ฉลาดกิน ฉลาดซื้อ ช่วยให้ปลอดภัย

“ไบโอไทย” แนะกินอาหารจากธรรมชาติตามฤดูกาล ช่วยให้หุ่นดี และไม่เป็นโรค เนื่องจากมีสารอาหารครบ ดีกว่ากินจังก์ฟู้ดส์ หรืออาหารถุง
กิ่งกร นรินทรกูล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวในงานมหกรรมสุขภาพและวิถีไทย ครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านมาว่า ลักษณะของการกินการอยู่สมัยใหม่ ทำลายต้นทุนความรู้ที่คนในสมัยโบราณมีอยู่กับตัว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ซื้อกินอาหารนอกบ้านกิน จึงขาดความรู้ในเรื่องคุณค่าทางอาหารในแกง 1 ถ้วยว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งต่างจากคนสมัยก่อน ที่รู้ว่าแกง 1 ถ้วย ที่มีหมู กะทิ ขมิ้น ตะไคร้ กระชาย ล้วนมีคุณค่าทางสารอาหารที่ต่างกัน เช่น พริกมีวิตามินซีสูง ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้ และกระเพาะอาหาร เพื่อให้ดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วยร่างกายขับถ่ายของเสีย และนำธาตุอาหารไปยังเนื้อเยื่อของร่างกาย ส่วนขมิ้น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการแสบคัน แก้หิว แก้กระหาย

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารในยุคปัจจุบัน ควรเลือกกินอาหารจากธรรมชาติ สอดคล้องกับฤดูกาล เพราะนอกจากจะได้ความหลากหลายของสารอาหารแล้ว ก็ยังช่วยในเรื่องของการรักษาโรคและช่วยให้รูปร่างดีอีกด้วย “เมื่อไม่รู้ที่มาของสิ่งที่เรากิน เราก็ไม่สามารถเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสมได้ และยิ่งพึ่งพาอาหารนอกบ้าน ก็จะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของอาหารถุงหรือที่จำหน่ายตามร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อได้ จึงมีความเสี่ยงสูงที่อาหารเหล่านั้นจะปนเปื้อนสารเคมี” รอง ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

โดยข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้ชี้ให้เห็นว่า กว่าที่คะน้าต้นหนึ่งจะโตให้กินได้ ต้องผ่านการฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ย 15-20 ครั้ง และพบว่ามีการใช้สารเคมี มากที่สุดถึง 36 ครั้ง/การเพาะปลูก 45 วัน

ดังนั้นแม้จะมีหลากหลายวิธีที่ช่วยลดสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้สด อย่าง การแช่ผักในน้ำอุ่น 20 ลิตร ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือผงฟู /เบคกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ เป็นเวลา 15 นาที ลดปริมาณสารพิษได้ 80-95% หรือด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการเด็ดผักเป็นใบ แล้วล้างในน้ำไหลผ่าน ช่วยลดปริมาณสารพิษได้ 54-63% และการแช่ผักในน้ำ 4 ลิตร ผสมเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ นาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดซ้ำ ช่วยลดปริมาณสารพิษได้ 27-38% ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ได้มีความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนของสารเคมีที่ตกค้าง

ขณะที่นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมในเรื่องเดียวกันนี้ว่า อาหารอีกประเภทหนึ่งที่ผู้บริโภคนิยมนอกเหนือจากอาหารสด ก็คือ อาหารสำเร็จรูป แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สนใจอ่านฉลากก่อนซื้อเพื่อทำความเข้าใจ

ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักและใส่ใจก่อนที่จะเลือกซื้ออาหารทุกครั้ง คือ ควรดู 5 จุดหลักบนฉลาก จุดแรกได้แก่ ชื่ออาหาร เช่น น้ำรสองุ่นขาว แสดงว่าเป็นเครื่องดื่มปรุงรส ไม่ได้ใช้ผลไม้ธรรมชาติ จุดที่สอง เป็นส่วนประกอบว่ามีอะไรบ้าง จุดที่สาม ดูวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ จุดที่สี่ ไม่ควรมองข้ามคำเตือนต่างๆ เช่น เด็กและหญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน และจุดสุดท้าย ควรดูข้อมูลโภชนาการกับหน่วยบริโภค เพราะสินค้าบางอย่างมีปริมาณ มากกว่า 1 หน่วยบริโภค จะได้เลือกรับประทาน ในปริมาณที่เหมาะสม

ที่มา : คม ชัด ลึก 30 ก.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง