จิตวิทยาการเลี้ยงดูและอบรมเด็ก

บทนำ ความรู้ทางกุมารเวชศาสตร์ได้เจริญขึ้นมาก และคงจะมากขึ้นตามลำดับในวันข้างหน้า สุขภาพกายของเด็กไทยก็ได้รับการดูแลดีขึ้นตามไปด้วย จากความสามารถของกุมารแพทย์ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญพอๆกับสุขภาพกาย คือ สุขภาพจิตของเด็ก เพราะผู้ที่สุขภาพดีควรจะดีทั้งกายและใจ กายและใจไม่สามารถแยกจากกันได้ดังที่เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าภาวะจิตใจที่ไม่เป็นสุขย่อมส่งผลกระทบถึงสุขภาพกายดังเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มโรค Psychophysiologic disorders ซึ่งปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้เรียกโรคกลุ่มนี้ว่า Psychological factor affecting physical conditions ซึ่งยิ่งเป็นการ
ชี้ให้เห็นชัดถึงอาการทางกายที่เกิดจากภาวะจิตใจเป็นเหตุ

เนื่องจากเด็กต้องอาศัยการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่เป็นเวลานานหลายปี จึงจะสามารถช่วยตนเอง
และพึ่งตนเองได้ ฉะนั้นการเลี้ยงดูและการอบรมเด็กจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการจะทำให้เด็กมีสุขภาพกายและใจดีเต็มที่ตามศักยภาพสูงสุด(maximum potential) ของเด็กแต่ละคน การที่จะเป็นเช่นนี้ได้

พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กต้องสามารถเลี้ยงดูและอบรมเด็กได้อย่างเหมาะสมโดยอาศัยประสบการณ์ของตนเอง และการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือหรือจากผู้รู้ กุมารแพทย์เป็นผู้หนึ่งสามารถที่จะมีบทบาทได้อย่างมากในการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยการให้คำแนะนำและปรึกษา เพราะกุมารแพทย์มักจะเป็นผู้ที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กให้ความเชื่อถือและมาพบอยู่แล้วเสมอๆด้วยปัญหาทางกาย เช่น เป็นหวัดตัวร้อน หรือมาสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เด็ก

จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก (Psychological aspect of child rearing)
สิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์นั้น แบ่งได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆคือ
สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย(physical needs) เช่น อาการ อากาศสำหรับหายใจ อุณหภูมิที่เหมาะสมเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น นอกจากนี้แล้วมนุษย์ยังมีสิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ (psychological needs)ที่จะทำให้มนุษยนั้นอยู่อย่างปกติสุข สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพ คือ สามารถประกอบการงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคม ถ้าเด็กได้รับแต่สิ่งจำเป็น
สำหรับร่างกายอย่างครบบริบูรณ์ แต่ขาดสิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ เราก็อาจได้เด็กที่รูปร่างแข็งแรงสูงใหญ่ตามเกณฑ์มาตรฐานทุกประการ แต่อาจมีท่าทางไม่เป็นสุข หงอยเหงา ไม่ร่าเริงแจ่มใสเชื่องซึม หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบทำลาย หรือไม่สามารถรับผิดชอบได้ตามวัย เช่น ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ ฉะนั้นควบคู่กับแนะนำว่าเด็กอายุเท่าใด ต้องให้นมแบบไหน อาหารเสริมอะไร

ฉีดวัคซีนอะไร ก็ควรจะให้ความรู้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอายุเท่าใดมีลักษณะนิสัยตามธรรมชาติอย่างไร และเด็กต้องการตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจอย่างไรถึงจะเหมาะสมเพื่อทำสุขภาพจิตดีควบคู่กับการมีสุขภาพกายดี ความต้องการด้านจิตใจของเด็ก
ความต้องการด้านจิตใจของเด็กนั้นมีความแตกต่างกันไปบ้างตามวัยของเด็ก แต่พอจะสรุป
ได้กว้างๆ ว่า สิ่งต่อไปนี้มีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กทุกคน คือ

1) ความรักความอบอุ่น เด็กรู้สึกอยากให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูรักตน รู้สึกว่าตนเองเป็นที่
ต้องการ มีค่าสำหรับพ่อแม่ รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ เด็กไม่ควรรู้สึกว่าพ่อแม่รังเกียจตน ไม่ชอบลำเอียง ปฏิเสธหรือไม่เป็นที่ต้องการ เป็นส่วนเกิน จำใจต้องเลี้ยงดูตน และไม่ควรรู้สึกมีปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจต่างๆ นาๆ เจตคติหรือท่าทีของผู้ใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจของเด็กเกี่ยวกับเจตคติของพ่อแม่ต่อลูก สิ่งที่สำคัญที่จะต้องกล่าวถึง คือ เด็กต้องการความรักอย่างเหมาะสม ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขต เช่น ตอมใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผลจนทำให้กลายเป็นคนตามใจตัวเองตลอดเวลาไม่สามารถอดทนต่อภาวะที่คนปกติธรรมดาควรจะอดทนได้ จนกลายเป็นข้อบกพร่องทางบุคลิกภาพไป

2) การกระตุ้นอย่างเหมาะสม การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมนั้นขึ้นกับวัยของเด็ก เช่น
วัยทารกแรกเกิดก็ต้องการ การอุ้ม การสัมผัส การยิ้ม การพูดคุยด้วยเพื่อให้ได้ยินเสียง พอโตขึ้นก็ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น การเล่น การพูดคุย ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยก็จะช่วยกระตุ้นได้ดี สำหรับเด็กในขวบปีแรก เพื่อกระตุ้นการได้ยิน การใช้สายตา ควรใช้ของเล่นที่เคลื่อนไหวที่มีสีสด และมีเสียงพอโตขึ้นอีกเด็กจะต้องการการกระตุ้นเพื่อลดการเคลื่อนไหว ควรใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น การใช้นิ้วมือการใช้มือเท้า และอื่นๆ การกระตุ้นต่างๆ นี้ผลทางจิตใจที่ได้คือเด็กรู้สึกได้รับความรัก ความสนใจ และที่สำคัญ คือ ได้กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกสนุก อยากทดลองอยากลองทำ ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกตามไปด้วย

3. ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย (Security and protection) ความรู้สึกมั่งคงปลอดภัย
ของเด็กได้มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครอบครัวสงบสุข เด็กจะไม่รู้สึกกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้องโดยไม่มีโรคทางกายเป็นเหตุแต่กลับสัมพันธ์กับเวลาเด็กเกิดรู้สึกเครียด รู้สึกกลัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายกัน หรือกำลังจะหย่าร้างกัน

นอกจากนั้นเด็กก็ยังต้องการความรู้สึกว่าผู้ใหญ่สามารถปกป้องตนได้ ไม่ปล่อยให้เกิดอันตรายกับตน เด็กควรได้รับการปกป้องจากอันตรายทางกาย เช่น อุบัติเหตุต่างๆ และควรได้รับการปกป้องไม่ให้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง (psychic trauma), เช่น ภาพอุบัติเหตุที่น่าสยดสยองมาก ภาพภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรงน่าสพึงกลัว ภาพเกี่ยวกับทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก และควรเตรียมตัวเตรียมใจให้เด็กสำหรับเหตุการณ์สำคัญๆเช่นการมีน้องใหม่ การผ่าตัดเป็นต้น

4) คำแนะนำและการสนับสนุน (Guidance and support) เด็กต้องการคำแนะนำ
หรือคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น บทบาทที่เหมาะสมตามเพศของเด็กหญิงหรือเด็กชายการปฏิบัติตัวในสังคม ค่านิยม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ และควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เห็นเหมาะสม เช่น กิจกรรมที่เด็กต้องการจะทำ อาจช่วยด้านการเงินหรือช่วยหาอุปกรณ์ช่วยให้ความคิด

5) ความสม่ำเสมอ และการมีขอบเขต (Consistency and limits) ทั้ง 2 อย่างมี
มีความสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้หรือไม่ได้ ไม่สับสนทั้งความคิดและการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ที่ใช้ควรจะมีเหตุผลและมีการปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าในบ้าน เพราะทำให้บ้านสกปรก ก็ควรเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่ใช่เวลามีเด็กรับใช้ใส่ได้ เวลาแมต้องทำความสะอาดเองใส่ไม่ได้หรือวันหนึ่งไม่ยอมให้ทำสิ่งหนึ่งแต่พออีกวันทำสิ่งเดียวกันก็ยอมให้ทำได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการเตะบอลล์เล่นในบ้าน การฉีกกระดาษจากหนังสือ การขีดเขียนที่ฝาผนังบ้าน ผู้ใหญ่บางคนไม่แน่ใจว่าอะไรควรจะห้ามเด็ก อะไรไม่ควรห้าม กลัวจะตามใจมากไป หรือเข้มงวดเกินไปก็ให้ถือหลักง่ายๆ ว่ามี 3 อย่างที่เด็กทำไม่ได้แน่นอน คือ

1. การทำร้ายตัวเอง (รวมทั้งการเล่นที่เป็นอันตราย เช่น ของมีคม)
2. การทำร้ายผู้อื่น
3. การทำลายสิ่งของ

6) ให้โอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ วัยเด็กเป็นวัยที่มีกำลังงานในตัวมาก เด็ก
ต้องได้รับโอกาสให้ใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ เช่น การเล่น การออกกำลังกายในเกมกีฬาต่าง ๆ

การมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญข้อนี้อาจต้องการให้เด็กอยู่อย่างสงบเรียบร้อยเสมอ อาจทำให้กลายเป็นเด็กเก็บกด ไม่กล้าแสดงออก เชื่องซึมหรือเฉี่อยชา ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

การอบรมเด็ก (Discipline technique of children)
ผู้ที่เคยเลี้ยงดูเด็ก คงทราบดีทุกคนว่า ไม่ว่าเด็กคนหนึ่งจะเป็นเด็กดีเพียงใดก็ตาม ในบาง
ครั้งบางคราวก็ยังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีวิธีการที่จะแก้ไขพฤิตกรรมที่ไม่เหมาะสม และให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมและสามารถควบคุมตัวเอง ให้มีความประพฤติที่สังคมยอมรับได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยควบคุมในเวลาต่อมา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการในเด็กมักได้แก่

– การไม่เชื่อฟังเมื่อห้ามปราม เช่น การปีนป่ายไปบนที่สูง
– การไม่ยอมทำอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำ เช่น ทำการบ้าน เก็บของเล่นเข้าที่
ทำงานที่ได้รับมอบหมาย
– พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เช่น ตีน้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย การทำลายสิ่งของเมื่อโกรธ
หรือถูกขัดใจพ่อแม่จำนวนมากไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไรกับพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกถึงจะให้ผลดีกับเด็กปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์มีมากขึ้น แต่พ่อแม่ทั่วไปมักจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้นี้มีแต่นักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้น ความรู้ความเข้าใจให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้องสมควรได้รับการเผยแพร่ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ วิธีการตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กทำได้ดังนี้

1. การใช้เหตุผล (Reasoning)
การให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเด็กสามารถเข้าใจ มักจะสามารถแก้ไขพฤติกรรม
ได้ในเด็กยิ่งเล็กการให้เหตุผลต้องแบบง่าย สั้น ไม่พูดยืดยาว เช่น มีดเล่นไม่ได้เพราะจะบาดมือหนูหนูไม่ปีนขึ้นที่สูงเดี๋ยวจะตกลงมาเจ็บ

2. การใช้ท่าทีที่หนักแน่นและจริงจัง (Firmness)
เวลาที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กทำอะไรแล้วเด็กอิดเอื้อน ไม่ยอมทำ วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือต้อง
พูดให้หนักแน่นและจริงจังว่าให้ทำเดี๋ยวนี้ อาจต้องใช้ท่าทีประกอบด้วย เช่น ลุกขึ้นจูงมือเด็กให้ไปทำสิ่งที่ต้องทำ เช่น เด็กอิดเอื่อนไม่ยอมทำการบ้านแม้จะพูดเตือนแล้วหลายครั้ง แม่ต้องแสดงให้เห็นว่าแม่หมายถึงว่าลูกต้องทำการบ้านแล้วโดยบอกด้วยเสียงที่หนักแน่นว่าเอาสมุดการบ้านออกมาแล้วนั่งลงทำเดี๋ยวนี้เลย ถ้าเด็กไม่ยอมลุกก็ต้องจูงมือไปเอาสมุด ดินสอมานั่งลงให้ทำและเฝ้าให้ทำถ้าจำเป็น

3. การใช้สิ่งทดแทน (Alternative response)
เวลาห้ามไม่ให้เด็กทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรสอนเด็กไปด้วยว่าสิ่งไหนที่ทำแทนได้ เช่น
เด็กเล่นของแหลมอยู่จะเอาจากมือเด็กก็ให้เอาของอื่นที่น่าสนใจกว่ามาให้เด็กแทน ไม่ควรหยิบของแหลมจากมือเด็กเฉยๆ ซึ่งเด็กจะร้องอาละวาดต่อ หรือเห็นเด็กขีดเขียนฝาผนังบ้านอยู่ห้ามไม่ให้ทำเพราะสกปรกบ้าน ก็ควรหากระดาษมาให้เด็กได้เขียนแทน เป็นต้น

4. ให้สามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก (Freedom to discuss ideas and
feelings)ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ หรือมีความรู้สึกอย่างไรก็สามารถพูดคุยชี้แจงได้ เช่น เด็กอาจต้องการตัดสินใจเองในการเลือกของใช้ส่วนตัวไม่ใช่แม่เลือกให้ แล้วเด็กต้องใช้ทั้งที่ไม่ชอบไม่ถูกใจ

5. การให้รางวัล (Positive reinforcement)
เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นอีกไม่หายไปผู้ใหญ่ควรให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมนั้น อาจเป็นการกล่าวชมด้วยวาจา แสดงกิริยาชื่นชมพอใจใน
พฤติกรรมนั้น เช่น โอบกอด ลูบหัว ปัญหาคือผู้ใหญ่มักจะละเลยไม่กล่าวคำชมเชยเด็ก เพราะเห็นเป็นพฤติกรรมธรรมดาๆ เช่นเด็กยอมแปรงฟันเอง แต่งตัวเอง แต่จะดุว่าหรือติเตียนเด็กเมื่อเด็กไม่ยอมช่วยตัวเอง การให้รางวัลเด็กอาจให้ได้อีกแบบคือ ให้เมื่อเด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Omission training)เช่น กล่าวชมเชย หรือให้รางวัลแบบอื่นเมื่อลูกสองคนเล่นกันด้วยดีไม่ทะเลาะไม่ตีกันในช่วงตลอดสองวันที่ผ่านมา

6. การเลิกให้ความสนใจ (Ignoring)
เป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น ฉะนั้น เมื่อเด็กมี
พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจใช้วิธีเลิกให้ความสนใจขณะที่เด็กกำลังกระทำพฤติกรรมนั้น และให้ความสนใจหรือให้รางวัลกับเด็กที่มีพฤติกรรมที่เราต้องการแทน ตัวอย่าง เช่น ลูกคนหนึ่งกินอาหารดีอีกคนไม่ค่อยยอมกินเล่นไปเรื่อยๆ แม่ก็อาจชมคนที่กินอาหารดีแต่เฉยๆ ไม่แสดงความสนใจกับลูกคนที่ไม่ยอมกินแต่เขี่ยอาหารเล่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องดุว่า

7. การเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ให้กับเด็ก (Positive model)
ผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์
นั้นมาเรียนรู้ภายหลัง ไม่ใช่ถ่ายทอดตามพันธุกรรมอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ เด็กจะเอาอย่างผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด โดยดูจากการกระทำของผู้ใหญ่มากกว่าการสั่งสอนด้วยวาจา เช่นพูดสอนว่าการพูดปดเป็นสิ่งไม่ดีห้ามทำ แต่พอมีคนที่พ่อแม่ไม่ต้องการพบมาพบ ก็ใช้ลูกออกไปบอกว่า พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน การกระทำแบบนี้ก็เท่ากับสอนลูกว่าที่จริงพูดปดได้

8. การลงโทษ (Punishment)
โดยทั่วไปจะพยายามไม่ใช้การลงโทษ นอกจากวิธีอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล
สิ่งสำคัญที่สุดคือเวลาใช้การทำโทษนี้ผู้ใช้ต้องไม่ใช้ด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด ไม่ชอบเด็กเพราะจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้าน เวลาใช้ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าเราต้องการเพียงหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้นและพร้อมที่จะหยุดการลงโทษเมื่อเด็กคิดว่าสามารถควบคุมตัวเองให้ไม่ประพฤติ ไม่เหมาะสมอีก การลงโทษมีตั้งแต่เบาๆ จนไปถึงระดับที่รุนแรงขึ้น

8.1 การดุว่า การดุว่าด้วยวาจาในเด็กบางคนก็ได้ผลดี สามารถหยุดการกระทำ
อันไม่สมควรของเด็ก ควรใช้เมื่อการบอกห้าม และการใช้เหตุผลไม่ได้ผลแล้ว
8.2 แยกเด็กออกไปอยู่ตามลำพัง เช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งคุยมากขณะเรียน รบกวน
คนอื่นบ่อยๆ ก็อาจแยกเด็กไปนั่งคนเดียว หันหน้าเข้ามุมห้อง ทำให้เด็กไม่สนุก เบื่อที่เด็กทั่วไปจะไม่ชอบอย่างมาก
8.3 การปรับ ให้เด็กรับผิดชอบกับของเสียหายที่เด็กทำไป เช่น เด็กคนหนึ่งโกรธ
แม่ที่ขัดใจ แล้ววิ่งไปถอนต้นไม้ของแม่ที่เพิ่งปลูก จึงให้แม่หักเงินค่าขนมเด็กทีละเล็กละน้อยชดใช้ค่าต้นไม้ที่ซื้อมา
8.4 การตี การตีอาจทำให้เด็กหยุดประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ได้บางครั้ง แต่การใช้
กำลังกับเด็กมีข้อเสียด้วย คือ ถ้าใช้บ่อยๆ จะทำลายความสัมพันธ์ ระหว่าง เด็กและผู้ใหญ่ และเด็กจะใช้วิธีรุนแรงและใช้กำลังบ้าง เพราะเอาอย่างผู้ใหญ่และรู้สึกคับข้องใจที่ผู้ใหญ่ใช้วิธีรุนแรงกับตน เช่นอาจไปชกต่อยเพื่อนที่โรงเรียนบ่อยๆ จนเป็นปัญหาเกิดขึ้น

สรุป
จิตวิทยาการเลี้ยงดูและอบรมเด็กนั้นไม่ใช่ของยากจนเกินไป ขอเพียงแต่พ่อแม่ และผู้เกี่ยว
ข้องกับเด็กมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องรู้และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เท่านั้น ก็จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาทางกายและใจของเด็กได้มาก จึงหวังว่าการพยายามเผยแพร่ความรู้อันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อๆ ไป

อ้างอิงจาก http://www.ramamental.com/medicalstudent/childandteen/childpsyccare/

บทความที่เกี่ยวข้อง

สร้างของเล่นพัฒนาเด็กพิการ‬

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

การเล่นเป็นกระบวนการการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา แ […]

ใช้ “นิทาน” ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติก

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ คณะทำงานโครงการนิทานสร้างได้ ก […]

ห้ามใช้ “มือถือ-แอปฯ” เลี้ยงลูกต่ำกว่า 3 ขวบ สมองไม่จัดลำดับเรียนรู้

admin 23 กุมภาพันธ์ 2019

พญ.พรรณพิมล วิปุรากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจ […]