ภาคปชช. ชี้ระบบอาหารไทยเข้าขั้นวิกฤติ!!

วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้แคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก:บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรยั่งยืน

(ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ บทเรียนการทำงานของแต่ละประเทศในประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปมากกว่าร้อยละ70 ของรายจ่ายค่าอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่สามารถรู้แหล่งผลิตได้เลยว่าขั้นตอนการทำเป็นเช่นไร ซึ่งวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่แบ่งเป็น 3 แหล่ง คือ

1.เกษตรกรรายย่อยนับวันจะหายไปจากระบบ เพราะเอาตัวไม่รอด กำไรหดหาย 2.ระบบการผลิต ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองทำให้คนไทยมีวิถีการกินอยู่ที่น้อยลง หันไปพึ่งอาหารแช่แข็งมากขึ้น 3.วิกฤตผู้บริโภค ประสบปัญหาไม่มีทางเลือกในการกิน จากระบบผูกขาดของบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคขาดความรู้ในการเลือกอาหาร ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีฉลากระบุในบรรจุภัณฑ์ แต่พบว่า ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารปนเปื้อนที่มีอันตรายต่อร่างกายได้

“สิ่งที่ควรทำคือต้องจัดการอาหารทั้งระบบ โดยผู้บริโภคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม พัฒนาวิจัย จัดตั้งระบบสหกรณ์รายย่อย ควบคุมสารเคมีที่ต้นทาง นอกจากนี้ควรมีการควบคุมการดำเนินงานกิจการธุรกิจทางการเกษตร ให้เกษตรกรรายย่อยลุกขึ้นมามีบทบาท และรัฐบาลควรสร้างตลาดขนาดเล็ก ตลาดทางเลือกให้เกษตรกรเข้ามามีพื้นที่ ขณะเดียวกันกฎหมายเกี่ยวกับอาหารควรเข้มงวดมากขึ้นเพราะที่ผ่านมี แม้จะมีกฎหมายแต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ และคณะกรรมการยังละเลยไม่ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง” นางสาวกิ่งกร กล่าว

ด้านนางสาวฮูซนา ซาฮีร์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย (Yayasan Lembaga Konsumen Indonesia, YLKI) กล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะมีแหล่งทรัพยากรที่เพียงพอ และข้าวเป็นอาหารหลัก แต่กว่า 50% ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน รวมถึงอาหารอื่นๆ และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลแม้จะสนับสนุนให้ปลูกข้าว แต่ไม่ได้จริงจังในเรื่องการผลิตและส่งออก อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี ทำให้สิ้นเปลือง เกิดหนี้สิน และส่งผลเสียต่อผลผลิต เกษตรกรจึงเริ่มมองหาพืชพื้นบ้านเพื่อนำมาทดแทน เช่น ปลูกข้าวฟ่าง ข้าวโพด และประสบความสำเร็จแค่เพียงระดับท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรยกระดับอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ และศึกษาพัฒนางานวิจัยใหม่ๆให้เข้ามาตอบโจทย์เกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ จัดอบรมให้ความรู้กับผู้บริโภคดังคำขวัญของประเทศคือ“กินอาหารท้องถิ่น รักษาเกษตรกรท้องถิ่น”

นางสาวหัทธิยา ฮาสซิม นักวิจัยจากสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย (Consumer Association of Penang) กล่าวว่า มาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารจำนวนมากแต่กลไกการผลิตนั้นอาจมีการปนเปื้อนและมีสารเคมีตกค้าง โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ ที่ผ่านมาชมรมผู้บริโภคปีนัง พยายามแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคที่มีมานานกว่า 30ปีแล้ว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องวัตถุดิบ สารปนเปื้อน การห้ามนำเข้า เช่น สารเร่งเนื้อสัตว์ที่ทำให้โตไว ซึ่งมีเข้ามาและเปลี่ยนชนิดเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้กฎหมายเกิดความหละหลวมไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้

นางสาวเจนนิเฟอร์ กุสต์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภคประเทศฟิลิปปินส์ (IBON Foundation) กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังท้าทายวิกฤติอาหารของฟิลิปปินส์คือการมีโฆษณาชวนเชื่อ ส่งเสริมการแปรรูปอาหารและมีทุนในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เกิดการขาดแคลน ขาดดุลทางอาหารเพราะมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก รัฐบาลมีนโยบายเปิดการค้าเสรี จึงทำให้เกิดแหล่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น ประชากรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีราคาถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การค้าข้าวมีการผูกขาด ซื้อถูกขายแพง เกิดการกักตุน ลักลอบรอบนำเข้าโดยไม่จ่ายภาษี นอกจากนี้ในเรื่องของการผลิตข้าวโพดที่ปรับแต่งพันธุกรรม (GMO) ก็มีผลกระทบต่อเกษตรกร ล่าสุดล้มละลายถึง 10%ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด อีกทั้งส่งผลให้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้สารเคมี

“อยากให้เกิดบทบาทของภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่งเสริมผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น เพราะอย่าลืมว่าผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ สนใจอาหารออแกนิกส์เพราะตระหนักได้ถึงความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเราพยายามต่อสู้หันมาทำเกษตรทางเลือก พยายามล็อบบี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีใบรับรอง มีกฎหมายที่สนับสนุนทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ” นางสาวเจนนิเฟอร์ กล่าว
นางสาวอลิซ ฟาม นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศเวียดนาม (CUTS Internation) กล่าวว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศยากจน และประเทศที่ผลิตข้าวกว่า 73% มีการส่งออกข้าว 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งรองจากประเทศไทย ทั้งนี้ยอมรับว่าเทคโนโลยีในการผลิตข้าวยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเวียดนามยังประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ฝนแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง การแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใหม่ๆ ไม่พึ่งพาข้าวอย่างเดียว และเกษตรกรต้องได้ตัดสินใจว่าจะปลูกพืชอะไร ไม่ถูกชี้นำจากรัฐบาล

นายซิว ก๊ก เซียง ผู้วิจัยจากสมาคมผู้บริโภค ประเทศสิงคโปร์ (Consumer Association of Singapore, CASE) กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ทำการเกษตรค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ 90% นำเข้าจากต่างประเทศ โดยหน่วยงาน ABA ด้านการเกษตรและปศุสัตว์จัดทำหน้าที่เชื่อมโยงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการประเมินสารปนเปื้อนตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้บริโภคมีความเสี่ยง นอกจากเรายังพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกทั้งเรื่องราคาและคุณภาพของอาหาร

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 25 ก.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผยสมุนไพรไทยในป่าวิกฤติใกล้สูญพันธุ์จากเหตุบุกรุกป่า

admin 2 เมษายน 2019

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2555) ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 219 อาค […]