได้มา”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]