จันทน์ไหนเรียก จันทน์แดง ?

จันทน์แดง เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่ามาจากพืชหลายชนิด แต่ดั้งเดิมเข้าใจว่ามาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus santalinus Blanco ในภาษาไทยเรียกว่า “จันทน์แดง หรือ รักตจันทน์” เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่ว อยู่ในสกุลเดียวกับประดู่

จันทน์แดง หรือ รักตจันทน์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลดำ ยางสีแดงเข้ม ใบประกอบ ไม่มีหูใบ ก้านใบมีขนนุ่ม เนื้อใบคล้ายแผ่นหนัง ดอกช่อ สีเหลือง ผลรูปกลมแบนมีปีก เมล็ดเกลี้ยง สีน้ำตาลแดง มีรายงานจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) กล่าวว่าจันทน์แดง หรือ รักตจันทน์มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในภาคใต้ของอินเดีย และมีการนำเข้าไปปลูกในศรีลังกา บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ในอดีตมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะการนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์และสีย้อม แต่จันทน์แดงนี้เป็นไม้โตช้าจึงหายากขึ้น เฟอร์นิเจอร์ไม้จันทน์แดงจึงทั้งหายากและราคาแพง ในญี่ปุ่นใช้ไม้จันทน์แดงทำเครื่องดนตรีที่เรียก ชามิเซ็น

ในปัจจุบันจันทน์แดงชนิดนี้จัดเป็นไม้ใกล้สูญพันธุ์ตามรายการของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources –IUCN) จัดอยู่ในภาคผนวกที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส ต้องการใบรับรองก่อนส่งออกเพื่อยืนยันว่าไม่มีผลต่อการอยู่รอดของสปีชีส์ เพราะมีการใช้ประโยชน์มากในอินเดียใต้ ดังนั้นการส่งออกไม้จันทน์แดงจากอินเดียถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้การใช้จันทน์แดงชนิดนี้มาใช้เป็นยาจึงหาได้ยากมาก

ในตำรับยาหลายตำรับพบการใช้ยาจันทน์แดงรักษาในหลายโรค เช่น แก้อักเสบ โรคบิด ตกเลือด บำรุงกำลัง และยังใช้เป็นยาแก้ไข้ ยาถ่ายพยาธิ แก้ปวดบวม เป็นต้น แก่นจันทน์แดง มีสารสีแดงหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ เช่น วานทาลินเอ วานทาลินบี ไอโซบเทอโรคาร์โพโลน เทอโรคาร์ปไทรออล ไอโซปเทอร์โรคาร์พีนเทอร์โรคาร์พอล เทอร์โรคาร์ปไดโอเลน

อย่างไรก็ตาม จากรายงานอื่นๆ พบว่าในประเทศไทย ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม มีการใช้จันทน์แดงที่มาจาก ต้นจันทน์ผา หมอพื้นบ้านได้อธิบายว่าต้นจันทน์ผาเมื่อโตเต็มที่ ลำต้นจะมีรอยแตก ทำให้เชื้อราชนิดหนึ่งเข้าไปเจริญเติบโตทำให้เนื้อไม้ของต้นจันทน์ผาเปลี่ยนเป็นสีแดง หมอพื้นบ้านเรียกไม้นี้ว่า จันทน์แดง ซึ่งในตำรับยาไทยที่ใช้จันทน์แดงหรือจันทน์ผาเป็นส่วนประกอบยานั้น จึงมีการจัดจำแนกได้ว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena loureiroi Gagnep. แต่ในปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen (ชื่อ Dracaena loureiroi Gagnep. จึงกลายเป็นชื่อพ้อง) จันทน์ผาหรือจันทน์แดงชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ใน กัมพูชา จีน ลาว ไทย เวียดนาม ในตำรับยาจีนมีการใช้ยาง (resin) จากต้นจันทน์ผา ที่เรียกว่า“เลือดมังกร” มาทำเป็นเครื่องยานั่นเอง

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถาบันทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสมุนไพรได้มีการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ที่หมอยาพื้นบ้านในแต่ละชุมชนมีการใช้สุนไพรในพื้นที่ตนเอง จึงทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสมุนไพรจันทน์แดง พบว่าจันทน์แดงที่หมอพื้นบ้านนำมาใช้เป็นยานั้น ทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือหรือภาคอีสานนั้น จันทน์แดงจะมาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dracaena cambodiana Pierre ex Gagnep. มีชื่อไทยว่า “จันทน์แดง” ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากชื่อวิทยาศาสตร์ แสดงว่าสมุนไพรชนิดนี้พบครั้งแรกที่กัมพูชา และมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอัสสัม กัมพูชา เกาะไหหลำ ลาว ไทย เวียดนาม

จันทน์แดงหรือจันทน์ผา ชนิด Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen) และจันทน์แดง ชนิด Dracaena cambodiana Pierre ex Gagnep. มีความแตกต่างกันดังนี้ จันทน์ผาเจริญได้ดีในระบบนิเวศที่เป็นเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเล 900-1,700 เมตร แต่จันทน์แดงเจริญได้ดีในระบบนิเวศ ที่เป็นป่าแห้งแล้ง ดินเป็นทรายตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนสูงกว่าน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร ลักษณะลำต้นของจันทน์ผาสูงใหญ่ (5-15 เมตร) กว่าจันทน์แดง (สูง 3-4 เมตร) ส่วนปลายยอดของจันทน์ผาและฐานใบมีสีแดง แต่ของจันทน์แดงไม่ปรากฎสีแดงทั้ง 2 บริเวณ ขนาดของใบจันทน์ผาใหญ่กว่าของจันทน์แดง ลำต้นของจันทน์ผามีขนาดใหญ่กว่าลำต้นของจันทน์แดง ส่วนจันทน์แดงมีการแตกแขงมากกว่าจันทน์ผา จันทน์ผามีดอกออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ก้านดอกยาว 3-6 มิลลิเมตร มีขนปกคลุมหนาแน่น กลีบดอกสีขาวน้ำนม ก้านชูเกสรตัวผู้มีลักษณะเป็นหลอด แต่จันทน์แดงออกดอกเป็นกระจุก 3-7ดอก ก้านดอกยาว 5-7 มิลลิเมตร เกลี้ยงไม่มีขน กลีบดอกสีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน ก้านชูเกสรตัวผู้ เป็นแถบแบน ในฐานข้อมูลของพรรณไม้ในประเทศจีน (Flora of China) กล่าวไว้ว่ายางสีแดงจากจันทน์แดง (Dracaena cambodiana Pierre ex Gagnep.) สามารถใช้แทนยางแดงจาก จันทน์ผา (Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen) ได้

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าต้นจันทน์แดงที่ใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยน่าจะมาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dracaena cambodiana Pierre ex Gagnep. มากกว่าจะเป็นต้นจันทน์ผา ชื่อ Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen)

การที่แก่นจันทน์แดงมีสีแดงน่าจะมาจากสมมุติฐาน 2 ส่วน คือ แดงมาจากยาง (resin) ที่ซึมเข้าไปในเนื้อไม้ และเกิดจากเชื้อรา ในปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ.2013) ประเทศจีนได้มีการศึกษาพบว่าในลำต้นของจันทน์แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena cambodiana Pierre ex Gagnep. มีเชื้อราที่สำคัญที่ให้สีแดงมี 2 ชนิด คือ Gibberella sp. และ Septoria sp. และจากการทดลองใส่เชื้อราทั้ง 2 ชนิดลงในต้นจันทน์ที่มีอายุ 10 ปี พบว่าสามารถทำให้แก่นเป็นสีแดง และได้สารสำคัญมากว่าต้นที่ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ถึง 2 เท่า

เมืองไทยควรศึกษาจันทน์แดงให้ครบวงจรตั้งแต่ปลูก ขยายพันธุ์ แปรรูป สามารถนำมา ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ และการค้าต่างๆ ได้แน่นอน