ชาเรือด ไม่ใช่เมนูชานม นะ

ชื่อต้นไม้ยาหรือสมุนไพรมีชื่อแปลก ๆ และอยู่ในชื่อตำรับยาที่มีความแปลกอีกด้วย ดังเช่นในช่วงระบาดโควิด-19 ในวงการยาแผนไทยก็มีชื่อ ตำรับยาขาว เป็นหนึ่งในตำรับยาที่ใช้เกี่ยวกับอาการโควิด-19

เมื่อมาพิจารณาดู ตำรับยาขาว ซึ่งประกอบด้วย “กระเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากสมเส็ด รากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากย่านาง รากฟักข้าว รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ บดทำแท่ง เอาไว้ละลายน้ำซาวข้าว”

ในเอกสารหลายแหล่งมีการบันทึกเกี่ยวกับ ยาขาว ไว้ว่าส่วนของ รากชา เป็น รากชาเรือด หากศึกษาในทางพฤกษศาสตร์ก็พบว่า สมุนไพรที่อยู่ในประเทศไทยมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า “ชาเรือด” มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ 1) ชาเรือดที่มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hultholia mimosoides (Lam.) Gagnon & G.P.Lewis และ 2) ชาเรือดชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premna serratifolia L. ซึ่งชนิดนี้มีชื่อทางราชการว่า สามประงา

ชาเรือด หรือ บางที่เรียก ช้าเรือด เดิมทีได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia mimosoides Lam. ซึ่งจากฐานข้อมูลสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Kew Garden) ได้รายงานไว้ว่า Caesalpinia mimosoides Lam. เป็นชื่อพ้องของ Hultholia mimosoides (Lam.) Gagnon & G.P.Lewis (ซึ่งใช้เรียกชื่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน) โดย ชาเรือดมีถิ่นกำเนิดในแคว้นอัสสัม อินเดีย บังคลาเทศ ยูนนาน (ตอนใต้ของจีน) ลาว เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ชาเรือดมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ช้าเรือด (ทั่วไป) ทะเน้าซอง ผักปู่ย่า หนามปู่ย่า (ภาคเหนือ) ผักกาดหญ้า (ปราจีนบุรี) ผักขะยา (นครพนม) ผักคายา (เลย) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Mimosa Thorn

ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย มีขนและหนามทั่วทั้งต้น ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อใบย่อย 10-30 คู่ ใบย่อย 10-20 คู่ รูปขอบขนาน ดอก ช่อ กลีบดอกสีเหลือง ผล ฝักรูปร่างคล้ายกระเพาะ สภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และบริเวณชายป่า ถ้าใครเดินป่าที่มีต้นชาเรือดอยู่จะรู้ได้ทันทีก่อนเห็นต้น เพราะจะมีกลิ่นเฉพาะตัวล่องลอยมาให้สัมผัสได้ (แต่อธิบายกลิ่นไม่ได้) สิ่งนี้เป็นความกรุณาของธรรมชาติที่ส่งสัญญาณให้รู้ตัวว่ากำลังเข้าใกล้อันตรายในบริเวณนี้ เพราะต้นชาเรือดมีหนามละเอียดแหลมคมมาก ถ้าใครพลั้งเผลอเข้าใกล้ไปโดนหนามแล้วล่ะก็ได้แผลมาทีเดียว

แม้หนามจะคมอย่างไรก็ตาม คนภาคเหนือและภาคอีสานนิยมนำมาปรุงอาหารโดยเฉพาะฤดูฝนที่ต้นแตกใบแตกยอด ก็มีวิธีเก็บเอาช่อดอกและยอดอ่อนไม่ให้โดนหนามแหลม นำมากินสดกับซุปหน่อไม้หรือนำมาประกอบอาหารได้เอร็ดอร่อย การใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร นำยอดอ่อนเคี้ยวกินสดๆ แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด และใช้บำรุงเลือด และด้วยหนามแหลมจึงมีผู้นำมาปลูกเป็นแนวรั้วได้ นอกจากนี้พบงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศในปี ค.ศ. 2010 ที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนของรากชาเรือด มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี

ชาเรือดอีกชนิดหนึ่ง คือ Premna serratifolia L. ที่มีชื่อทางการว่า สามประงา เป็นพืชที่ขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เค็ดน้ำมัน อัคคีทวารทะเล (ภาคใต้) ช้าเลือด (ตราด) มันไก่ (ลำปาง) สามประงา สามประงาใบ (ประจวบคีรีขันธ์) มีชื่อสามัญว่า Headache tree เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยในวงศ์ผกากรอง (Verbenaceae) ลำต้นขาวอมเทา ผิวเรียบ ลำต้นอ่อนสีน้ำตาล มีจุดสีขาวเล็กน้อย ใบเดี่ยว เหนียว ไม่ลื่นมือ ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยสีขาวอมเขียว ผลเดี่ยว กลม เมื่ออ่อนสีเขียว สุกมีสีดำ มีเมล็ดแข็งเพียงอันเดียว ผิวเรียบเป็นมัน ใบใช้ห้ามเลือด

ในต่างประเทศนำใบมากินเป็นผัก มีรสเปรี้ยว เด็ก ๆ นิยมนำเมล็ดมากินเล่น ชนพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกนิยมนำผลสุกมาทำเป็นแยมกิน สำหรับสรรพคุณในตำรับยาไทย นำมาแก้พยาธิ แก้กร่อน แก้เส้นตึงเป็นเถาดาน โดยนำใบสด มาขยี้หรือบดให้ละเอียดแล้วนำมาห่อด้วยผ้า ใช้พอกที่ท้อง 1 คืน แล้วนำรากไปต้มกิน เช้า-เย็น ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการนำเอาใบและรากของสามประงา (ช้าเรือด) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับน้ำนม ลดอาการปวดท้องและลดไข้ หมอพื้นบ้านในเวียดนามใช้เป็นยาลดไข้ แก้เด็กร้อง 3 เดือน (colic) แก้บิด ท้องเสีย ขัดเบา ท้องอืด อาหารไม่ย่อยและไขข้ออักเสบ

ภูมิปัญญาของอินเดียจัดให้รากซึ่งมีรสขม ทำให้อบอุ่นและมีกลิ่นที่พึงใจ ปรุงเป็นยาต้มใช้เป็นยาขับลมและแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ในปาปัวนิวกินีใช้ใบเข้าตำรับยาขับน้ำนมและรักษาอาการไขข้ออักเสบ ไอ ปวดหัว ท้องอืด นอกนี้ยังมีภูมิปัญญาใช้ใบสามประงา (ช้าเรือด) ไปเข้ายากับใบยอป่า (Morinda citrifolia) ขยำกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง แก้ไข้มาลาเรียที่มีอาการรุนแรง ใช้ใบและกิ่งอ่อนต้มกับน้ำให้เดือดให้สูดไอและใช้อาบเพื่อลดไข้ ในเกาะกวม(เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก) นำใบมาต้มดื่มเป็นชาสมุนไพร แก้ปวดเมื่อย ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านรักษาอาการปวดหลัง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามใช้เปลือกต้นต้มเป็นชาดื่ม เพื่อใช้รักษาอาการระบบประสาทผิดปกติ และที่น่าสนใจในเวียดนามมีการเก็บใบและรากไว้ตลอดปี นำมาล้างให้สะอาดผึ่งแดดหรืออบให้แห้งเพื่อส่งขายไปทั่ว

ชาเรือดทั้ง 2 ชนิดมีศักยภาพในการเข้าตำรับแก้ไข้ แต่ชาเรือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Hultholia mimosoides (Lam.) Gagnon & G.P.Lewis มีหลักฐานที่ใช้ในการต้านการอักเสบด้วย ดังนั้นการพัฒนาตำรับยาขาว ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจใช้กับอาการโควิด-19 ควรเร่งศึกษาว่าสมุนไพร 2 ต้นนี้ควรใช้ต้นไหนประกอบอยู่ในตำรับยาขาวดีกว่ากัน