ตรีผลา:ยาแก้โรคร้อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นับแต่วันแรกที่ละครทีวี “นายทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ออนแอร์ปรากฏว่าเรทติ้งคนดูพุ่งแรงแซงหนังทีวีทุกเรื่องมาจนถึงวันนี้ ทำเอาบรรดาแพทย์แผนไทยทั่วราชอาณาจักรสยามหัวใจพองโตไปตามๆกัน เพราะดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกของจอแก้วที่ตัวพระเอกรับบทเป็นหมอแผนไทย แถมดาราคู่พระคู่นางก็เป็นซุปสตาร์ลูกครึ่งระดับท็อปวัน จึงสร้างเทรนด์แผนไทยไปอินเตอร์อีกต่างหาก ที่สำคัญช่วยลบภาพผิดเก่าๆ ที่คนมักเข้าใจว่าหมอไทยคือหมอนวดอย่างเดียว ไม่นึกว่าจะเป็นหมอยาเทวดาหน้าตาหล่อเหลาแบบนี้

ว่ากันถึงอัตลักษณ์ของยาไทยไม่เหมือนยาฝรั่งก็ตรงที่ยาไทยเป็นยากินตามธาตุ ตามวัย และตามฤดูกาล ถ้าถามว่าฤดูนี้ควรกินยาอะไร ก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ทันทีว่า ต้องกินยาชื่อ “ตรีผลา” ซึ่งหมอแผนโบราณท่านรู้ดีว่า “ตรีผลาเป็นพิกัดยาในคิมหันตฤดู” พูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือเป็นยาสามัญประจำฤดูร้อนนั่นเอง ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักยาตรีผลา แม้แต่ฝรั่งมังค่าที่นิยมยาไทย ก็ยังมีสำนวนติดปากว่า “นึกยาอะไรไม่ออก ก็บอกให้ใช้ตรีผลาไว้ก่อน” (When in doubt ,use Triphala)

ในคอลัมน์นี้ก็เคยเขียนถึงพิกัด(กลุ่ม)ยาผลไม้พื้นบ้าน 3 อย่างนี้ไว้บ้างแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นพิกัดยาโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ดูจากชื่อผลไม้ที่นำมาประกอบยา ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ล้วนแต่เป็นชื่อสมุนไพรในพุทธประวัติ ที่พระท่านใช้ขบเคี้ยวเป็นยารักษาสุขภาพได้หลังเพล แต่ที่ยังไม่ใคร่รู้กันก็คือตรีผลาเป็นยาสำหรับแก้โรคหน้าร้อน ไม่ว่าจะใช้เป็นพิกัดยาสมุนไพรเฉพาะ 3 ชนิดนี้ หรือจะนำพิกัดตรีผลาไปเป็นส่วนหนึ่งของตำรับยาใหญ่ชุดอื่น ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาแก้ไข้เด็ก ยาบำรุงโลหิตสตรี ยารักษาโรคหอบอันเกิดจากน้ำเหลืองเสียและเสมหะกำเริบ รวมทั้งโรคอุจจาระธาตุต่างๆ ด้วย เป็นต้น

ในหน้าร้อนอ่อนเพลียอย่างนี้ จึงขอแนะนำย้ำกันอีกครั้งให้รับประทานตรีผลาเป็นยาเย็นที่มีสรรพคุณคลายร้อน บำรุงร่างกายไปพร้อมๆ กัน และยังช่วยรักษาท้องไส้ให้ปลอดภัยจากโรคทางเดินอาหารที่มากับหน้าร้อนอีกด้วย เคล็ดลับของการปรุงตำรับยาตรีผลาให้ได้ฤทธิ์ยาดีตรงตามพระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัดที่มีมาแต่โบราณ ก็คือ ต้องใช้เนื้อผลที่แก่จัดของผลไม้ยาทั้ง 3 ชนิด ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ ดังนี้ คือ สมอไทย(Terminalia chebula Retz.) สมอพิเภก(Terminalia bellirica Roxb.)และ มะขามป้อม(Phyllanthus emblica L.) ทำไมต้องใช้ผลสมอไทยแก่ เพราะเนื้อผลแก่ไม่มีรสเปรี้ยวเพียงรสเดียวเหมือนผลอ่อน แต่มีรสฝาดแทรก เจือขมเล็กน้อย จึงมิใช่มีแต่ฤทธิ์ระบายถ่ายอย่างเดียว แต่มีฤทธิ์พิเศษที่หมอทองเอกแห่งท่าโฉลงน่าจะทราบดี คือ ฤทธิ์ “คุมธาตุ รู้เปิด รู้ปิดเอง”

คุมธาตุ ในที่นี้หมายถึงคุมอุจจาระธาตุ  รู้เปิดหมายถึงมีฤทธิ์ช่วยระบายเวลาท้องผูก ส่วนรู้ปิด หมายถึงมีฤทธิ์หยุดระบายได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อท้องร่วงเป็นกลไกป้องกันร่างกายเสียน้ำมากเกินไป นอกจากนี้ยังแก้ลมป่วงที่เกิดจากท้องร่วงอย่างแรง และแก้อาเจียน แต่ที่สำคัญคือ รสผลแก่ ช่วยถ่ายพิษไข้ ระบายพิษร้อนภายในอันเกิดจากดีพลุ่ง แก้ปิตตะ(ดี)พิการ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้หืดไอ และบำรุงร่างกาย ยิ่งถ้าเอาผลสมอไทยแก่ดองฉี่วัว ใช้ดื่มแก้ปวดเมื่อย ตามเนื้อตัว ตามข้อ แก้อ่อนเพลียได้ดีนัก เช่นกัน

ทำไมต้องใช้ผลสมอพิเภกแก่ เพราะเนื้อผลแก่มีทั้ง 3 รส คือ เปรี้ยว ฝาด สุขุม ซึ่งไม่เพียงแก้เสมหะจุกคอ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้คอแห้งผากยามร้อนบรรลัยเท่านั้น แต่ยังช่วยบำรุงธาตุสี่ แก้ไข้ ส่วนผลมะขามป้อมแก่นั้นก็มีทั้ง 4 รส คือ มีรสเปรี้ยวฝาดนำ และรสขมเจือเผ็ดตาม นอกจากช่วยระบาย ทำให้ชุ่มคอแล้ว ยังช่วยขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ร้อนในแก้ลมวิงเวียน และบำรุงหัวใจ มีฤทธิ์ใหม่ของมะขามป้อมที่พบจากการวิจัยในหนูทดลองคือ ช่วยลดพิษสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ต่อตับและไต ซึ่งอินเทรนด์กับการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นจิ๋ว 2.5 ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วย (ฮา)

ดังนั้น เนื้อผลไม้ยาทั้ง 3 อย่างดังกล่าว เมื่อประกอบเข้าเป็นพิกัดยาตรีผลา จึงมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคร้อน และสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่มากับหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์ยาตรีผลาออกมาแพร่หลายเป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบยาแคปซูล ยาเม็ด และยาน้ำ รวมทั้งเครื่องดื่ม จึงไม่ยากที่ผู้นิยมสมุนไพรไทยจะแสวงหามาไว้เป็นยาสามัญใกล้ตัวสำหรับเยียวยาสุขภาพในยามหน้าร้อนอย่างนี้  หากท่านมีเวลาสำหรับสุขภาพของตัวเองแล้วไซร้ ในระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคมนี้ หมอทองเอกแห่งท่าโฉลงฝากประชาสัมพันธ์ให้ไปเที่ยวงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และถ้าร่วมเปิดงานกับ รมต.กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเช้าวันพุธที่  6 มีนาคม ท่านจะได้สัมผัสกับหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 ตัวเป็นๆ คือ พ่อหมอเสริฐ ขาวอรุณ หมอพ่อพระแห่งหลังสวน จังหวัดชุมพร แล้วท่านจะได้เรียนรู้ว่า หมอแผนไทยเก่งๆ อย่างหมอทองเอก ยังมีอยู่ทั่วราชอาณาจักรไทยแลนด์ 4.0